ไม่อยากเชื่อ! เด็กวัย 9 ขวบไม่มีโรคประจำตัว แต่ตับแข็งแล้ว เพราะสิ่งนี้ที่หลายบ้านมองข้าม
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. เพจ Tensia ซึ่งเป็นเพจของแพทย์ด้านสุขภาพตับและระบบทางเดินอาหาร ได้เผยกรณีศึกษาในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเคสที่น่าตกใจและเตือนใจที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
กรณีนี้เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2020 โดยเป็นเด็กชายวัยเพียง 9 ขวบ ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) สูงถึง 32.1 ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะอ้วนขั้นรุนแรง เด็กคนดังกล่าวเริ่มมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ และปวดท้องบริเวณด้านขวา เมื่อเข้ารับการตรวจ พบค่าการทำงานของตับผิดปกติอย่างชัดเจน
แพทย์ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด รวมถึงตัดชิ้นเนื้อตับส่งตรวจ ผลปรากฏว่า ตับมีไขมันแทรกในเซลล์จำนวนมาก และเริ่มมีพังผืดเกิดขึ้นในระดับที่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเริ่มเข้าสู่ภาวะ "ตับแข็ง" แล้ว
ย้อนกลับไปเมื่ออายุ 5 ขวบ เด็กชายคนนี้เคยเข้าตรวจที่โรงพยาบาล พบว่ามีค่าตับสูง และแพทย์ได้แนะนำให้ปรับพฤติกรรมการกินโดยเน้นอาหารแบบ Mediterranean ที่เน้นผัก ธัญพืช และลดคาร์โบไฮเดรต แต่ทางครอบครัวไม่ได้ให้ความร่วมมือ และไม่ได้มาติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง จนทำให้อาการพัฒนามาจนถึงจุดอันตราย
แพทย์ระบุว่า แม้เด็กจะไม่มีโรคประจำตัว ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีภาวะเสี่ยงอื่นใด แต่ความอ้วนเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับและพัฒนาไปสู่ภาวะตับแข็งได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
“แม้จะเป็นเคสที่ดูรุนแรง แต่ก็สะท้อนชัดเจนว่า ภาวะอ้วนในเด็กไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไป” ทีมแพทย์เตือนพร้อมระบุว่า โรคตับจากภาวะเมตาบอลิซึม (MAFLD) กำลังกลายเป็นภัยเงียบในวัยเด็ก
เด็กชายรายนี้ได้รับการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับและโภชนาการเพื่อวางแผนการดูแลระยะยาว ซึ่งทีมแพทย์คาดว่าจะสามารถชะลอการพัฒนาของโรคได้หากได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
บทเรียนสำคัญ
แม้เด็กจะยังเล็ก แต่ร่างกายสามารถตอบสนองต่อภาวะอ้วนในลักษณะเดียวกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะภาวะไขมันพอกตับ ที่ไม่แสดงอาการในระยะแรกแต่ส่งผลร้ายแรงในระยะยาวได้
คำแนะนำจากแพทย์
ควรใส่ใจอาหารการกินตั้งแต่เด็ก
หมั่นตรวจสุขภาพเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะในกรณีที่มีน้ำหนักเกิน
พฤติกรรมการกินในครอบครัวมีผลต่อสุขภาพเด็กโดยตรง
ขอบคุณเพจ Tensia