“รอง ปธน. ไต้หวัน” เตือน “จีน” หยุดยั่วยุ ย้ำไต้หวันไม่ยอมจำนน เร่งเสริมแกร่งกองทัพ-พลเรือน
"รอง ปธน. ไต้หวัน" เรียกร้องให้จีนยุติการยั่วยุทางทหาร พร้อมย้ำว่าไต้หวันไม่ต้องการความขัดแย้ง แต่ก็จะไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดันใด ๆ เดินหน้าปรับยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ
วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.15 น. สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในช่องแคบไต้หวันเซียว ปี้ขิม รองประธานาธิบดีไต้หวัน ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเปิดการเจรจากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของไต้หวันอย่างเสมอภาคและให้เกียรติ พร้อมประณามท่าทีทางทหารที่ก้าวร้าวของจีนว่าเป็นอุปสรรคต่อสันติภาพและความมั่งคั่งของประชาชนทั้งสองฝั่ง
“เราไม่ต้องการความขัดแย้ง และจะไม่ยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้า” เซียวกล่าวในการแถลงข่าวต่อคณะผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ณ กรุงไทเป เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พร้อมเน้นว่า “ท่าทีทางทหารอันก้าวร้าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ และบั่นทอนโอกาสของประชาชนทั้งสองฝั่งช่องแคบในการแสวงหาความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน”
แถลงการณ์มีขึ้นหลังจากรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) เรียกร้องซ้ำ ๆ ให้จีนลดการซ้อมรบและการแสดงแสนยานุภาพทางทหารรอบไต้หวัน รวมถึงปฏิบัติการสงครามการเมืองที่มุ่งบั่นทอนความมั่นคงของไต้หวัน อย่างไรก็ตามจีนยังคงปฏิเสธที่จะเจรจากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนตอบโต้ว่า“ไม่ว่าพรรค DPP จะพูดหรือทำอะไร ก็ไม่สามารถเปลี่ยนความจริงที่ว่า ทั้งสองฝั่งช่องแคบเป็นส่วนหนึ่งของจีนเดียว”
เซียว ปี้ขิม เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไต้หวันประจำสหรัฐ ระหว่างปี 2563–2566 และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักการทูตหญิงที่มีบทบาทสูงสุดในการผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับวอชิงตัน และเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2543 และมีบทบาทอย่างมากในการผลักดันเรื่องอธิปไตยของไต้หวันในเวทีระหว่างประเทศ
เซียวกล่าวว่าขณะนี้ไต้หวันกำลังเผชิญแรงกดดันในหลายมิติจากจีน ไม่เพียงแต่ในทางทหาร แต่ยังรวมถึงด้านเศรษฐกิจ การเมือง จิตวิทยา และการบ่อนทำลายภายในประเทศ โดยตลอดปีที่ผ่านมา แรงกดดันเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ในวันเดียวกันรัฐบาลไต้หวันได้สรุปการฝึกซ้อมทางทหารประจำปี “Han Kuang” ซึ่งในปีนี้มีการบูรณาการการฝึกซ้อมเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นของสังคมในภาวะวิกฤต (urban resilience) เข้าด้วย เซียวเน้นว่าการป้องกันประเทศของไต้หวันไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่ฮาร์ดแวร์ทางทหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงยุทธศาสตร์ การฝึก ความพร้อมรบ และการมีส่วนร่วมของพลเรือน
“เรากำลังสร้างกองกำลังที่มีขีดความสามารถ น่าเชื่อถือ และตอบสนองต่อภัยคุกคามเฉพาะหน้าได้จริง …การฝึกซ้อมในปีนี้ครอบคลุมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ การฟื้นตัวทางการเงิน ที่พักพิง การตอบสนองฉุกเฉิน และการฝึกพลเรือน เพื่อรับมือทั้งภัยคุกคามจากภายนอกและภัยธรรมชาติเช่นแผ่นดินไหวและไต้ฝุ่น”
เมื่อถูกถามถึงรายงานข่าวล่าสุดจากสาธารณรัฐเช็กว่าเจ้าหน้าที่ทูตจีนเคยวางแผนก่ออุบัติเหตุทางรถยนต์ระหว่างที่เธอเยือนยุโรปเมื่อปี 2567 เซียวตอบอย่างหนักแน่นว่าเธอจะไม่ยอมจำนนต่อการข่มขู่หรือแผนคุกคามใด ๆ จากจีน
“ดิฉันจะไม่ยอมให้ความพยายามเหล่านี้หยุดเสียงของดิฉัน หรือหยุดไม่ให้ดิฉันพูดในนามของประชาชนไต้หวัน” เธอกล่าวอย่างเด็ดเดี่ยว พร้อมเสริมว่าหลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มตระหนักถึงแรงกดดันและอิทธิพลที่จีนพยายามขยายไปยังต่างประเทศ ไม่เพียงต่อไต้หวัน แต่รวมถึงผู้ลี้ภัยและนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชาวจีนในประเทศอื่นด้วย
ด้าน เซอร์ กาวิน วิลเลียมสัน อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของสหราชอาณาจักร ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia ว่า ความเงียบของประชาคมโลกมีแต่จะยิ่งเปิดทางให้การกระทำผิดกฎหมายเช่นนี้เกิดซ้ำซาก “หากโลกยังคงนิ่งเงียบ มันจะยิ่งส่งสัญญาณผิด ๆ ว่าพฤติกรรมแบบนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับได้”
ในช่วงเวลาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกกำลังเผชิญแรงสั่นสะเทือนจากการแข่งขันด้านอิทธิพลและความมั่นคง เซียว ปี้ขิม ยังคงยืนหยัดในจุดยืนของไต้หวัน พร้อมส่งสารชัดเจนไปยังทั่วโลกว่าไต้หวันจะไม่ยอมถูกกลืน และจะปกป้องเสรีภาพของตนด้วยความเข้มแข็งและมีสติ
อ้างอิง : asia.nikkei.com