TTB ไตรมาส 2 กำไรแตะ 5,000 ลบ. ครึ่งปีหลังย้ำเติบโตอย่างรอบคอบ
ทีเอ็มบีธนชาต รายงานกำไรสุทธิ 5,004 ล้านบาท ในไตรมาส 2 รวม 6 เดือนแรกของปี 2568 มีกำไรสุทธิ 10,100 ล้านบาท ด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย หนี้เสียต่ำที่ 2.73% ครึ่งปีหลังยังคงเน้นย้ำการเติบโตอย่างรอบคอบ เดินหน้าสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นตามแผนบริหารส่วนทุน
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2 และงวด 6 เดือน ปี 2568 โดยธนาคารและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิ 5,004 ล้านบาท ในไตรมาส 2 รวม 6 เดือนแรกของปี 2568 มีกำไรสุทธิ 10,100 ล้านบาท ยังคงเน้นย้ำการมีประสิทธิภาพด้านต้นทุนเพื่อลดผลกระทบจากแรงกดดันด้านรายได้และรักษาความสามารถในการทำกำไร ด้านอัตราส่วนหนี้เสียลดลงมาอยู่ที่ 2.73% ขณะที่อัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพทรงตัวในระดับสูงที่ 149% สะท้อนแนวโน้มด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่มีเสถียรภาพและบริหารจัดการได้ตามเป้าหมาย
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต (TTB) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก อย่างไรก็ดีจากการที่ทีทีบีเน้นย้ำการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบมาโดยตลอด จึงมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีความพร้อมในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจ และสามารถดำเนินการตามแผนงานด้านต่าง ๆ ได้ตามเป้าหมาย สิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ยังคงเป็นเรื่องของการให้ความช่วยเหลือลูกค้า การเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นตามแผนบริหารส่วนทุน และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ให้มีเสถียรภาพท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ กำไรสุทธิ 5,004 ล้านบาท ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบแล้วจะเห็นว่าปรับตัวลดลง 2% จากไตรมาสก่อน และลดลง 7% จากไตรมาส 2 ปี 2567 การลดลงดังกล่าวมีสาเหตุหลักจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย และสะท้อนผลจากการปรับลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกค้าภายใต้โครงการต่าง ๆ นำโดยโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 2 มีลูกค้าทั้งรายย่อยและ SMEs เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 54,000 ราย หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อราว 31,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีโปรแกรมปรับโครงสร้างหนี้รูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม ซึ่งหนึ่งในโครงการที่เราได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ บริการ “รวบหนี้” ซึ่งมีลูกค้าเข้าร่วมกว่า 53,650 ราย ในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นจาก 37,470 ราย ในปี 2567 และ 17,000 รายในปี 2566 หรือเทียบเท่ากับว่าสามารถช่วยลูกค้าลดภาระดอกเบี้ยไปได้กว่า 2,510 ล้านบาท โดยล่าสุดธนาคารได้เปิดตัวโปรแกรมใหม่ “ผ่อนดี มีรางวัล” เพื่อตอบแทนกลุ่มลูกค้าสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ และสินเชื่อบุคคล ที่มีวินัยทางการเงินและมีประวัติการผ่อนชำระอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับความคืบหน้าของแผนการบริหารส่วนทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นนั้น ณ สิ้นไตรมาส 2 ธนาคารเสร็จสิ้นการซื้อหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพร้อมเดินหน้าสร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อต่อยอด Wealth Ecosystem เพื่อพัฒนาการให้บริการอย่างครบวงจร ด้านโครงการซื้อหุ้นคืน ดำเนินการไปแล้วกว่า 3,876 ล้านบาท จากกรอบงบประมาณ 7,000 ล้านบาท ในปี 2568 นี้
ส่วนในเรื่องของการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ เป็นสิ่งที่ทีทีบีเน้นย้ำมาตลอดและสามารถสร้างผลลัพธ์ได้ตามเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและยาว โดยหากมองในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทีทีบีสามารถควบคุมอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ให้ทรงตัวที่ 2.6% - 2.7% ถือเป็นหนึ่งในธนาคารที่มี NPL ratio ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม และหากมองภาพระยะยาวนับตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 ธนาคารสามารถลดยอดหนี้เสียได้ราว 12% จากประมาณ 44,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ระดับ 39,000 ล้านบาท สะท้อนผลสำเร็จจากการบริหารจัดการเชิงรุกและการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ รวมไปถึงการแก้หนี้เสียเชิงรุกและการช่วยลูกค้าแก้ปัญหาหนี้อย่างเหมาะสม ซึ่งส่งผลให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้ลดลงและพอร์ตสินเชื่อมีคุณภาพดีขึ้น
สำหรับช่วงที่เหลือของปี ธนาคารจะยังคงเน้นย้ำการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบต่อไป เพื่อรักษาเสถียรภาพและความแข็งแกร่งทางการเงินควบคู่กับการบริหารจัดการด้านต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความสามารถในการกำไร ทั้งนี้ ด้วยฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ธนาคารมั่นใจว่าจะสามารถคงอัตราการจ่ายเงินปันผลในระดับสูงได้แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดก็ตาม ขณะที่ประเมินว่าโครงการซื้อหุ้นคืน 3 ปี วงเงิน 21,000 ล้านบาท จะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนในตลาดทุนที่มีต่อมูลค่าของผู้ถือหุ้นได้เช่นกัน
ในประการสำคัญ ธนาคารยังคงสนับสนุนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2 รวมทั้งโครงการอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการแก้หนี้อย่างยั่งยืน และแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคารในการทำให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น”