ส.ก.ทวงคืบหน้า ‘จ่ายหนี้สายสีเขียว’ ผู้ว่าฯเผย ต่อรองเขาไม่ลด ต้องรอบคอบหวั่นซ้ำรอย ‘ยกมาอ้าง’
ส.ก.ทวงคืบหน้า ‘จ่ายหนี้สายสีเขียว’ ชัชชาติเผย ต่อรองแล้วเขาไม่ลด – เร่งจ่ายแต่ต้องรอบคอบ หวั่นซ้ำรอยถูก ‘ยกมาอ้าง’
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยฝ่ายบริหาร ข้าราชการและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 50 เขต เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) พ.ศ. 2568 โดยมี นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง เป็นประธานสภาฯ
ในตอนหนึ่ง นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย เสนอญัตติของเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครรายงานความคืบหน้าการดำเนินการชำระหนี้ ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในส่วนที่ค้างชำระ
นายนภาพลกล่าวว่า เหตุที่ต้องยื่นญัตตินี้เพราะตลอดระยะเวลาที่ตนเป็น ประธานคณะกรรมการวิสามัญ พิจารณาเกี่ยวกับปัญหาเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ปรากฏว่า จนบัดนี้ความคืบหน้าในการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง ซึ่งตั้งแต่ กทม.เข้ามาดำเนินการ ยังมีหนี้ที่ค้างชำระอยู่ค่อนข้างมาก
เมื่อศึกษาและหาข้อสรุป กทม.ได้ชำระบางส่วนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น E&M และ O&M บางส่วนที่ศาลพิพากษาไปแล้ว ดังนั้น ตนจะขอให้เหตุผล ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย เพื่อให้ทราบว่า ส่วนที่เหลือเราจะต้องชำระหรือไม่อย่างไร
โดย นายนภาพล ยกข้อมูลจากข่าวที่นายชัชชาติ ระบุว่า การเร่งรัดจ่ายหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ย 5.4 ล้านบาท/วัน นั้น จะนำขอเสนอทั้งหมดพิจารณาเพื่อดูว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะทุกกระบวนการต้องดำเนินไปด้วยความรอบคอบ โดยขณะนี้ กทม.ได้ทำหนังสือส่งไปยังอัยการแล้ว และอยู่ระหว่างรอคำตอบ
สำหรับการจ่ายหนี้กับ BTSC นั้น เบื้องต้นจะทยอยจ่ายทีละงวด และจ่ายหนี้ตามจำนวนเงินที่อยู่ในศาลปกครอง (หนี้ก้อนหลัง) ซึ่งในเรื่องนี้ได้พิจารณาข้อเสนอจากคณะอนุกรรมาธิการทุกด้านแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ (สภากทม.) แต่ยืนยันว่า ‘จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด’ แต่จากวันนั้นจนวันนี้ 3 เดือนแล้ว ยังไม่มีผลอะไรเลย”
นายนภาพลกล่าวต่อว่า เมื่อสื่อถามว่า จะทันสิ้นเดือน เม.ย.2568 หรือไม่ ท่านผู้ว่าฯ ได้กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคำตอบจากอัยการ เชื่อว่าจะมีความคืบหน้าเรื่องการจ่ายหนี้แน่นอน เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนของการเจรจากับเอกชนในลำดับต่อไป
