สภาถกนิรโทษ "โรม" จี้เปิดกว้างอ้าง 112 จนท.แกล้ง ภท.ไม่คล้อยตาม ดึงสติอย่าเอาบางกรณีทำตกขบวนหมดแบบสุดซอย
สภาฯ ลุยถกร่างกม.ล้างผิดการเมือง “โรม” แจงต้องเปิดกว้างนิรโทษ-ไม่เลือกปฏิบัติ ชี้คนโดน 112 ถูกจนท.รัฐกลั่นแกล้ง วอนทบทวนโหวตต่ำ ประเมินทางออกของสังคมไทย ภท.ย้ำไม่หนุนเหตุสังคมไม่เอาด้วย หวั่นชุมนุม เตือนสติอย่าเอาบางกรณีพัวพันทำให้ทุกกรณีต้องตกขบวน เหมือนตอนสุดซอย
วันนี้ (9ก.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้เข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข และร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมี สส.และภาคประชาชนเสนอรวม 5 ฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. เสนอโดย นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. เสนอโดย นายปรีดา บุญเพลิง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคกล้าธรรม ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. เสนอโดย พรรคประชาชน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …. เสนอโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน และ ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. เสนอโดย นายอนุทิน ชาญวีรกุล สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นฉบับที่เสนอเข้ามาใหม่และยังไม่ได้บรรจุในระเบียบวาระ แต่ประธานในที่ประชุมอนุญาติให้นำมาพิจารณาในคราวเดียวกันได้
ทั้งนี้ในการอภิปรายเสนอร่างกฎหมาย ตอนหนึ่งของนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า การนิรโทษกรรมจำเป็นต้องเปิดกว้างให้มากที่สุด และไม่ต้องการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นในร่างกฎหมายของพรรคประชาชนจึงไม่ได้กำหนดฐานความผิดหรือคดีตามมาตราใด ขณะที่ช่วงเวลาไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุดเพราะที่ผ่านมามีการใช้นิติสงครามเล่นงานประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง และใช้เครื่องมือกฎหมายหลายรูปแบบตั้งแต่ที่รุนแรงที่สุดคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงกฎหมายความสะอาด หรือการไม่พกบัตรปรระชาชน กลั่นแกล้งประชาชนที่เห็นต่าง สิ่งที่พรรคประชาชนต้องการสะท้อน คือ การนิรโทษกรรมการเมืองจะสำเร็จได้ หรือใครจะได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง สิ่งสำคัญคือบรรยากาศการเมือง ที่สามารถพูดคุยเจรจาของฝ่ายต่างๆ ได้
“คนที่โดนคดี 112 นั้น พบว่าการตั้งข้อหาหลายครั้ง เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้ดูข้อเท็จจริงและรายละเอียด ไม่ดูพยานหลักฐาน ไม่ได้ให้ความเป็นธรรม ทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่อยๆ ยอมรับว่าเนื้อหาของร่างกฎหมายที่เสนอเป็นทที่ไม่สบายใจของ สส.และหลายฝ่าย แม้จะเขียนกว้างๆ และไม่ได้ระบุว่า มีกฎหมายใดบ้างที่ได้นิรโทษกรรม แต่หลายฝ่ายพยายามบอกว่า หากรวมมาตรา112 และไม่โหวตให้ ผมมองว่าหากติดกรอบแบบนี้ สังคมจะคลี่คลายความขัดแย้งได้จริงหรือไม่ ซึ่งผมขอให้ทบทวน เพราะเชื่อว่าจะเป็นทางออกให้สังคมไทย” นายรังสิมันต์ อภิปราย
