ชัวร์ก่อนแชร์: ผู้ว่าฯ แคลิฟอร์เนียใช้ภาพ AI โจมตีทรัมป์ จริงหรือ?
03 กรกฎาคม 2568
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลน่าสงสัย :
มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับเหตุประท้วงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐฯ หรือ ICE ในลอสแอนเจลิสเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อมีการอ้างว่า กาวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย พรรคเดโมแครต ใช้ภาพจากเหตุการณ์เก่าและภาพที่สร้างจาก AI มาโจมตีประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ พรรครีพับลิกัน
บทสรุป :
1.ภาพที่โพสต์มีที่มาจากหนังสือพิมพ์ San Francisco Chronicle
2.คำตอบจาก AI ที่บอกว่าเป็นภาพเก่า มาจากความเข้าใจผิดที่เรียกว่า AI Hallucination
3.การตรวจสอบพบว่า ภาพดังกล่าวไม่ได้สร้างจาก AI เช่นกัน
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2025 กาวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้โพสต์ข้อความทาง X เพื่อโจมตี โดนัลด์ ทรัมป์ ในข้อหาขาดความรับผิดชอบในการระดมพลกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิหลายพันนายและนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกาหลายร้อยนายมาควบคุมเหตุประท้วงในลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นคำสั่งระดมพลที่ขาดการวางแผนจนกองกำลังต้องตกอยู่ในสภาพขาดเชื้อเพลิง น้ำ อาหาร รวมถึงไม่มีสถานที่เหมาะสมสำหรับการพักผ่อน จนมีการนำภาพถ่ายทหารสหรัฐฯ นอนระเกะระกะตามพื้นตัวอาคารถูกนำมาเปิดโปงทางสื่อ
ภาพถ่ายทั้ง 2 ที่ กาวิน นิวซัม นำมาโพสต์ทาง X นำมาจากรายงานของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ San Francisco Chronicle ในหัวข้อข่าว ‘Wildly underprepared’ : National Guard troops seen sleeping on floors in exclusive photos ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2025 เช่นเดียวกัน
ไม่ใช่ภาพเก่าที่ถ่ายในอัฟกานิสถาน
มีผู้แชร์ข้อมูลว่า จากการตรวจสอบด้วย AI chatbot ทั้ง ChatGPT และ Grok ต่างยืนยันว่า ภาพดังกล่าวถูกถ่ายเอาไว้ตั้งแต่ปี 2021 โดยย้ำว่าสถานที่คือสนามบินฮามิดคาร์ไซในกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน
โดยทั้ง ChatGPT และ Grok ต่างอ้างว่า ภาพทั้งสองนำมาจาก DVIDS เว็บไซต์ข้อมูลภาพและวิดีโอทางการทหารของสหรัฐฯ โดยเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม และ 22 สิงหาคม 2021
แต่การตรวจสอบย้อนหลังกลับไม่พบภาพที่กล่าวอ้างใน DVIDS แต่อย่างใด
ส่วนการตรวจสอบด้วยวิธี Reverse image searches ก็ไม่พบว่าภาพทั้ง 2 เคยถูกเผยแพร่ก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2025 เช่นเดียวกัน
รายงานของ Fact Checker ในต่างประเทศต่างให้บทสรุปเหมือนกันว่า AI chatbot ทั้ง 2 เจ้า ให้คำตอบที่ผิดพลาด ซึ่งรู้จักในชื่อ AI Hallucination ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ AI ให้คำตอบไม่ตรงกับความเป็นจริง
ไม่ใช่ภาพที่สร้างโดย AI
มีผู้แชร์ข้อมูลว่า ภาพดังกล่าวแท้จริงแล้วสร้างโดย AI โดยมีการจับจุดสังเกตมือของทหารที่นอนอยู่ในภาพ
แต่กระนั้น เมื่อมีการตรวจสอบโดย HIVE Moderation เว็บไซต์ตรวจจับภาพ AI กลับไม่พบว่าภาพดังกล่าวเกิดจากการสร้างโดย AI แต่อย่างใด
เช่นเดียวกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านภาพ AI ที่ตรวจสอบแล้วก็ไม่พบความผิดปกติเช่นกัน
ภาพจากวงในของกองทัพ
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ San Francisco Chronicle ไม่ได้ระบุเครดิตเจ้าของภาพทั้ง 2 โดยอ้างว่าเป็นภาพที่ได้รับมาจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวตน ซึ่งยืนยันว่ามีความเกี่ยวข้องกับการระดมพลโดยตรง จุดประสงค์เพื่อรายงานการระดมพลที่ขาดการวางแผน นำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนทั้งที่อยู่อาศัยและเสบียงอาหารสำหรับกองกำลัง
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.politifact.com/factchecks/2025/jun/10/social-media/Gavin-Newsom-photos-los-angeles-troops/
https://leadstories.com/hoax-alert/2025/06/fact-check-no-evidence-sleeping-troops-photo-used-by-newsom-was-ai-generated.html
https://www.sfchronicle.com/california/article/national-guard-california-photos-20368334.php