ศาลอาญาคดีทุจริตฯ จัดเสวนา “ความท้าทายในการสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิของหน่วยงานฯ”
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 22 กรกฎาคม 2568 เวลา 20.49 น. • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทกรุงเทพฯ 22 ก.ค. – ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เปิดวงเสวนา “ความท้าทายในการสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตประพฤติมิชอบ” มี รอง ผบช.ก. ร่วมสนทนากระบวนการทำงานยันทุกหน่วยงานทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน เผยเป็นด่านแรกเจอผู้มีอิทธิพล พร้อมลุยคดีสงฆ์ยันไม่ได้ทำลายศาสนา ปกป้องพระดี
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติผิดมิชอบกลางได้จัดโครงการส่งเสริมการประสานความร่วมมือด้านยุติธรรมของหน่วยงานในกระบวนการศึกษายุติธรรมประจำปีงบประมาณ 2558 ในหัวข้อความท้าทายในการสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยในช่วงการเสวนา มีนายอภิชา เหลืองเรือง รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พร้อมด้วยนายโกวิท ศรีไพโรจน์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต นายอำนาจ พวงชมภู ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ นายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) และนายศิรพงศ์ ขวัญแก้ว เลขานุการศาลยุติธรรมประจำภาค 1 ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งเลขานุการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เข้าร่วม
โดยช่วงหนึ่งของการเสวนา นายอภิชา ได้กล่าวถึงกระบวนการทำงานของศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง รวมถึงภารกิจของการตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของส่วนรวมและคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนด้วย โดยศาลอาญาคดีทุจริตใช้ระบบไต่สวน คือ ให้ศาลเป็นคนค้นหาข้อเท็จจริงเอง โดยศาลมีอำนาจการถามพยาน และมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคล หรือหน่วยงานมาให้ข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการพิจารณาของศาล ส่วนขั้นตอนการดำเนินคดีอาญาต้องเป็นไปด้วยความรวดเร็วมีขั้นตอนกำหนดไว้ชัดเจน นอกจากนี้พยานหลักฐานอะไรที่ไม่จำเป็นศาลจะไม่เอาเข้าสืบ ส่วนเรื่องการสืบพยานคดีทุจริต คนที่ถูกกล่าวหา (จำเลย) ในคดีบางประเภท เช่น เจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ในกรณีนี้ผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่า ทรัพย์สินที่เพิ่มมานี้ได้มาโดยชอบ กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ จำเลยถูกกล่าวหาในคดีทุจริตหลบหนี จะไม่นับระยะเวลาหลบหนีร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ หากหนีก็ต้องหนีตลอดชีวิต และการหลบหนีมีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 60,0000 บาท และศาลสามารถพิจารณาลับหลังจำเลยได้
ส่วนศาลอาญาคดีทุจริตมีอำนาจในการพิจารณา คดีทุจริต คือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต และอีกกรณีเป็นการที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น การยื่นบัญชีทรัพย์สิน แล้วไม่ยื่น ก็จะถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ส่วนเรื่องของการออกหมายค้น ศาลต้องคำนึงถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ
ด้าน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นผู้บังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางควบคุมงานปราบปรามการทุจริต จะเห็นว่าพยายามรวบรวมหน่วยงานการทุจริตเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวให้เป็นเอกภาพในการให้ความยุติธรรมประชาชน ทั้ง ป.ป.ช., ป.ป.ท., ปปง., สตง. สิ่งที่ทำตำรวจเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบทุจริตเมื่อมารวมตัวกันคือผลประโยชน์ของประชาชน เป็นเสาค้ำยันของหน่วยงานแต่ละหน่วยงานในการทำงานซึ่งกันและกัน การมาร่วมงานกันเป็นภาพของการสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนโดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ใช้หลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ในการทำงาน กฎหมายไม่สามารถสร้างความสงบสุขหรือความเท่าเทียมเพราะหากบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรงเกินไป ยกตัวอย่างคดีการทุจริตยาของโรงพยาบาลทหารผ่านศึกมีประชาชนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนมาก เราทำงานยึดพยานหลักฐานและผู้กระทำความผิดที่แท้จริง ส่วนใครจะตกเป็นเหยื่อในการเข้ามายุ่งเกี่ยวจะต้องให้ความเป็นธรรม ไม่ใช่การไม่ดำเนินคดีแต่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องและความเป็นธรรม การทุจริตจะต้องมีเจตนาพิเศษคนที่ได้รับผลประโยชน์เป็นจุดที่เราต้องมุ่งเน้นเป็นพิเศษ ดุลยภาพของสิทธิของแต่ละหน่วยงานที่ได้รวมตัวหลายหน่วยงานจะช่วยให้การทำงานเกิดความยุติธรรมโดยแท้จริงโดยไม่มีการบิดเบี้ยวเอนเอียง ประชาชนจะได้รับความเป็นธรรมการการทุจริตจะลดน้อยลง สถานการณ์การทุจริตจะดีขึ้น
