โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เข้าพรรษา 2568 "บวชเณร-พระ" สืบสานพุทธศาสนาและพัฒนาตน

Thai PBS

อัพเดต 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • Thai PBS
การบวชในศาสนาพุทธ ไม่เพียงสืบทอดศาสนา ทดแทนคุณพ่อแม่ แต่ยังเป็นหนทางพัฒนาตนเองและสร้างบุญใหญ่ โดยเฉพาะช่วงเข้าพรรษาที่เหมาะสมด้วยสภาพแวดล้อม โอกาสปฏิบัติธรรมเข้มข้น แม้ความนิยมการบวชลดลงในยุคสมัยใหม่ แต่คุณค่าทางจิตใจยังคงดึงดูดใจเสมอ

"การบวช" ในพระพุทธศาสนาเป็นประเพณีที่หยั่งรากลึกในวัฒนธรรมไทยมานานนับพันปี เป็นมากกว่าพิธีกรรมทางศาสนา แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านชีวิตจากความเป็นฆราวาสสู่หนทางแห่งความบริสุทธิ์และการหลุดพ้นจากกิเลส คำว่า "การบวช" ในภาษาบาลีแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ได้แก่

  • การบรรพชา (ปพฺพชฺชา) หมายถึงการบวชเป็นสามเณร อันเป็นการละทิ้งความชั่วและเริ่มต้นฝึกฝนตนเอง
  • การอุปสมบท (อุปสมฺปทา) เป็นการบวชเป็นพระภิกษุที่มีศีล 227 ข้อ เพื่อมุ่งสู่การปฏิบัติธรรมอย่างเต็มรูปแบบ

การบวชจึงเปรียบเสมือนการทิ้งวิถีชีวิตเดิม เพื่อก้าวสู่หนทางใหม่ที่มุ่งเน้นการขัดเกลาจิตใจและการรักษาศีล

ในสมัยพุทธกาล การบวชมีถึง 8 รูปแบบ ตั้งแต่การที่พระพุทธเจ้าทรงประทานการอุปสมบทให้แก่พระสาวก เช่น พระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งเป็นการสืบทอดศาสนทายาทในระยะแรกโดยตรง ต่อมา พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสาวกสามารถบรรพชาและอุปสมบทกุลบุตรได้เอง ทำให้การสืบทอดศาสนามีความเป็นระบบมากขึ้น การบวชในยุคนั้นมุ่งเน้นการเรียนรู้พระธรรมวินัยอย่างลึกซึ้ง เรียกว่า "การบวชเรียน" ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่

ความสำคัญ-เหตุผล "การบวช" ในสังคมไทย

ในสังคมไทย การบวชไม่เพียงเป็นการปฏิบัติศาสนกิจ แต่ยังมีความหมายทางวัฒนธรรมและสังคมอย่างลึกซึ้ง เหตุผลที่คนไทยนิยมบวชมีหลากหลาย ดังนี้

  • ทดแทนบุญคุณบิดามารดา

คนไทยเชื่อว่าการบวชเป็นบุญใหญ่ที่ช่วยให้พ่อแม่ สมาชิกครอบครัว ได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ ซึ่งเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้ให้กำเนิด การบวชเพื่อทดแทนคุณถือเป็นประเพณีที่ฝังรากลึกในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงวัยหนุ่มที่มักบวชก่อนแต่งงานหรือเริ่มต้นชีวิตการทำงาน

ภาพประกอบข่าว

  • สร้างบุญกุศล-หักล้างบาป

มีความเชื่อของสังคมไทยว่า การบวชเป็นการสร้างบุญใหญ่ที่ช่วยชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ลดวิบากกรรมจากหนักให้เป็นเบา หรือจากเบาให้หายไป ผู้บวชที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมสามารถสะสมบุญเพื่อส่งผลดีในชาติปัจจุบันและชาติหน้า

  • ศึกษาพระธรรมวินัย

การบวชเปิดโอกาสให้ผู้บวชได้เรียนรู้คำสอนของพระพุทธเจ้าในเชิงลึก ทั้งในด้านศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น

  • ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ในอดีต การบวชเป็นช่องทางให้บุคคลจากทุกชนชั้นมีโอกาสยกระดับสถานะทางสังคม โดยเฉพาะผู้ที่มาจากครอบครัวยากจนสามารถได้รับการยอมรับผ่านการเป็นพระสงฆ์

  • สืบทอดพระพุทธศาสนา

การบวชช่วยรักษาความเจริญของพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน โดยเฉพาะการบวชเป็นพระภิกษุที่รักษาศีล 227 ข้อ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด

ภาพประกอบข่าว

ทำไมต้องบวชช่วงเข้าพรรษา ?

ช่วงเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ในปีนี้ตรงกับวันที่ 11 ก.ค.2568 เป็นช่วงเวลาพิเศษที่พระภิกษุต้องจำพรรษาอยู่ประจำที่วัดเป็นเวลา 3 เดือนตามพระวินัย เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางที่อาจทำลายพืชผลหรือสัตว์เล็ก ๆ ในช่วงฤดูฝน ด้วยเหตุนี้ การบวชช่วงเข้าพรรษาจึงถือเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างบุญกุศลและพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ การบวชในช่วงนี้มีความพิเศษหลายประการ ได้แก่

  • สภาพอากาศเหมาะสม ฤดูฝนในประเทศไทยมีอากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป ทำให้เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
  • ครูบาอาจารย์พร้อมสอน พระสงฆ์ผู้เป็นครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่จะจำพรรษาอยู่ที่วัด ทำให้พระใหม่มีโอกาสได้รับคำแนะนำและการถ่ายทอดธรรมะอย่างใกล้ชิด
  • บรรยากาศคึกคัก ช่วงเข้าพรรษามีผู้บวชจำนวนมาก ทั้งสามเณรและพระภิกษุ สร้างบรรยากาศการเรียนรู้และปฏิบัติธรรมร่วมกันอย่างมีชีวิตชีวา
  • ญาติโยมร่วมทำบุญ ในช่วงนี้ ญาติโยมมักมาทำบุญที่วัดบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในวันพระและวันสำคัญ ทำให้พระใหม่มีโอกาสฟังเทศน์ แลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน

ความนิยม "การบวช" พุทธกาลถึงปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าการบวชจะมีความสำคัญ แต่ในยุคปัจจุบัน ความนิยมในการบวชลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้คนมักเลือกบวชในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 3, 7, 15 วัน หรือ 1 เดือน เนื่องจากข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ความรับผิดชอบในการทำงาน การเลี้ยงดูครอบครัว และภาระทางการเงิน

นอกจากนี้ ข้อมูลจากวารสาร มจร สังคมศาสตร์ปริทรรศน์ เรื่องการบวชเป็นศาสนทายาทในพุทธศาสนาแบบเถรวาท โดยพระมหาทวี วิสารโท ระบุว่า มีข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระภิกษุหรือสามเณรบางรูป เช่น การละเมิดศีลหรือการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้พุทธศาสนิกชนบางส่วนเสื่อมศรัทธา บางคนมองว่าการบวชเป็นการเอาเปรียบสังคม หรือเป็นภาระ เนื่องจากต้องพึ่งพาการถวายปัจจัยจากญาติโยม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ลดทอนคุณค่าของการบวชที่ทำด้วยจิตศรัทธา การบวชที่ตั้งใจและปฏิบัติตามพระวินัยยังคงเป็นหนทางสำคัญในการสืบทอดพระพุทธศาสนาและพัฒนาจิตใจ

ภาพประกอบข่าว

ศาสนกิจของสงฆ์

เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ผู้บวชต้องปฏิบัติตาม กิจวัตร ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติประจำวันเพื่อขัดเกลากิเลสและฝึกฝนตนเองกิจวัตรเหล่านี้รวมถึง

