น้ำแข็งกำลังละลายหนัก! นักวิทย์ฯผวา เสียงเตือนจากโลก แต่สหรัฐฯหยุดเผยข้อมูลน้ำแข็งทะเล
นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศทั่วโลกแสดงความกังวล หลังสหรัฐอเมริกาประกาศจะยุติการประมวลผลและแบ่งปันข้อมูลดาวเทียมที่ใช้ในการติดตามน้ำแข็งทะเลทั่วโลก ตั้งแต่สิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ข้อมูลใหม่ชี้ให้เห็นถึงระดับน้ำแข็งทะเลในทวีปแอนตาร์กติกาที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิดการแตกตัวของภูเขาน้ำแข็งจากแผ่นน้ำแข็งลอยน้ำ ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในอัตราที่เร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
การติดตามปริมาณน้ำแข็งทะเลมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะน้ำแข็งทะเลทำหน้าที่สะท้อนพลังงานจากแสงอาทิตย์กลับออกสู่อวกาศ เมื่อปริมาณน้ำแข็งลดลง พื้นผิวมหาสมุทรที่เปิดโล่งจะดูดซับความร้อนได้มากขึ้น ซึ่งจะยิ่งเร่งให้โลกร้อนเร็วขึ้น
ข้อมูลสำคัญเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากดาวเทียมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งข้อมูลหลักของดัชนีน้ำแข็งทะเล (Sea Ice Index) ที่ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติสหรัฐฯ (NSIDC) ใช้ในการวิเคราะห์สภาพน้ำแข็งทั่วโลกแบบเกือบเรียลไทม์
ดร. อเล็กซ์ เฟรเซอร์ จากโครงการพันธมิตรแอนตาร์กติกาแห่งออสเตรเลีย (AAPP) ระบุว่า ดัชนีนี้เปรียบเสมือน “เครื่องวัดชีพจรของโลก” ที่ให้ข้อมูลสัญญาณเตือนล่วงหน้าในเวลาที่สำคัญ การสูญเสียข้อมูลต่อเนื่องจากระบบเดิมจะทำให้การประเมินสถานการณ์ยากขึ้น แม้ NSIDC จะพยายามเปลี่ยนไปใช้เครื่องมือจากดาวเทียมอื่นที่มีความละเอียดสูงกว่า แต่ก็เตือนว่า ข้อมูลใหม่เหล่านี้อาจไม่สามารถเทียบเคียงกับข้อมูลเดิมได้โดยตรง ซึ่งจะส่งผลต่อความต่อเนื่องของการเก็บข้อมูลระยะยาว และด้านดร. วอลต์ ไมเออร์ จาก NSIDC กล่าวเสริมว่า แม้จะมีเครื่องมืออื่น ๆ ที่สามารถใช้งานได้ แต่ความแตกต่างของเซ็นเซอร์จะสร้างความท้าทายในการรักษาความสอดคล้องของข้อมูลย้อนหลังหลายสิบปี
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร PNAS Nexus ชี้ว่าการลดลงของน้ำแข็งทะเลกำลังเปิดทางให้คลื่นทะเลเข้าโจมตีแผ่นน้ำแข็งลอยน้ำ (ice shelves) ได้มากขึ้น ทำให้เกิดการแตกตัวและปล่อยภูเขาน้ำแข็งบ่อยครั้ง ซึ่งเสมือน “จุกขวด” ที่ช่วยชะลอการเคลื่อนตัวของน้ำแข็งจากแผ่นดินสู่ทะเล หากแผ่นน้ำแข็งเหล่านี้อ่อนแอลง ก็อาจเร่งการยกระดับน้ำทะเลได้อย่างมีนัยสำคัญ
ดร. ซู คุก จาก AAPP เตือนว่า หากแบบจำลองที่ใช้อยู่ยังอ้างอิงข้อมูลจากอดีตโดยไม่ปรับตามสภาพปัจจุบันที่น้ำแข็งทะเลในช่วงฤดูร้อนลดลงอย่างมาก จะทำให้เกิดการประเมินต่ำเกินจริงถึงความเสี่ยงจากการละลายของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกา
งานวิจัยยังพบผลกระทบด้านระบบนิเวศ เช่น การตายของลูกนกเพนกวินจักรพรรดิถึง 7,000 ตัวในปี 2022 หลังน้ำแข็งที่พวกมันใช้เป็นที่หลบภัยแตกตัวก่อนกำหนด
โฆษกกองทัพเรือสหรัฐฯ ยืนยันว่า ดาวเทียมในโครงการ DMSP ซึ่งเป็นของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ มีกำหนดจะยุติภารกิจในปี 2026 โดยการยุติการประมวลผลข้อมูลจะเริ่มภายในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ เหตุผลหลักคือ “ระบบเก่าและทรัพยากรมีจำกัด” รวมถึงความไม่คุ้มค่าในการลงทุนปรับปรุงระบบที่อาจล้มเหลวได้ทุกเมื่อ
ดังนั้นจะเห็นว่าการตัดสินใจหยุดให้ข้อมูลจากดาวเทียมของสหรัฐฯ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับสัญญาณอันตรายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในทวีปแอนตาร์กติกา การขาดข้อมูลต่อเนื่องจะสร้างความท้าทายอย่างมากต่อการติดตาม วิเคราะห์ และเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งล้วนเป็นสิ่งจำเป็นในการรับมือกับวิกฤตโลกร้อนที่กำลังรุนแรงขึ้นทุกปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- น้ำท่วมจีน-เนปาล เหตุจากธารน้ำแข็งละลาย ผู้เชี่ยวชาญชี้อนาคตเกิดบ่อยขึ้นแน่
- ผักโตไวแต่ไร้คุณค่า! นักวิจัยเตือนภัยเงียบจากโลกร้อน ทำอาหารไร้สารอาหาร
- “ธารน้ำแข็งละลาย” ภัยเงียบที่อาจจุดชนวน “ภูเขาไฟระเบิด” ทั่วโลก
- "เสื้อติดแอร์" ทางรอดของคนงานในญี่ปุ่น
- โลกร้อนเขย่ายอดเขาสูง! มงบล็องเสี่ยงแผ่นดินไหวพุ่ง 10,000 เท่า นักวิจัยชี้ภัยเงียบจากน้ำแข็งละลาย