ศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์ รับคำร้อง สั่ง แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคลิปเสียง แพทองธาร ชินวัตร สนทนา สมเด็จฮุน เซน สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ปรึกษาคดีสำคัญกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามคำร้องของพลเอกสวัสดิ์ ทัศนา และสมาชิกวุฒิสภา รวม 36 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสามประกอบมาตรา 82 พิจารณาความเป็นนายกรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ และขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 71 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 40 (8)
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9)
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แจ้งผู้ร้องทราบ และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54
สำหรับคำขอให้สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) เห็นว่า ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคสอง มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แจ้งให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องทราบ
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยจำนวน 2 คนคือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม เห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่ยุติชัดเจน ให้ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคสอง แต่เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง ให้ใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 71 ห้ามมิให้ผู้ถูกร้องใช้หน้าที่และอำนาจด้านความมั่นคง ด้านการต่างประเทศ และด้านการคลัง จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
เส้นทางคำร้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคลิปเสียงสนทนาระหว่าง น.ส.แพทองธาร กับ สมเด็จฮุน เซน ได้ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2568 วันรุ่งขึ้น 19 มิถุนายน 2568 กลุ่ม สว. นำโดย พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร และความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ได้เปิดเข้าชื่อยื่นถอดถอน น.ส.แพทองธาร ออกจากตำแหน่งนายกฯ รวมถึงยื่นคำร้องเอาผิด น.ส.แพทองธาร ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
“คิดว่าเป็นการตัดสินใจของฝ่ายรัฐบาล แต่ในความรู้สึกของประชาชนคนไทย ข้าราชการ ทหาร มองว่านายกรัฐมนตรีไม่มีความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินไปแล้ว โดยเฉพาะกรณีที่บอกว่าแม่ทัพภาคที่สองไม่ได้เป็นพวกเรา กลายเป็นว่านายกรัฐมนตรีไทยกับประธานวุฒิสภาของกัมพูชาเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งตรงนี้คงไปไม่ได้แล้ว”
“เราเรียกร้องให้ลาออก พร้อมทั้งดำเนินการตามกฎหมาย ตามบทบาทหน้าที่ที่สามารถทำได้” พล.อ.สวัสดิ์กล่าวเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน
20 มิถุนายน 2568 สว.รวบรวมรายชื่อ 36 คน ยื่นคำร้องผ่านนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญทันที โดยคำร้องระบุว่า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามคำร้องของพลเอกสวัสดิ์ ทัศนา และสมาชิกวุฒิสภา รวม 36 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสามประกอบมาตรา 82
1.ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
2.ขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 71 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 40 (8) ทั้งนี้ ในเอกสารประกอบคำร้องได้บรรยายพฤติกรรม น.ส.แพทองธาร ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ดังนี้
“ให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เนื่องจากปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่า ผู้ถูกร้องมีความสัมพันธ์ส่วนตัวและแอบเจรจากับประธานวุฒิสภากัมพูชาในลักษณะเป็นภัยต่อความมั่นคงอาณาเขตไทย และอำนาจอธิปไตยของไทย อันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงและยากแก่การเยียวยาในภายหลัง ดังนั้น เพื่อป้องกันความรุนแรงอันใกล้ที่จะถึง ประกอบกับคำร้องของผู้ร้องมีเหตุอันมีน้ำหนักที่ศาลจะวินิจฉัยให้เป็นไปตามคำร้อง จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการเป็นการชั่วคราว โดยสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย”
สุริยะ ทำหน้าที่แทน
กรณี น.ส.แพทองธาร ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ใน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 41 และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง กำหนดการรักษาราชการแทนนายกฯ ไว้ว่า มาตรา 41 บัญญัติว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง ให้ผู้รักษาราชการแทนตามความในพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน
ซึ่งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 320/2567 สั่งเมื่อ 17 กันยายน 2567 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีและมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง ให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว วางรองนายกฯ ที่ปฏิบัติราชการแทน โดยลำดับที่ 1 คือนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ลำดับที่ 2 คือนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รวม.คมนาคม ดังนั้น เมื่อนายภูมิธรรมพ้นจากตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม คนที่จะขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทนคือนายสุริยะ
สุริยะ นำ ครม.ใหม่ ถวายสัตย์ได้
ในขณะเดียวกัน การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแพทองธาร 1/1 นายกฯ ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้วนั้น เมื่อมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากนายกฯ ถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ และทำหน้าที่ไม่ได้ ก็ต้องให้รองนายกฯ ที่รักษาการนายกฯ เป็นผู้นำ ครม.ใหม่ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ยืนยันไม่กระทบกับการปรับ ครม.
ถ้าพ้นตำแหน่ง รักษาการมีอำนาจเต็ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากสุดท้าย น.ส.แพทองธาร ต้องพ้นจากตำแหน่ง (ไม่มีนายกฯ) นายกฯ รักษาการ มีอำนาจเต็มทุกประการ จนกว่าจะเลือกนายกฯ คนใหม่ มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งจะต่างกับกรณีที่สภาครบวาระ 4 ปี หรือยุบสภา ที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 169 ระบุให้รัฐบาลทำหน้าที่ต่อไปภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อ
1.ไม่อนุมัติงาน หรือโครงการ หรือมีผลสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่กำหนดไว้ตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี
2.ไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน ทั้งในหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ เว้นแต่ กกต.อนุมัติ
3.ไม่อนุมัติงบประมาณสำรองจ่ายฉุกเฉิน-จำเป็น เว้นแต่ กกต.อนุญาต
4.ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ กระทำอันใดที่มีผลต่อการเลือกตั้ง หรือฝ่าฝืนข้อห้าม ระเบียบของ กกต.
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์ รับคำร้อง สั่ง แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net