ภาษี 36% สหรัฐกดดันไทย ต้องใช้ “‘ดีลใหญ่” เจรจาเท่านั้นถึงจะรอด
โดยล่าสุดไทยอยู่ในกลุ่มที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 36% ทั้งนี้หากข้อเสนอหรือดีลใหม่ที่ไทยเสนอไม่ได้รับการตอบสนองจากฝั่งสหรัฐ ไทยจะเผชิญความเสี่ยงเชิงโครงสร้างด้านการค้าในตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ทั้งนี้เปรียบเทียบอัตราภาษีไทยกับคู่แข่งย่านอาเซียนและเอเชียด้วยกันที่ได้รับการประกาศจากสหรัฐ ณ ปัจจุบัน ไทยจะถูกจัดเก็บที่ 36%(ยังไม่มีข้อสรุปสุดท้าย) เวียดนาม 20% (ปิดดีลแล้ว จากเดิมเสีย 46%),มาเลเซีย 25% (อยู่ระหว่างเจรจา), อินโดนีเซีย 19% (ปิดดีลแล้วจากเดิมเสีย 32%) ญี่ปุ่น/เกาหลีใต้ 25% (อยู่ระหว่างเจรจา)
จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราภาษีสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้ ต้นทุนสินค้าส่งออกของไทยสูงกว่าคู่แข่งโดยตรงในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งสามารถปิดดีลเจรจาภาษีสำเร็จและได้อัตราเพียง 20% เท่านั้น
ขณะที่ กลุ่มสินค้าไทยที่มีความเสี่ยงสูงในการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยกลุ่มสินค้าที่มีลักษณะ “ซ้อนทับ” กับคู่แข่ง และมีสัดส่วนส่งออกสูงไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ อาหารแปรรูป และอาหารทะเลที่ต้องแข่งขันกับเวียดนาม อินโดนีเซีย, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องแข่งขันกับมาเลเซีย และเวียดนาม
ผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ถุงมือยาง ยางพาราแปรรูป ต้องแข่งขันกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย, เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ต้องแข่งขันกับกับเวียดนาม, สิ่งทอ และเสื้อผ้า ต้องแข่งขันกับเวียดนาม และบังกลาเทศ เป็นต้น
กรณีเลวร้าย หากภาษีไทยยังอยู่ที่ 36% เทียบกับเวียดนาม 20% หมายถึง ไทยจะมีภาระต้นทุนภาษีสูงกว่าเวียดนามถึง 16 % ซึ่งเป็นระดับที่อาจทำให้สินค้าของไทยสูญเสียคำสั่งซื้อโดยตรง และห่วงโซ่อุปทานของไทยจะถูกลดบทบาทลงในระยะกลาง–ยาว
อย่างไรก็ดี โอกาสที่ไทยจะได้รับการปรับลดภาษีลงจาก 36% จะเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าความเสียเปรียบหรือได้เปรียบของสินค้าไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งขันจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ โอกาสที่ไทยจะได้รับการปรับลดภาษีลงเหลือในระดับ 30–32% มีความเป็นไปได้ระดับ “ปานกลาง” ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าไทยจะสามารถชี้แจง ระดับการค้าที่เป็นธรรมและช่วยลดการขาดดุลการค้าในสายตาของสหรัฐได้มากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ไทยคงต้องเสนอแผนการเปิดตลาดตอบแทนที่จับต้องได้ เช่น การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตร /พลังงานจากสหรัฐ การขจัดมาตรการหรือกฎระเบียบที่สหรัฐมองว่าไทยใช้เป็นมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี(NTBs) กับสินค้าจากสหรัฐ เช่น ในกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ อาทิ เนื้อหมู เนื้อวัว เป็นต้น
ส่วนโอกาสการลดภาษีของไทยลงเหลือ 25% เทียบเท่าญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ณ เวลานี้มีโอกาสความเป็นไปได้ในระดับ “ต่ำ-ปานกลาง” ยกเว้นจะมีเงื่อนไขหรือข้อตกลงในระดับรัฐบาล ที่ไทยยอมเปิดตลาดหรือเสนอสิทธิพิเศษเชิงโครงสร้างอย่างมีนัย เช่น การเซ็น MOU ความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐอย่างเต็มรูปแบบ การไปลงทุนของไทยในสหรัฐที่ช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ และการจ้างงานในสหรัฐ รวมถึงการซื้อเครื่องบิน หรือสินค้าอาวุธล็อตใหญ่จากสหรัฐเพิ่มเติม และการรับรองระบบภาษี/ ภาษีดิจิทัลที่เอื้อต่อ Big Tech ของสหรัฐ เป็นต้น
ขณะที่โอกาสภาษีลดเหลือ 20% หรือ ต่ำกว่า 20% ในเบื้องต้นนี้มีความเป็นไปได้ “ต่ำมาก” ซึ่งการที่ไทยจะได้อัตราภาษีต่ำเท่ากับเวียดนามหรือต่ำกว่า ไทยอาจต้องลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐให้เป็น 0% จำนวนมากในสินค้าที่สหรัฐมีศักยภาพส่งออกมาไทย ในกลุ่มสินค้าที่เป็นฐานเสียงสำคัญของรัฐบาลทรัมป์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว และอื่น ๆ
นอกจากนี้จะต้องมี “แพ็กเกจเจรจาเชิงยุทธศาสตร์” ที่สหรัฐเห็นว่าไทยมีความสำคัญต่อความมั่นคงในภูมิภาค (อินโด–แปซิฟิก) การเป็นซัพพลายเชนด้านเทคโนโลยี เช่น ในอุปกรณ์กึ่งตัวนำ หรือการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐในด้านต่าง ๆ เพื่อคานอำนาจจีน
บทสรุปไทยต้องเร่งปิดดีลการค้ากับสหรัฐพร้อมแนบเงื่อนไขที่สหรัฐปฏิเสธไม่ได้ อย่างไรก็ตามหากไทยยังไม่สามารถเจรจา และปิดดีลให้ระดับภาษีลดต่ำลงจากระดับ 36% ลงได้ สิ่งที่คาดว่าจะตามมาคือ ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ ไทยจะสูญเสียคำสั่งซื้อจากตลาดสหรัฐ อย่างถาวรในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีคู่แข่งเวียดนามและมาเลเซียเป็นผู้นำ
ดังนั้นข้อเสนอของไทยจะต้องไม่ใช่แค่เชิงการค้า แต่ต้องเป็น “ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์” (strategic offer) ที่ช่วยสนับสนุนเป้าหมายของสหรัฐ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อให้สหรัฐมีเหตุผลทางการเมือง ที่จะปรับลดภาษีให้ไทยได้