'คิชอร์ มาห์บูบานี' มองระเบียบโลกที่พลิกผัน กับทางรับมือชาติอาเซียน
‘คิชอร์ มาห์บูบานี’ มองระเบียบโลกที่พลิกผัน กับทางรับมือชาติอาเซียน
นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สั่นคลอนรากฐานของระเบียบโลกที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สถาปนาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประกอบกับกรอบความร่วมมือพหุภาคีดั้งเดิมอย่างสหภาพยุโรป (อียู) และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ก็ถดถอยและเปราะบางอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ขณะเดียวกัน การผงาดขึ้นมาของจีนทั้งในด้านเศรษฐกิจและทหาร รวมถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของกรอบความร่วมมืออื่นๆ อย่างบริกส์ อาเซียน และบิมสเทค ได้เสนอทางเลือกใหม่แก่นานาประเทศในเรื่องระเบียบโลกที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนค่านิยมของชาติตะวันตก สะท้อนให้เห็นว่าระเบียบโลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ในงาน ASEAN FORUM 2025 ศาสตราจารย์คิชอร์ มาห์บูบานี นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิประจำสถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์และอดีตเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้กล่าวปาฐกถาของในหัวข้อ Capitalizing on ASEAN’s Prominence ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจและสอดคล้องกับบริบทโลกปัจจุบัน จึงนำถ้อยแถลงนี้มาถ่ายทอดให้รับทราบกัน
มาห์บูบานีกล่าวว่า โลกปัจจุบันเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำความเข้าใจว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เมื่อ 40 ปีก่อน ตนได้ติดตาม อดีตนายกรัฐมนตรีลี กวนยู ของสิงคโปร์ ในวาระการกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมร่วมที่รัฐสภาสหรัฐ ซึ่งในตอนหนึ่งก็ได้ขอบคุณสหรัฐที่ได้ก่อสร้างระเบียบโลกที่เปิดประตูให้ประเทศอื่นสามารถเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้หลังจากยุคสงคราม
ถือว่าโลกค่อนข้างสงบและมนุษยชาติมีความก้าวหน้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ต้องยกเครดิตให้กับความเป็นผู้นำของสหรัฐที่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรยุโรปในการจัดตั้งระบบการค้าเสรี รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ นำไปสู่การเติบโตทางการค้า ธนาคารและการเงินอย่างมหาศาลทั่วโลก โดยไม่เคยมีช่วงเวลาใดที่ประชากรโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นนี้มาก่อน เป็นข้อเท็จจริงว่าระเบียบโลกที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนจำนวนมากสามารถเติบโตและประสบความสำเร็จได้
หลังจากที่ลีกวนยูกล่าวถ้อยแถลงนี้ในปี 1985 เศรษฐกิจโลกเติบโตจาก 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปสู่ตัวเลข 111 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2024 เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 40 ปี ซึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีการเติบโตอย่างโดดเด่น ในปี 1985 เศรษฐกิจของภูมิภาคมีมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 15% ของเศรษฐกิจโลก และได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ จากสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ลีกวนยูอาจพูดว่า “ผมได้ยินเสียงแห่งมาตรการกีดกันทางการค้า” แทน
ล่าสุด นายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวว่า มาตรการภาษีที่มีการประกาศใน “วันปลดปล่อย” ของสหรัฐเป็นเครื่องยืนยันว่ายุคของโลกาภิวัฒน์ที่อยู่บนพื้นฐานของระเบียบระหว่างประเทศได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากดำเนินมาเกือบ 80 ปีตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสหรัฐอเมริกาเคยเป็นเสาหลักและควบคุมตลาดเสรี ผนวกกับเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการค้าพหุภาคีด้วย ทั้งนี้ สิ่งที่สหรัฐกำลังทำอยู่ไม่ใช่การปฏิรูปแต่คือการปฏิเสธระเบียบที่ตนได้สร้างขึ้นมา พร้อมกับเลือกแนวทางกีดกัดการค้า แต่เราไม่จำเป็นต้องเลือกที่จะเดินตามและใช้เส้นทางเดียวกัน
นายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทำลายระเบียบโลกที่สหรัฐก่อตั้งขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สำหรับผู้ที่เชื่อมั่นในหลักการและมองว่าสหรัฐเป็นประเทศที่มีเมตตา นี่คือช่วงเวลาที่น่าเจ็บปวด เพราะทรัมป์ได้กระทำการสั่นคลอนความเข้มแข็งของข้อตกลงและสนธิสัญญาต่างๆ ข่มขู่ชาติพันธมิตร ทำลายปัจจัยที่รักษาอำนาจนำของสหรัฐไว้ ตลอดจนขูดรีดประเทศอื่นจำนวนมาก
เหตุการณ์ที่กำลังขึ้นนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนอย่างรุนแรง และขณะที่ประเทศต่างๆ กำลังรับมือในเรื่องนี้ เมื่อถามประธานาธิบดีทรัมป์ว่า โลกจะตอบรับกับความวุ่นวายที่คุณก่ออย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่าช่างหัวมัน (kiss my ass)
