รฟท.ลุย PPP ไฮสปีดไทย-จีน ฟุ้งเอกชนบริหารรถไฟฟ้าสนใจ2-3 ราย
รฟท. เดินหน้าเปิด PPP 'ไฮสปีดไทย-จีน' ตลอดเส้นทาง กรุงเทพฯ - หนองคาย เผยเอกชนไทยเดินรถไฟฟ้า 2-3 รายแห่สนใจร่วมลงทุน ย้ำต้องใช้ที่ปรึกษามาตรฐานจากจีนหวังเดินรถเชื่อมโยงไร้รอยต่อ คาดสรุปรูปแบบ PPP ในเดือนธ.ค. ก่อนชง ครม. ต้นปีหน้า ปักธงเปิดบริการตลอดเส้นทางปี 2574
15 ก.ย. 2568 - นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อแนะนำโครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของการจัดทำเอกสารประกวดราคา ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และจีน (ไฮสปีดไทย - จีน) ว่ารฟท.มีเป้าหมายดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพื่อลดงบประมาณการลงทุนของภาครัฐ และเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เอกชนจะนำมาดำเนินการ โดยเอกชนคู่สัญญาจะร่วมดำเนินงานในส่วนของการติดตั้งงานระบบ การบริหารจัดการเดินรถ และการบำรุงรักษา ตลอดแนวเส้นทางช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย
อย่างไรก็ตาม รฟท. จะเปิดเวทีรับฟังความเห็นของภาคเอกชนอีกครั้งในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อนำข้อเสนอของประชาชนและเอกชนมาจัดทำข้อมูลรูปแบบการลงทุน ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมภายใน ธ.ค.2568 และคาดว่าจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า หลังจากนั้นกลับมาจัดทำเอกสารประกวดราคาเสร็จในไตรมาส 2 เบื้องต้นจึงคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงไตรมาส 3 ปี2569 โดยการเปิด PPP บริหารและเดินรถไฮสปีดไทย-จีน รฟท.ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้ทันต่อการเปิดเดินรถในระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ที่ปัจจุบันงานโยธาคืบหน้าแล้วกว่า 45.65% และคาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดบริการในปี 2572
ส่วนการติดตั้งระบบและขบวนรถในส่วนของระยะที่ 1 รฟท.ได้ดำเนินการลงทุนให้แล้ว โดยปัจจุบันจัดหาขบวนรถจำนวน 4 ขบวน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากจีนรถไฟรุ่น Fuxing Hao Series CR 300 AF ดังนั้นหากประมูลได้ตัวเอกชนก็จะสามารถบริหารการเดินรถได้ทันที ส่วนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย เอกชนคู่สัญญาจะต้องติดตั้งงานระบบ การบริหารจัดการเดินรถและการบำรุงรักษา รวมไปถึงการจัดหาขบวนรถเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการบริการผู้โดยสาร และเพื่อให้โครงการเดินรถเป็นระบงเดียวกันตลอดแนวเส้นทาง จะต้องจัดใช้ระบบอาณัติสัญญาณ และขบวนรถของจีน ตามมาตรฐานเช่นเดียวกับโครงการระยะที่ 1 โดยตั้งเป้าจะเปิดบริการได้ในปี 2574
“ในส่วนของ มาตรฐานรถไฟไฮสปีด ทั้งเฟส 1 และเฟส 2 จะต้องใช้มาตรฐานเดียวกันและเชื่อมโยงกันได้ เพื่อให้รถไฟสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนได้อย่างไร้รอยต่อ โดยจะใช้ มาตรฐานจีน เ และจะมีการใช้ที่ปรึกษาที่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่ามาตรฐานของทั้งสองเฟสจะเชื่อมโยงกันได้อย่างสมบูรณ์และสอดคล้องกับมาตรฐานจีน ขณะเดียวกัน รฟท.ให้ความสำคัญเรื่องการเวนคืนที่ดิน ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญจากเฟส 1 ซึ่ง รฟท. ต้องเตรียมการเรื่องนี้และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้กระบวนการเป็นไปอย่างราบรื่นและลดอุปสรรคในการก่อสร้าง”นายวีริศ กล่าว
นายวีริศ กล่าวว่า แม้จะยังไม่สามารถระบุมูลค่าภาพรวมโครงการได้ชัดเจน เนื่องจากต้องรอดูรูปแบบ PPP ที่จะสรุปก่อน คาดว่าจะเป็นภาคเอกชนไทยที่มีศักยภาะ ปัจจุบันบริหารรถไฟฟ้า 2-3 ราย ขณะที่ต่างชาติหากสนใจสามารถสนใจร่วมลงทุนได้ แต่ต้องร่วมกับกลุ่มเอกชนไทยเข้าร่วมประมูล ส่วนจีนก็ได้แสดงความสนใจเช่นกัน
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟไฮสปีดระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย มูลค่า 3.4 แสนล้านบาท อยู่ในขั้นตอนแบ่งสัญญาประมูล เบื้องต้นประเมินไว้เป็น งานโยธา 7 สัญญา และศูนย์ซ่อม 1 สัญญา ทั้งนี้คาดว่ารายละเอียดทั้งหมดจะแล้วเสร็จในกลางเดือน ส.ค.นี้ และออกประกาศเชิญชวนผู้รับเหมายื่นข้อเสนอในเดือน ก.ย.2568 หลังจากนั้นเร่งรัดก่อสร้างในปี 2569
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการดำเนินการ PPP ติดตั้งงานระบบ การบริหารจัดการเดินรถ และการบำรุงรักษาของโครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย มีวงเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เบื้องต้นมีผลการศึกษาก่อนหน้านี้ประเมินไว้ที่ 30 ปี ซึ่งขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นและประเมินความเหมาะสม