4 ความท้าทายเศรษฐกิจไทย แขวนอยู่บนเส้นด้าย "ภาษีทรัมป์" 36%
วันนี้ (17 กรกฎาคม 2568) ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยบทความพิเศษเรื่อง ความท้าทายโค้งสุดท้ายเจรจาภาษีทรัมป์ 36% ว่า ประเทศไทยถูกมาตรการภาษีโต้ตอบขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ (Reciprocal Tariffs) หลังจากพ้นกำหนด 90 วัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ส่งจดหมายเรียกเก็บภาษีนำเข้า 36% หากไม่นับลาว เมียนมา กัมพูชา เป็นอัตราภาษีที่สูงที่สุดในอาเซียน
ขณะที่เวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญถูกเก็บภาษีอัตรา 20% (ยังไม่ชัดเจนว่าภาษีแท้จริงเท่าใด) โดยภาษีอัตราใหม่จะมีผลบังคับวันที่ 1 สิงหาคม ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ทีมเจรจาที่เรียกว่า “Thailand Team” กล่าวว่าอัตราภาษีออกมาก่อนข้อมูลและความจำนงของไทยที่ส่งไปตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
โดยระบุว่า มีการกลับมาทบทวนและจะมีการปรับปรุงอัตราภาษีที่ไทยถูกเรียกเก็บ ถือเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงและมีความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นตามมา กระทรวงการต่างประเทศไทย ได้มีการหารือกับนายมาร์โก แอนโทนีโอ รูบิโอ รมว.กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ โดยทางสหรัฐฯ ระบุว่าการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้อัตราภาษี 36% ต่อไทยไม่ได้เป็นสิ่งตายตัว แม้ว่าจะผ่านเส้นตายที่กำหนด โดยสหรัฐฯ พร้อมเจรจาต่อรองแก้ไขขึ้นกับผลของการเจรจาและข้อเสนอของไทย
สำหรับข้อเสนอของไทยที่อยู่ระหว่างการเตรียมการยื่นให้กับสหรัฐอเมริการอบ 2 อาจมีการลดภาษี “อัตราภาษี 0” สำหรับสินค้านำเข้าสหรัฐฯ บางประเภท พร้อมทั้งข้อเสนอการซื้อสินค้าและการลงทุนเพื่อให้สหรัฐอเมริกาปรับลดภาษี ความท้าทายคือ
ประการแรก
“อัตราภาษี 0%” มีแนวโน้มที่ไทยจะเสนอครอบคลุมสินค้าประมาณ 90% รวมถึงสินค้าเกษตร เช่น เนื้อหมู-เนื้อวัว ไก่เนื้อ ที่จะใช้กับการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาจะไม่กระทบกับผู้ผลิตภายในประเทศโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม-ปศุสัตว์ จากข้อมูลสินค้านำเข้าสหรัฐฯ เชิงมูลค่า (USD) ปีที่ผ่านมาประเภทเชื้อเพลิง-แก็ส สัดส่วนร้อยละ 26.52
ประเภทวัตถุดิบสัดส่วนร้อยละ 29.7 สินค้าประเภทเครื่องจักร สัดส่วนร้อยละ 23.77 ยานพาหนะร้อยละ 4.7 เครื่องบินร้อยละ 3.6 อาวุธยุทโธปกรณ์ร้อยละ 4.5
โดยเป็นสินค้าอุปโภค-บริโภคซึ่งจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประเภท SMEs สัดส่วนร้อยละ 7.1 ด้านการนำเข้าสินค้าเกษตรเกี่ยวข้องเกษตรกรกว่า 2 ล้านครัวเรือนอาจทำให้อาชีพเลี้ยงหมูและเลี้ยงไก่ล่มสลายมีการคัดค้านไม่ควรเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ
ประการที่สอง
การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา นอกจากประเด็นมี “อัตราภาษี 0” โดยหวังว่าจะทำให้การนำเข้าสูงขึ้นเพื่อลดการขาดดุลการค้าจำเป็นต้องนำปัจจัย เช่น ประเทศคู่ค้านำเข้า (หลัก) ของไทย เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ซึ่งมีข้อตกลง FTA ได้รับการยกเว้นภาษีขาเข้าและสินค้าของประเทศเหล่านี้ถูกกว่าของสหรัฐฯ รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่ซ่อนเร้นว่ามีอะไรบ้าง เช่น การให้สหรัฐฯ ใช้ฐานทัพเรือที่ทับละมุ จ.พังงา ซึ่งอาจกระทบความสัมพันธ์กับประทศจีน