อีกทั้ง มีการคาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัว บทความในไฟแนนเซียลไทม์ระบุว่า ในช่วงทศวรรษ 2000 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 5.99% ในทศวรรษ 2010 ลดลงเหลือ 5.1% และภายในทศวรรษ 2020 ก็กำลังลดลงเหลือเพียง 3.7%
จากสถานการณ์ความผันผวนของโลกที่กำลังเกิดขึ้น มีข้อเสนอแนะสามข้อ ดังนี้ ประการแรก ประชาคมอาเซียนต้องเห็นคุณค่าของอาเซียน เพราะหากมองไปยังสถานการณ์ทั่วโลก เริ่มจากเอเชียใต้ อินเดียกับปากีสถานเผชิญหน้าทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี และทั้งสองประเทศื้เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคไม่มีการค้าระหว่างกันเลย ถัดมาคือตะวันกลาง ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่ามีความขัดแย้งตลอดเวลา
ถัดไปทางตะวันตกอีกคือแอฟริกา ก็เต็มไปความความขัดแย้งและไร้ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ สำหรับอียู แม้ว่าจะเป็นกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ประสบความสำคัญ ทว่ากำลังประสบกับปัญหาเศรษฐกิจไม่เติบโต คนรุ่นใหญ่วัยหนุ่มสาวมองอนาคตของตนในแง่ร้าย ไม่ใช่แค่ในแง่เศรษฐกิจเท่านั้น
ในปี 2000 ขนาดเศรษฐกิจของอียูใหญ่พอๆ กับกับสหรัฐ แต่ในปัจจุบันกลับลดเหลือเพียง 2 ใน 3 เท่านั้น ขณะเดียวกัน ในช่วงปี 2010-2020 เศรษฐกิจของอาเซียนมีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากกว่าอียู ทั้งที่อียูมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าอาเซียนถึง 5 เท่า และที่สำคัญยุโรปกำลังเผชิญกับอุปสรรคในการยุติสงครามยูเครนด้วย
ถัดมาอีกที่อเมริกาเหนือ ทรัมป์ประกาศใช้มาตรการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งขัดแย้งกับหลักการของความข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (แนฟตา) ที่มุ่งลดอุปสรรคทางการค้าในภูมิภาค ลงไปทางใต้ บราซิลและอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นสองเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ ประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศก็แทบจะไม่มีการพูดคุยกัน
แต่สำหรับอาเซียน ไม่มีใครที่ตื่นมาแล้วพบกับเหตุสงคราม อีกทั้ง เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด โดยเมื่อปี 2000 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นใหญ่กว่าอาเซียนถึง 8 เท่าแต่ในปัจจุบัน ใหญ่กว่าเพียง 1.1 เท่าเท่านั้น
ประการที่สอง เราต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ แน่นอนว่าสหรัฐมีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดคิดเป็น 25% ของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี สหรัฐมีประชากรเพียง 3-4% ของประชากรโลกเท่านั้น นั่นหมายความว่า 96% สามารถไม่เดินตามแนวทางของสหรัฐด้วยการขึ้นภาษีเช่นเดียวกัน ซึ่งปกติแล้วเมื่อสหรัฐดำเนินนโยบายใดๆ โลกมักจะเดิมตาม
ทว่า ในคราวนี้ไม่มีประเทศใดเข้าร่วมด้วยเลย จึงเป็นโอกาสใหม่ในการทำการค้า โดยอาเซียนถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีศักยภาพมากที่สุดในโลกเนื่องจากยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอย่างความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ด้วย
ประการที่สาม หากถามว่าประเทศใดจะเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกใน 10-20 ปีข้างหน้า คำตอบคือจีนและอินเดีย ในปี 2000 เศรษฐกิจของสหรัฐใหญ่กว่าของจีนถึง 8 เท่า แต่ในปัจจุบัน สหรัฐมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าจีนเพียง 1.5 เท่าเท่านั้น ขณะเดียวกัน จีนยังเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกอีกด้วย ในปี 2000 จีนมีสัดส่วนการผลิตของโลกเพียง 5% แต่ภายในปี 2030 ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 45% ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสำคัญ
ด้านอินเดียก็มีพัฒนาการที่น่าทึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียอยู่ในภาวะตึงเครียด กระนั้นก็ดี จากปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ภูมิภาคที่อยู่ใกล้ทั้งจีนและอินเดียมากที่สุดก็คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีร่องรอยอารยธรรมของทั้งจีนและอินเดียอย่างชัดเจนที่สุด ทำให้สามารถมีบทบาททางการทูตในการเชื่อมและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และหากสามารถทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ดีขึ้นได้ อาเซียนก็จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดด้วย
มุมมองของมาห์บูบานี หนึ่งในนักการทูตชั้นครูที่ได้รับการยอมรับในความสามารถผู้นี้สะท้อนให้เห็นว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลก อาเซียนเป็นความร่วมมือที่มีศักยภาพในการแสดงบทบาทเชิงรุกบนเวทีระหว่างประเทศ โดยสามารถใช้กลไก “อาเซียน+” เป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศ และจะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพ ในช่วงเวลาที่โลกเผชิญกับความไม่แน่นอนที่กำลังสร้างความปั่นป่วนอย่างหนักในปัจจุบัน
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ‘คิชอร์ มาห์บูบานี’ มองระเบียบโลกที่พลิกผัน กับทางรับมือชาติอาเซียน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th