“ผ่านไป 3 เดือน อัยการมีคำตอบอย่างไร ท่านผู้ว่าฯ บอกว่า ‘อยู่ในชั้นศาล ไม่สามารถก้าวล่วงได้’ อะไรต่างๆ นานา ซึ่งก็ไม่มีการดำเนินการต่อ ตามที่ให้สัมภาษณ์ไว้” นายนภาพลระบุ
โดยแยกหนี้ออกเป็น 4 ก้อน ดังนี้
ก้อนที่ 1 ชำระแล้ว ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด 14,476,884,201.60 บาท (1.4 หมื่นล้านบาท)
ก้อนที่ 2 หนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 (มิ.ย.64 ถึง ต.ค.65) ต้องชำระเงินต้น 10,127 ล้าน ดอกเบี้ย 8% 2,118 ล้าน = 12,245 ล้าน
ก้อนที่ 3 หนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 (พ.ย.65 ถึง ธ.ค.67) ต้องชำระเงินต้น 14,235 ล้าน ดอกเบี้ย 8% 1,264 ล้าน= 15,499 ล้าน
ก้อนที่ 4 หนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 2 ปี 68 (ม.ค.68 ถึง ธ.ค.68) ประมาณการค่าจ้าง 6,248 ล้าน (ชำระตามสัญญาทุกวันที่ 20 ของทุกเดือน)
ถ้าไม่ชำระ หนี้ก้อนนี้มีคำพิพากษาแล้วว่า หากผิดสัญญา ตามนัดชำระหลังวันที่ 20 ของทุกเดือน ผู้รับจ้างสามารถคิดดอกเบี้ยได้ ในอัตรา MLR+1 หรือ 8% ต่อปี
“ภาระดอกเบี้ย ม.ค.2568 จนถึงวันนี้ เงินต้นฟ้อง 10,127 ล้านบาท บวกต้นเงินหลังฟ้องครั้งที่ 2 อีก 14,235 ล้าน รวมเป็น 24,365 ล้านบาท ตรงนี้จากวันสิ้นสุด ธ.ค.2567 จนถึงปัจจุบันวันนี้รวมแล้ว 197 วัน เท่ากับตอนนี้ กทม.เสียดอกเบี้ยส่วนนี้ที่ชำระช้าอีก 1,066,514,222 บาท นี่เป็นภาระ” นายนภาพลกล่าว และว่า ส่วนหนี้ในอนาคต 56,000,000 / ปี จนถึงปัจจุบัน ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นทุกปี
ในตอนหนึ่ง นายนภาพลกล่าวด้วยว่า ในคดีที่ 1 ที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เราชำระหนี้ ซึ่งเราต่อสู้หลายประเด็น และหลายชั้นศาล ทั้งประเด็นการร่วมทุน, ประเด็น ป.ป.ช., รวมถึงข้อสัญญาที่ เคที มีอำนาจทำหนังสือมอบหมาย ซึ่งทุกประเด็นที่เราต่อสู้ไป ศาลพิพากษาว่า ‘ชอบด้วยกฎหมายแล้ว’
“เราต่อสู้บอกว่า สัญญาที่เคทีทำไปไม่ผูกพัน กทม. ทำเกินกว่าหนังสือมอบหมายที่ผู้ว่าฯ ให้ทำ ศาลก็พิพากษาว่า สัญญาที่เคทีทำกับบีทีเอส ชอบด้วยกฎหมาย มีผลผูกพันซึ่ง กทม.ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นจึงให้ กทม.ชำระหนี้ตามคำพิพากษา แต่หลังจากนั้น กทม.ยังไม่ยอม เพราะมีประเด็นใหม่ขึ้นมา
คือ ป.ป.ช.ชี้มูลว่า หน่วยราชการของเรากระทำผิด ซึ่ง กทม.ได้ให้สำนักอัยการสูงสุด ยื่นคำร้องของพิจารณาคดีใหม่ที่ศาลปกครองสูงสุด เพราะเราถือว่าเป็น ‘หลักฐานใหม่’ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเราคิดและอัยการก็อาจจะคิดเช่นกันว่า คำสั่งชี้มูล อาจของ ป.ป.ช.นั้น ทำให้กลับคำพิพากษา จากที่ว่า กทม.ต้องชำระเงิน ขณะเดียวกันทาง ‘เคที’ ก็ยื่นพิจารณาใหม่เช่นเดียวกัน” นายนภาพลกล่าว โดยหยิบยกข้อกฎหมายตาม ม.75 ที่ขอให้ศาลปกครองพิพากษาใหม่ได้ใน 4 กรณี