ประการที่สาม
ค่าขนส่งสินค้าทางเรือหรือ “Freight Charge” จากสหรัฐฯ มาไทยค่อนข้างสูงกว่า ยกตัวอย่างอัตราค่าระวางเรือตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟิต จากท่าเรือลอสแองเจลิส (LA Port) เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2568 ราคาตู้ละ 638 USD/TEU เป็นราคาที่ต่ำเมื่อเทียบกับส่งออกราคา 5,500 USD/TEU ราคาค่าระวางเรือจากสหรัฐฯเมื่อเทียบกับราคาค่าขนส่งจากท่าเรือเซียงไฮ้อัตราตู้ละ 100 USD/TEU, ท่าเรือโตเกียว 350 USD/TEU, ท่าเรือโฮจิมินห์ (เวียดนาม) 80 USD/TEU
หากเป็นตู้เย็น (Reefer Container) กรณีขนส่งหมูแช่แข็งราคาพุ่งสูงถึงตู้ละ 4,300 USD/TEU จะเห็นได้ว่าสินค้าสหรัฐฯ จะเข้ามาแข่งขันในตลาดไทยคงไม่ง่าย กรณีนี้ทีมเจรจาของไทยหากไปสัญญาว่าจะลดการขาดดุลได้ในปีใด เช่น ภายใน 6 ปีดุลการค้าไทย-สหรัฐฯ จะสมดุลกันคงต้องระบุข้อแม้ว่าขึ้นอยู่กับราคาต้องแข่งขันเสรี
ประการที่สี่
ประเด็นที่สหรัฐฯ กังวลคือการสวมสิทธิสินค้าโดยใช้ถิ่นกำเนิดของไทยที่ ประธานาธิบดีทรัมป์เรียกว่า “Transship” หมายถึงการนำเข้าสินค้าจากประเทศหนึ่ง โดยใช้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นทางผ่านไปท่าเรืออีกประเทศหนึ่งซึ่งสินค้ายังคงสถานะเป็นแหล่งกำเนิดของประเทศต้นทาง เช่น ประเทศจีน ที่ผ่านมามีการนำเข้าสินค้าแล้วลากตู้ออกจากท่าเรือแหลมฉบังไปเขต “Free Zone” ซึ่งได้รับสิทธิไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า แต่มีการยักย้ายเอาสินค้าออกจากตู้ไปใส่ตู้ส่งออก
โดยมีกระบวนการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดผลิตในประเทศไทย (C/O) ไปสหรัฐฯ เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (ที่กล่าวนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่าง) การดำเนินงานมีกระบวนการซึ่งจะต้องมีการควบคุมตรวจสอบอย่างเป็นระบบและแจ้งให้ทางสหรัฐฯ ทราบเพื่อจะได้ไม่ยกมาเป็นข้ออ้าง
ดร.ธนิต กล่าวว่า ความเป็นห่วงของภาคเอกชนหากไม่สามารถเจรจากับสหรัฐฯ โดยพ้นกำหนดเส้นตาย 1 สิงหาคมไปแล้วจะสร้างความเสียหายต่อภาคการส่งออกประมาณ 8 – 9 แสนล้านบาท จากตัวเลขการส่งออกทั้งหมดที่ไปสหรัฐฯ 1.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 47.36% มีผลกระทบต่อการลงทุนและการย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าไทย
ทั้งนี้ผลกระทบยังไปถึงการลดลงของสายการผลิต กดดันให้มีการปลดลดแรงงานมีผลต่อเนื่องไปถึงการบริโภค สภาพคล่องธุรกิจ หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นและหนี้เสียของสถาบันการเงิน (NPL)
ผลที่ตามมาคืออัตราการขยายตัวของ GDP จะลดลง ส่วนจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการเจรจาลดอัตราภาษีให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะจะต้องไม่สูงกว่าประเทศเวียดนาม ภายใต้โครงสร้างต้นทุนการผลิตของเวียดนามที่ต่ำกว่าไทยโดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 4.960 ล้านด่อง (189.92 USD) ประมาณ 6,267 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ยวันละประมาณไม่เกิน 250 บาท
ขณะที่ค่าแรงของไทย กทม. 400 บาทต่อวัน และรัฐบาลยังมีนโยบายเร่งปรับให้สูงขึ้นเพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เช่นเดียวกับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยค่อนข้างต่ำกว่าเวียดนาม หากเจอภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงกว่าจะกระทบการส่งออกอย่างรุนแรง