  • การลงอุโบสถ การรวมตัวกันของพระสงฆ์ในวันพระเพื่อสวดปาฏิโมกข์และพิจารณาศีล
  • การบิณฑบาต รับอาหารจากญาติโยมเพื่อฝึกความถ่อมตนและความพอเพียง
  • การสวดมนต์เช้า-เย็น เพื่อเจริญสติและระลึกถึงพระธรรม
  • การปัดกวาดอาวาส ทำความสะอาดวัดเพื่อฝึกความรับผิดชอบและความเป็นระเบียบ
  • การรักษาผ้าครอง ดูแลผ้าไตรจีวรให้สะอาดและเรียบร้อยตามพระวินัย
  • การพิจารณาปัจจัย 4 ไตร่ตรองถึงความจำเป็นของอาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม เพื่อลดความยึดติด
  • การปรนนิบัติพระอาจารย์ เพื่อแสดงความเคารพและเรียนรู้
  • การปลงอาบัติ สารภาพและแก้ไขข้อผิดพลาดตามพระวินัย

นอกจากนี้ พระภิกษุต้องรักษา สิกขาบท 227 ข้อ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเพื่อความเรียบร้อยของคณะสงฆ์ เช่น การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การพูดเท็จ และการประพฤติผิดในกาม

ถ้าจะบวชต้องเตรียมตัว-ค่าใช้จ่ายอย่างไร

  • กำหนดวันและฤกษ์ เลือกวันที่เหมาะสม โดยมักเลือกช่วงเข้าพรรษาหรือวันสำคัญทางศาสนา

  • ติดต่อวัดและพระอุปัชฌาย์ เพื่อขอคำแนะนำและกำหนดพระอุปัชฌาย์ที่เป็นผู้บวชให้

  • ฝึกท่องบทสวด "คำขานนาค" ซึ่งเป็นบทสวดในพิธีอุปสมบท

  • จัดเตรียมสถานที่และปัจจัย รวมถึงอาหารสำหรับเลี้ยงพระและแขก เครื่องบวช เช่น ผ้าไตรจีวร และของใช้จำเป็น

  • พิธีการ เริ่มด้วยการปลงผมนาค ขอขมาบิดามารดา และดำเนินพิธีอุปสมบทในโบสถ์

  • ค่าใช้จ่ายในการบวชขึ้นอยู่กับขนาดของงาน โดยเฉลี่ย

  • พิธีปลงผม 1,000-2,000 บาท

  • พิธีอุปสมบทและเลี้ยงเพลพระ 5,000-10,000 บาท

  • เหรียญโปรยทาน 500-1,000 บาท

  • นางรำหรือแตรวง 5,000-10,000 บาท

  • ชุดเครื่องบวช 3,000-15,000 บาท

ภาพประกอบข่าว

อานิสงส์ "การบวช"

การบวชในพระพุทธศาสนาถือเป็นมหากุศลที่ให้ผลบุญยาวนานถึง 64 กัป หากผู้บวชและผู้สนับสนุนไม่เคยทำอนันตริยกรรม หรือ กรรมหนัก เช่น ฆ่าพ่อแม่ หรือทำให้สงฆ์แตกแยก อานิสงส์ที่สำคัญ ได้แก่

  • ยกระดับสถานะจากฆราวาสกลายเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัยที่ได้รับการเคารพจากมนุษย์และเทวา
  • ศึกษาธรรมะ ได้เรียนรู้คำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อพัฒนาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น
  • มีโอกาสบรรลุธรรมในระดับต่างๆ จนถึงมรรค ผล นิพพาน
  • สะสมบุญกุศล แม้ไม่บรรลุธรรมในชาตินี้ บุญจากการบวชจะเป็นรากฐานสู่การบรรลุธรรมในชาติหน้า
  • ตัดรอนวิบากกรรม ช่วยลดกรรมหนักให้เบาลง หรือทำให้หายไป
  • ส่งเสริมความก้าวหน้า บุญจากการบวชช่วยสนับสนุนความเจริญในหน้าที่การงานและชีวิต
  • ปิดอบายภูมิ เปิดทางสู่สุคติภูมิให้ตนเองและบิดามารดา
  • สืบทอดพระพุทธศาสนา ช่วยให้ศาสนาคงอยู่และสร้างความสามัคคีในพุทธบริษัท