จากนั้น นายนภาพลกล่าวถึง หนี้อีกก้อนที่ยังไม่ฟ้อง คือ ก้อนที่ 3 (พ.ย.65 ถึง ธ.ค.67) 15,499 ล้านบาท โดยระบุถึง การปรับค่าจ้าง ที่เคทีทำกับบีทีเอส ซึ่งตนได้สอบถามได้รับคำตอบว่า สัญญาค่าจ้างนั้นเกิดขึ้นจากบีทีเอสเป็นผู้เสนอราคามา แต่ทางเคที และ สจส.ตั้งที่ปรึกษาคำนวณราคาร่วมกันว่า สอดคล้องเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งเมื่อดูทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว เห็นถูกต้องตรงกันจึงเซ็นสัญญา ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำเอง ดังนั้นถือว่า ‘ไม่ใช่สัญญาที่เป็นธรรมที่ต้องยกเลิกตามกฎหมาย และราคาเห็นตรงกันโดยสมบูรณ์’
“ก้อนที่สอง ที่บอกว่ายังไม่ฟ้องแต่ถึงกำหนดชำระแล้วนั้น ตอนนี้ บีทีเอสและเคที ได้ตั้งที่ปรึกษาขึ้นมา 1 คน เพื่อศึกษา ว่าค่าจ้างที่ผ่านมาสูงเกินจริงหรือไม่ คำนวณแล้วว่าสูงเกินไปประมาณ 20% ปรากฎท่านบอกว่า เดี๋ยวไปคุยกับบีทีเอส ถ้าลดค่าจ้างตามที่ปรึกษาได้คำนวณ ถ้าบีทีเอสให้ ก็จะชำระให้
ผมอยากถาม ที่ว่าถ้าท่านจะ ‘ชำระให้’ ถึงแม้ไม่ลด แสดงว่าท่านยอมรับว่า สัญญานี้ถูกต้องสมบูรณ์ มันเป็นอย่างนั้นหรือ เพราะศาลพิพากษาว่าสมบูรณ์ คือถ้าท่านจ่ายไม่ได้ ก็ต้องไม่จ่ายถึงแม้จะลดให้ เพราะท่านไปกล่าวอ้างต่อสู่ในศาลว่าสัญญาเป็นโมฆะ แต่ศาลพิพากษาว่าไม่โมฆะ” นายนภาพลกล่าว
ด้าน นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ต้องบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ กทม.ไม่ได้ละเลย อีกไม่นานเราก็ต้องพิจารณาเรื่องนี้ ขอบคุณรายละเอียดที่ ส.ก.เสนอมาได้ดีมาก หากสามารถบันทึกไว้ในรายงานได้ จะทำให้เรามีหลักฐานในการใช้พิจารณาคราวหน้าได้สะดวก
“ทาง กทม.เราไม่ได้ละเลย ที่ผ่านมาจ่ายไปแล้ว 38,000 ล้านบาท และมีตัวอื่นที่จ่ายไป ถามว่าทำไมมันถึงต้องมีการฟ้องร้องไม่จ่ายเงิน จริงๆ เหตุมันเกิดก่อนพวกเราเข้ามา ตั้งแต่ 2562 มีคำสั่ง ม.44 ให้รวบรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต่อสัญญาไปถึง 2602 คือต่อไปอีก 30-40 ปีข้างหน้า ตั้งแต่วันนั้นก็มีการหยุดจ่ายค่าจ้างๆ เพื่อเอาค่าจ้างตรงนี้ไปรวมอยู่ในเงื่อนไขของสัมปทาน มันเกิดตั้งแต่สมัยก่อนหน้าพวกเราจะเข้ามาแล้ว
จริงๆ มันมีมูลเหตุ ของการไม่จ่าย ช่วงแรกเข้าใจว่า ทางเอกชนก็ยินดีที่ไม่ต้องจ่าย เพราะคิดว่าจะได้สัมปทานยาว แต่พอการเข้าสัมปทานไม่ผ่าน ครม. จึงมีเรื่องฟ้องร้องกัน” นายชัชชาติกล่าว
จากนั้น นายชัชชาติอธิบายเบื้องต้น ที่ ส.ก.เรียนถามเรื่องการเอาค่าโดยสารมาจ่าย เข้าใจว่าตอนนี้ชำระทั้ง 2 ส่วนแล้ว ทุกคนก็พยายามลดหนี้ แต่ก็กลัวว่าในอนาคตจะมีปัญหาอะไรตามมาหรือไม่ ส่วนสัญญาเป็นโมฆะหรือไม่นั้น เราอาจจะไม่มีอำนาจตัตสิน เพราะหลายเรื่องมีหน่วยงานอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงต้องระวังในการจ่าย
“ที่เรากลัวคือ สุดท้ายจะมีการอ้าง คือมันเคยมีคดีค้างอยู่ในศาล เหมือนกับที่เพื่อน ส.ก.เราพูดว่า พอเราจ่ายส่วนนี้ไปด้วยความหวังดีจะลดเงินต้น กลับเอามาอ้างว่า ‘ถือว่าสัญญามีผล’ ดังนั้นคนที่จ่ายต้องระวังตรงนี้ด้วย แต่จุดประสงค์เราต้องการลดหนี้ให้ได้มากที่สุด” นายชัชชาติเผย
นายชัชชาติกล่าวต่อว่า จริงๆ แล้วที่ผ่านมา เราดำเนินการตามที่คณะกรรมการวิสามัญได้มีข้อเสนอมา มีอยู่ 2 เรื่องคือ 1.ให้เราไปเจรจา 2.เร่งรัดจ่ายเงิน
“จากที่ได้ไปเจรจา 2 หน ทาง BTCS ไม่ยอมปรับลดเงินต้น คงต้องดูว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป”
นายชัชชาติกล่าวด้วยว่า สัญญามี 2 ส่วน ซึ่งส่วนต่อขยายที่ 1 ไม่มีปัญหา มีการทำเป็นโครงการเข้าอนุมัติในสภากทม. เรียบร้อย แต่ส่วนต่อขยายที่ 2 ปรากฏว่ายังไม่มีการเข้าอุมัติของสภา ทั้งที่เป็นภาระนี้ผูกพัน มีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายไปจนถึงปี 2585 ดังนั้นสุดท้ายการจะแก้ปัญหาส่วนที่ 2 ได้ในระยะยาว ต้องให้สภาฯ อนุมัติสัญญานี้ ซึ่งผู้บริหารต้องไปศึกษาให้ดีก่อน ทำให้เกิดความรบคอบ ไม่ใช่อยู่ๆ คิดจะไปขอเปลี่ยนสัญญา ซึ่งเขาก็คงไม่เปลี่ยนให้
“แต่การจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เราคงต้องมีตัวเลขที่บอกได้ว่า ‘ที่เขาเซ็นกันมาก่อนหน้านั้น สมเหตุสมผลหรือไม่’ ในส่วนที่มีคำพิพากษาแล้วเราก็เคารพ ถามว่าเรายื่นถามอัยการทำไม มันก็เหมือนเราถามทนาย ว่าเห็นยังไงกับคดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก สุดท้ายต้องทำงานร่วมกันกับสภากทม. เมื่อไปต่อรองแล้วเขาไม่ลดให้ ก็ต้องมาคุยกันว่า เดี๋ยวเราจะเสนออย่างไรต่อ” นายชัชชาติกล่าว และว่า
เราไม่ได้หยุดนิ่ง มีหนังสือถามตลอด พยายามทำทุกอย่างให้รอบคอบที่สุด เพราะมีมูลค่าและก่อหนี้ผูกพันระยาว
สำหรับ ส่วนต่อขยายที่ 2 ปัญหาคือ ‘ยังไม่นำเข้าสภาฯ จึงต้องนำเข้าเพื่อให้สภาฯ รับรอง
“ผมคงไม่ได้ตอบแบบผูกมัดตัวเองอย่างที่ท่านต้องการ แต่ต้องบอกเลยว่า ‘บางเรื่องเราถามแล้วไม่มีคำตอบที่ชัดเจนกลับมา’ จึงต้องทำตามคำสั่งศาลให้รอบคอบที่สุด จะเร่งหาทางจ่ายให้ได้เร็วที่สุด ให้เห็นผลในเร็ววันนี้ ทั้งเรื่องที่ค้างอยู่และเรื่องอนาคต” นายชัชชาติกล่าว
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ส.ก.ทวงคืบหน้า ‘จ่ายหนี้สายสีเขียว’ ผู้ว่าฯเผย ต่อรองเขาไม่ลด ต้องรอบคอบหวั่นซ้ำรอย ‘ยกมาอ้าง’
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th