“ขอบคุณผู้พิพากษาทุกท่านที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน พวกผมเป็นหน่วยงานแรกที่ต้องมาเผชิญกับผู้มีอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็นระบบของเมืองไทยที่เป็นระบบอุปถัมภ์ ทุกคนมีเส้นมีสาย มีอำนาจ ถ้าเราไม่ได้คุ้มครอง หรือไม่ได้รับการประสานงานจาก ป.ป.ช. อัยการ ผู้พิพากษา ป.ป.ท. ถ้าเราไม่เป็นเสาค้ำยันกัน การทำงานของเรามันเดินต่อไปยาก ยกตัวอย่างผมเป็นตำรวจ ผมมีหัวหน้าหน่วยงานของผมโทรมา ให้ผมเบาหรือหยุดเรื่องนี้ เท่านี้ก็เหนื่อยแย่แล้ว เพราะฉะนั้นผมเลยพูดว่าหัวหน้าของเราก็คือผู้มีอิทธิพลตัวจริง ไม่ใช่คนอื่น เพราะคนอื่นต้องสั่งหัวหน้าเรา เพราะฉะนั้นรากฐานของผู้มีอำนาจมันโยงใยเหมือนรากต้นไม้ที่เป็นต้นใหญ่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกผมทำและเกิดผลมา ยืนยันว่าหน่วยงานบูรณาการด้านกฎหมายกำลังนำสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลง”
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงประเด็นเรื่องแวดวงสงฆ์ ว่า สงฆ์ก็มีแต่เมตตาและอภัย เพราะฉะนั้นไม่มีหน่วยงานที่มาคานอำนาจ เมื่อวันนี้เกิดเรื่องขึ้นมา เรามาทำงานบูรณาการ อย่างกรณีล่าสุดเราไม่ใช่จะไปทำลายสถาบันพระพุทธศาสนา แต่เราปกป้องพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ศาสนาไม่ได้เสื่อม มันเสื่อมที่ผู้ปฏิบัติ คือ พระภิกษุสงฆ์บางรูปที่ประพฤติตัวมิชอบ
ต่อมาภายหลังการเสวนา พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวว่า แม่งานหลักที่จัดงานในครั้งนี้คือศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งเป็นศาลฯ ที่ให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งประคับประคองการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปด้วยความสุจริต ซึ่งที่ผ่านมา ตำรวจกับศาลฯ ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด และวันนี้เป็นการบูรณาการร่วมกันในการทำงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ศาลทุจริตฯ เป็นศาลที่ให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐในการปฎิบัติหน้าที่ ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตถูกต้อง วันนี้ได้พูดคุยร่วมกันทุกหน่วยงานให้ทราบว่าขบวนการที่ขับเคลื่อนเรื่องการทุจริตเพื่อให้เกิดความสงบสุขและเกิดความเป็นธรรมกับประชาชน และข้าราชการที่เดินหน้าทำงาน ศาลทุจริตฯ จะให้ความเป็นธรรมกับทุกหน่วยงาน และไม่มีข้อยกเว้นในการออกหมายจับผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นใคร
ส่วนเรื่องการออกหมายจับเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ รวมไปถึงพระสงฆ์นั้น ศาลฯ ให้ความเป็นธรรมกับทุกคน การออกหมายจับให้ตำรวจ เป็นเพราะว่ามีพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าบุคคลนั้นกระทำผิดจริง รวมทั้งหากมีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ ศาลฯ ก็มีหน้าที่ปกป้อง เพื่อป้องกันการฟ้องปิดปาก ยกตัวอย่างของกรณีอดีตเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง จังหวัดพิจิตรที่ฟ้องปิดปากชาวบ้าน
เมื่อถามว่าถ้าหากพระสงฆ์ทำผิด จะต้องมีการลาสิกขาก่อนออกหมายจับหรือไม่ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ระบุว่า ไม่จำเป็น เพราะศาลฯ จะพิจารณาถ้าหากมีพยานหลักฐานเพียงพอ ไม่มีข้อยกเว้นในการออกหมายจับ ต่อให้เป็นผู้พิพากษาก็ตาม
ส่วนกรณีประเด็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีผู้มีอิทธิพลโดยเฉพาะผู้บังคับบัญชามีนัยอะไรหรือไม่ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ บอกว่า ระบบสังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ เมื่อจับเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น จับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) ก็จะมีหัวหน้าหรือนายก อบต.เป็นฐานเสียงของนักการเมือง จะต้องมีคนที่ใหญ่กว่าดูแล คนที่ใหญ่กว่าอาจจะใหญ่กว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อาจจะมาสั่งหรือมาบิดเบือนคดี แต่ศาลให้ความมั่นใจว่า ไม่ต้องกลัว หากทำในสิ่งที่ถูกต้อง ให้อำนาจไป แต่ส่วนหนึ่งที่พูดว่าหน่วยงานต่าง ๆ ของการทุจริตมาวันนี้เป็นเรื่องของการบูรณาการทำงานร่วมกันหน่วยงานต่างๆ จึงเป็นเสาค้ำยันให้กันและกันในการสร้างความถูกต้องชอบธรรมให้กับพี่น้องประชาชนในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามแนวทางของกฎหมายที่ถูกต้องชอบธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่มีการเสวนากันในวันนี้.- 419-สำนักข่าวไทย