นายรังสิมันต์ อภิปรายต่อว่าในกลไกของร่างกฎหมาย ได้กำหนดให้มีกรรมการกลางที่ประกอบด้วย ตัวแทนจากศาล รัฐสภา และรัฐบาล เพื่อพิจารณาว่าคดีใดที่เข้าข่ายการนิรโทษกรรมบ้าง ดังนั้นขอให้สบายใจว่าหากร่างกฎหมายของพรรคประชาชนผ่าน ไม่ใช่ว่าพรรคจะกำหนดว่าใครจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ แต่เป็นเรื่องกรรมการพิจารณา และตนมองว่าจุดนี้คือความเป็นธรรม
ขณะที่นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เสนอเนื้อหาของร่างกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย ตอนหนึ่งว่า ฉบับของพรรคภูมิใจไทย มีเนื้อหาตรงกับฉบับของนายวิชัย และนายปรีดา โดยหลักใหญ่นิรโทษกรรมผู้ที่กระทำผิดจากการชุมนุมทางการเมือง เว้นไม่นิรโทษกรรมให้ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มทำผิดมาตรา 112 กลุ่มทำผิดคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีอาญาร้ายแรงถึงชีวิต และกลุ่มที่ก่อความเสียหายให้กับเอกชน แต่สิ่งที่แตกต่างคือ คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม จะไม่มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะกลุ่มคนการเมือง หนีไม่พ้นเกิดอคติหรือเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด และมีเพียงคนในกระบวนการของศาลยุติธรรม ซึ่งต่างจากฉบับของนายวิชัยและนายปรีดา ที่กำหนดให้มีตัวแทนของฝ่ายการเมือง คือ รัฐบาล สส. และสว. ร่วมพิจารณา
“พรรคภูมิใจไทย แสดงจุดยืนว่าคนที่ละเมิดหรือทำผิด มาตรา 112 ไม่สามารถนิรโทษกรรมให้ได้ หากนิรโทษกรรมให้กลุ่มนี้อาจทำให้เกิดปัญหาใหม่ มีการชุมนุมเรียกร้องไม่จบหรือไม่ ทั้งนี้การตั้งหลักของพรรคคือ หากนิรโทษกรรมไม่ได้ทั้งหมด ต้องมีบางส่วนที่ได้รับประโยชน์ จำเป็นต้องตัดบางส่วนจากสมการ เพราะสังคมมีความเห็นต่างจำนวนมาก ซึ่งไม่รู้ว่าฝ่ายไหนมากกว่า แต่สิ่งที่เรียนรู้จากทฤษฎีดอกไม้หลากสี สังคมประชาธิปไตยไม่สามารถทำให้ทุกคนคิดเห็นได้เหมือนกัน จึงเป็นเหตุผลที่ถึงเวลาแล้วต้องคืนความยุติธรรมให้คนส่วนหนึ่งในกระบวนการชุมนุม และถึงเวลาหันหน้าหากันเริ่มสร้างสันติสุข ตั้งแต่พ.ร.บ.บังคับใช้ แต่ผมเข้าใจดีของกลุ่มคนที่ไม่ได้รับอานิสงส์ แต่เมื่อสังคมพูดคุยและคนเหล่านั้นสำนึกผิดต่อการกระทำ สังคมและสภาฯพร้อมกลับมาพิจารณา ต้องรอความพร้อมในบางกรณี อย่าทำให้บางกรณีพัวพันให้ทุกกรณีต้องตกขบวน เหมือนกรณีของนิรโทษกรรมสุดซอยที่สังคมรับไม่ได้ เพราะหากดันไป อาจไม่ได้รับการนิรโทษกรรมสักคนเดียว” นายภราดร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับสาระสำคัญของกลุ่มร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมทางการเมืองนั้น พบว่า เนื้อหามีความคล้ายกัน คือ การนิรโทษกรรมทางการเมือง โดยให้มีกรรมการกลางขึ้นมาพิจารณาบุคคลที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม สำหรับคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมนั้นมีความต่างและแยกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฉบับที่เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคกล้าธรรม พรรคคภูมิใจไทย ได้กำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนคือ ไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ขณะที่ฉบับของพรรคประชาชนและฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน รวมการนิรโทษกรรมคดี 112 ไว้ด้วย
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO