ปตท.ชี้ความต้องการใช้ก๊าซฯ30ปีข้างหน้าโตต่อเนื่อง เร่งรัฐเปิดสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยมากขึ้น
ปตท. ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย ชี้ความต้องการใช้ก๊าซฯยังเติบโตต่อเนื่องในอีก20-30ปีข้างหน้า เหตุพลังงานหมุนเวียนมีข้อจำกัด เร่งภาครัฐเปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อรับมือความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และมีราคาถูกกว่าLNG ต่อยอดไปสู่ปิโตรเคมี ขณะเดียวกันเดินหน้าโครงการCCS ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายNet Zero
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT กล่าวในวงานสัมมนา iBusiness Forum Decode 2025: The Mid-Year Signal ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ว่า ทิศทางพลังงานโลก ขณะนี้มีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งระยะสั้นและระยะยาวส่งผลกระทบต่อราคาและความมั่นคงด้านพลังงาน โดยปัจจัยระยะสั้น ได้แก่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitic) ความผันผวนทางเศรษฐกิจและแรงกดดันจากเงินเฟ้อ นโยบายและกฎระเบียบที่ไม่แน่นอน และการขยายตัวทางดิจิทัล ส่วนปัจจัยระยะยาวได้แก่ การลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) เป็นความท้าทายหลัก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์( Net Zero),เทคโนโลยีลดคาร์บอน ฯลฯ
ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดนั้นทิศทางพลังงานจะต้องสมดุลกัน(balance)ใน3 เรื่อง คือ ความมั่นคงพลังงาน ความยั่งยืน และพลังงานมีใช้ในราคาที่เหมาะสม
“ทิศทางวันนี้ มีความไม่แน่นอนสูง สหรัฐฯถอยเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือNet Zero ซึ่งปตท. ได้ติดตามและพูดคุยกับบริษัทพลังงานระดับโลก ทุกคนเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าจะต้องมุ่งสู่Net Zero แม้ว่าจะขรุขระบ้าง แต่ช้าเร็วก็ต้องทำ ซึ่งในช่วง6-7ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีการพูดถึงความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ทุกวันนี้ความไม่แน่นอนมีสูงมากทั้งปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ปตท.ให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและความยั่งยืน ควบคู่กับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก”นายคงกระพันกล่าว
สำหรับการใช้พลังงานของโลกในปี2566จนถึงปี 2593 มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึง 20% เนื่องจากยังมีข้อจำกัดเรื่องเสถียรภาพและราคา ดังนั้น “ก๊าซธรรมชาติ” ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาด จึงมีความสำคัญอยู่โดยมีสัดส่วนการใช้เพิ่มขึ้นจาก24%ในปี2566เป็น26% 2593 ส่วนน้ำมันมีการใช้ลดลงจาก31%เหลือ28% แต่ถ่านหินการใช้ลดงจาก 25%เหลือเพียง13%
โดยไทยและในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นพ้องตรงกันว่าใน 20-30 ปีข้างหน้า ก๊าซฯจะยังเป็นเชื้อเพลิงหลักของโลก ซึ่งประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถการผลิตก๊าซฯได้เองไม่ว่าจะเป็นไทย,เมียนมา ,มาเลเซีย ,อินโดนีเซีย ซึ่งตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงาน แต่ไทยอม้ว่าจะผลิตก๊าซฯเอง แต่ไม่เพียงพอใช้ในประเทศจึงต้องรูปแบบของก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG ) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลก ฉะนั้นความมั่นคงทางพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเน้นการใช้ก๊าซฯเป็นพลังงานหลักควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก
ส่วนแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนมีทั้ง
การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน,การใช้พลังงานสะอาด, ,การปลูกป่า และการใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage :CCS) โดยใน 5 ปีข้างหน้า คาดว่าโครงการCCS จะเพิ่มขึ้น 500 โครงการ ปัจจุบันในสหรัฐฯมีโครงการCCSมากถึง 100โครง รวมถึงการพัฒนาไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดแต่มีต้นทุนสูงอยู่ แต่อนาคตเมื่อต้นทุนไฮโดรเจนถูกลงจะมีการนำมาใช้มากขึ้นทั้งในโรงงานอุตสาหกรรมและผสมในเชื้อเพลิงก๊าซฯในโรงไฟฟ้า