การบวชในพระพุทธศาสนาเป็นมากกว่าพิธีกรรม แต่เป็นการปฏิบัติตนเพื่อความบริสุทธิ์และการสืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้ว่าความนิยมการบวชในยุคสมัยใหม่จะลดลงจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม แต่คุณค่าทางจิตวิญญาณและอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ยังคงเป็นแรงจูงใจสำคัญ การบวชช่วงเข้าพรรษาเป็นโอกาสทองที่มอบทั้งบุญกุศลและโอกาสในการพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะบวชเพื่อทดแทนคุณพ่อแม่ สร้างบุญ หรือรักษาศาสนา

การบวชคือหนทางที่นำไปสู่ความเจริญทั้งในชาตินี้และชาติหน้า สาธุ

ภาพประกอบข่าว

แหล่งที่มา : วารสาร มจร สังคมศาสตร์ปริทรรศน์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2560, บทความวิจัย การส่งเสริมการปฏิบัติกิจวัตรของพระสงฆ์ไทยในยุค 4.0, งานบวช พิธีกรรมเคียงคู่คนไทยพุทธศาสนา, ประโยชน์ของการบรรพชาและอุปสมบท, บวชในช่วงเข้าพรรษา ดีอย่างไร

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Thai PBS

มังคุด ผลไม้ฤทธิ์เย็น หวานชื่นใจ แต่ใครต้องกินอย่างระวัง

14 นาทีที่แล้ว

ค้นบ้าน-อายัดมือถือ "สีกา" หาหลักฐาน "เจ้าคุณอาชว์" ทุจริตเงินวัดหรือไม่

25 นาทีที่แล้ว

ทบ.แจงปมทหารไทย-กัมพูชาลาดตระเวนจุดชมวิวภูผี ไม่มีเหตุรุนแรง

54 นาทีที่แล้ว
วิดีโอ

"รัฐ จำปามูล" ผุดโปรเจ็กต์ เทศกาลแอนิเมชันนานาชาติภูแล

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าว ไลฟ์สไตล์ อื่น ๆ

มังคุด ผลไม้ฤทธิ์เย็น หวานชื่นใจ แต่ใครต้องกินอย่างระวัง

Thai PBS

อยากมีอินเนอร์ต้องทำอย่างไร วิธีพัฒนาตัวเองให้เปล่งประกายจากข้างใน

sanook.com

LYKN ปล่อยซิงเกิล น้ำหยดลงหิน (DRIP) ที่มี URBOYTJ มานั่งแท่นโปรดิวเซอร์

THE STANDARD

This page is intentionally left ___. ภาษา อำนาจ และประชาชน นิทรรศการศิลปะเชิงพื้นที่ จากจุดตั้งต้นของ ‘พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย’ ที่เขียนในคุกตะรุเตา สู่การตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์ซึ่งสะท้อนมาถึงปัจจุบัน โดยกลุ่ม ‘ยุงลายคอลเลคทีฟ’

Mirror Thailand

คนยุคใหม่ต้อง GO! ส่องไลฟ์สไตล์ไม่หยุดนิ่ง พร้อมออกไปใช้ชีวิตให้สุด!

คมชัดลึกออนไลน์

“เที่ยวไทยคนละครึ่ง” เริ่มต้นสุดพัง ชาวเน็ตเรียกหาแอป “เป๋าตัง” สมัย รบ.ลุงตู่

Manager Online

ข่าวและบทความยอดนิยม

ศาลฎีกาฯ ไต่สวนพยานได้ 5 ปาก คดี "ทักษิณ" ชั้น 14 นัดต่อไป 8 ก.ค.

Thai PBS

เข้าพรรษา 2568 "บวชเณร-พระ" สืบสานพุทธศาสนาและพัฒนาตน

Thai PBS

"ภูมิธรรม" มอบนโยบายมหาดไทย ยืนยัน "ล้างบางสิงห์แยกสี"

Thai PBS
ดูเพิ่ม
Loading...