สำหรับทิศทางพลังงานไทย ยังมีทั้งโอกาสและความท้าทาย ขณะที่นโยบายภาครัฐ คือ กระทรวงพลังงาน ก็วางทิศทางส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลาเนื่องจากยังมีข้อจำกัดทั้งความเสถียรในการผลิต และต้นทุนราคาค่าไฟสูงจึงสะท้อนผ่านไปยังอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น แต่การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นของไทยเป็นเรื่องที่ดี
โดยไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศถึง 88% ดังนั้นราคาน้ำมันโลกจึงมีผลต่อราคาน้ำมันในประเทศ เพราะเราไม่ได้เป็นคนกำหนดราคาน้ำมันในโลก ในไทยมีโรงกลั่น 6โรงกลั่นอยู่ใน 3 กลุ่มคือ กลุ่มปตท. , กลุ่มบางจาก , กลุ่มเชฟรอน ทุกคนก็นำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น ซึ่งน้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่ขายในประเทศ และ ที่เหลือก็ส่งออกไปต่างประเทศ
ด้านก๊าซธรรมชาติ ประเทศไทยโชคดีที่มีแหล่งก๊าซฯคุณภาพ นำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ช่วยเพิ่ม GDPให้ประเทศไทยราว5% โดยประเทศไทยมีการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยคิดเป็นสัดส่วน 50%ของความต้องการใช้ มีการนำเข้าก๊าซฯจากจากเมียนมา 15% และนำเข้าLNG ถึง 30% ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะมีราคาถูก และช่วยลดความเสี่ยงจากการนำเข้าLNG ในช่วงที่เกิดสงครามจากต่างประเทศที่มีราคาสูง
“เราต้องให้ความสำคัญกับก๊าซฯ เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่ไทยผลิตใช้เองส่วนใหญ่ นำเข้าบ้าง ควบคู่ไปกับการลดการเรือนกระจก เพราะถึงจุดหนึ่งการลดการปล่อยคาร์บอนจะถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า และมีการเก็บภาษี”
ดังนั้น ปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย ควรจะต้องส่งเสริมและเร่งการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งใหม่ๆ ,ปลดล็อคข้อจำกัดด้านกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจน และCCS,การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization)
ทั้งนี้ ปตท.เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ มีบทบาทสำคัญในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ดูแลความมั่นคงทางพลังงาน ส่งภาษีและรายได้ให้กับประเทศ อีกด้านก็เป็น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีรายได้และกำไรจากในประเทศเพียง20% ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ เช่น ปตท.สผ.ซึ่งเป็นบริษัทลูก แม้จะมีการลงทุน E&Pในประเทศส่วนหนึ่ง แต่ก็มีการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อทำกำไรและสร้างความมั่นคงทางพลังงานในกับประเทศ
ปัจจุบัน ปตท.มีการดำเนินธุรกิจที่หลักผ่าน ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P),ธุรกิจก๊าซฯครบวงจรและลงทุนสถานีรับ-จ่าย(Terminal )LNG 3 แห่งเพื่อรองรับการนำเข้าLNG ได้แก่
1.LNG MTP Terminal แห่งที่ 1 ซึ่ง ปตท.เป็นเจ้าของ รองรับ LNG ได้ 11.5 ล้านตันต่อปี
2. LNG MTP Terminal แห่งที่ 2 ซึ่ง ปตท.ลงทุนร่วมกับ กฟผ. รองรับ LNG ได้ 7.5 ล้านตันต่อปี
3.Gulf MTP Terminal แห่งที่ 3 ซึ่งปตท.ร่วมลงทุนกับกัลฟ์ฯ รองรับLNGได้ 10.8 ล้านตันต่อปี ปัจจุบัน Terminal แห่งที่ 3 ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ,ธุรกิจเทรดดิ้ง ,ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น,ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน,ธุรกิจไฟฟ้า และการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
นายคงกระพัน ย้ำว่าปตท.ให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ซึ่งประเทศไทยจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายNet Zero ได้หากไม่มีเทคโนโลยี CCS แต่เป็นโครงการใช้เวลาในการพัฒนา 5-7 ปี ที่สำคัญยังไม่มีกฎระเบียบมารองรับ ฉะนั้นภาครัฐและเอกชนจึงต้องร่วมมือกันดำเนินการในเรื่องนี้ ส่วนต้นทุน CCS คาดว่าจะเริ่มคุ้มค่าการลงทุนชัดเจนในปี ค.ศ.2035 แต่วันนี้เราต้องเริ่มทำทั้งการสำรวจพื้นที่ กฎหมายต่างๆ เพื่อที่วันข้างหน้าเราจะยังสามารถใช้ก๊าซฯ และน้ำมันที่ยังมีคงเหลืออยู่บนโลกควบคู่กับการลดคาร์บอนไปด้วย ซึ่งกลุ่มปตท. จะเริ่มดำเนินการCCSในต่างประเทศก่อน เพื่อศึกษาเทคโนโลยี ทำความเข้าใจระบบ และในอนาคตจะขยายบทบาทCCS ออกนอกกลุ่มปตท. โดยปตท.มีแผนลงทุนโครงการCCS จัดเก็บคาร์บอนในรูปของเหลวมาเก็บในอ่าวไทยจะมี 2 ทางเลือก คือ เก็บในหลุมก๊าซฯที่ใช้หมดแล้ว และใต้ชั้นหินในทะเล คาดว่าสามารถเก็บกักคาร์บอนได้ในระดับประมาณ 10 ล้านตันต่อปีหรือมากกว่านั้น
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO