This page is intentionally left ___. ภาษา อำนาจ และประชาชน นิทรรศการศิลปะเชิงพื้นที่ จากจุดตั้งต้นของ ‘พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย’ ที่เขียนในคุกตะรุเตา สู่การตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์ซึ่งสะท้อนมาถึงปัจจุบัน โดยกลุ่ม ‘ยุงลายคอลเลคทีฟ’
อาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มหึมา 6 ชั้น ริมถนนไมตรีจิตต์ ไม่ไกลจากวงเวียน 22 กรกฎา เดิมเคยเป็นที่ตั้งของ ‘ไทยวัฒนาพานิช’ สำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์ตำราหนังสือเรียนของคนไทย มาอย่างยาวนานมากกว่า 40 ปี ที่ใครหลายคน (ถ้าทันได้มีโอกาสใช้หนังสือเรียนของที่นี่) อาจจดจำได้จากสัญลักษณ์รูปวงกลม 3 วงซ้อนทับกันไปมา กับอักษรย่อ ทวพ. ซึ่งนับว่ามีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ในแง่ของการเป็นโรงพิมพิมพ์ผู้บุกเบิกสื่อสิ่งพิมพ์ และวิวัฒนาการของการศึกษาไทย
แต่หลังจากการเกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่ บวกกับบทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาเริ่มเลือนหายไปตามยุคสมัย สำนักพิมพ์จึงเลิกกิจการ และถูกปิดร้างมานานกว่า 2 ทศวรรษ จนกระทั่งปัจจุบัน อาคารแห่งนี้ถูกฟื้นกลับมาเป็นที่ตั้งของ Bangkok Kunsthalle อาร์ตสเปซที่ตั้งใจเป็นศูนย์กลางของการจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินรุ่นใหม่ทั่วโลก
This page is intentionally left ___. นิทรรศการศิลปะเชิงพื้นที่ โดยคิวเรเตอร์อย่างกลุ่มยุงลายคอลเลคทีฟ ที่ต้องการนิยามคำว่า ‘โรงพิมพ์’ ขึ้นมาใหม่ในบริบทของยุคสมัยปัจจุบัน ล้อเลียนกับระบบการทำงานของโรงพิมพ์ยุคเก่า ด้วยการตั้งสมมติฐานว่า หากวันนี้โรงพิมพ์ในยุครุ่งเรืองที่เคยมีอิทธิพลต่อการศึกษาและรับรู้ของคนไทยมาหลายเจนเนอเรชั่น ไม่ใช่ศูนย์กลางของอำนาจการกระจายความรู้หรือชุดข้อมูลให้กับผู้คนอีกต่อไปแล้ว โรงพิมพ์ในบริบทของปัจจุบันจะเป็นอย่างไร มีหน้าตาแบบไหน และยังสามารถสร้างอิทธิพลในการรับรู้ได้อยู่หรือเปล่า?
จากคำถามนี้เองที่กลุ่มยุงลายคอลเลคทีฟ ได้ชวน 3 ศิลปินไทยรุ่นใหม่อย่าง ‘ณัฐ เศรษฐนา’ ศิลปินผู้จัดวางภาพถ่ายและวิดีโอจากกรุงเทพฯ มาดัดแปลงพื้นที่ชั้นบนของตัวอาคารให้เป็นงานศิลปะที่เรียกว่า Hyper Site หรือการเล่าเรื่องราวผ่านเศษซากของภาษาและกาลเวลา ร่วมกับ ‘อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต’ ศิลปินสหศาสตร์ผู้พำนักอยู่ ณ จังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก ซึ่งนำเสนอบริบทของการพิมพ์ ผ่านอักษรเบรลล์ บทกวี และเสียงดนตรี ล้อไปกับโครงสร้างของตัวอาคาร เพื่อเล่าเรื่องของการถูก ‘จองจำ’ ทั้งในเชิงภาษาและความทรงจำ และ ‘ธีธัช ธัญกิจจานุกิจ’ ศิลปินผู้สำรวจอุตสาหกรรมการพิมพ์ การผลิตซ้ำสิ่งพิมพ์ ความหมายของการพิมพ์ใหม่ การลบต้นฉบับ และความคลุมเครือของคุณค่าในวัตถุจำลอง
นั่นทำให้สารข้อมูลที่ถูกตีความขึ้นมาใหม่โดยเหล่าศิลปิน อาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบของสิ่งพิมพ์ หรือ Print อีกต่อไป แต่เป็นการ ‘พิมพ์’ ในความหมายอื่น โดยผ่าน Medium หลากหลายเเตกต่างกัน เพื่อเล่าเรื่องราวใหม่ให้กับสถานที่แห่งนี้ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการรีเสิร์ชร่วมกันจนเจอว่าในอดีต โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชเคยเป็นสถานที่ผลิตพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย โดย ‘สอ เสถบุตร’ ผู้แต่งพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยที่แพร่หลายที่สุดในสมัยนั้น จนได้ชื่อว่าเป็น ‘บิดาแห่งพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย’ กระทั่งต่อมาเขาตกเป็นหนึ่งในนักโทษการเมืองคดีกบฏบวรเดช และทำให้ต้องถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตเนื่องจากเป็นฝ่ายตรงข้ามกับคณะราษฎร ผู้ซึ่งมีอำนาจบริหารบ้านเมืองสูงสุดในช่วงการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ขณะนั้น
แต่การถูกจองจำของ สอ เสถบุตร นักโทษที่อยู่ในเรือนจำบางขวาง และภายหลังถูกส่งตัวไปยังเกาะตะรุเตา ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘คุกนรก’ ที่โหดร้ายที่สุดในประเทศไทยสมัยนั้น ก็ไม่อาจขวางกั้นเขาจากการแอบเขียนบทความต่างๆ ส่งมายังโลกภายนอก รวมถึงการเขียนพจนานุกรมเพื่อทั้งเป็นงานแห่งชีวิต และเป็นรายได้สำหรับเลี้ยงครอบครัว จนผลงานพจนานุกรมของเขากลายสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา ที่ไม่เพียงให้ความรู้ แต่ยังเป็นเหมือนบทบันทึกที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่ง
จากหมุดสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้เองที่ทำให้ทั้ง 3 ศิลปิน และคิวเรเตอร์ ค้นพบว่าตัวอย่างประโยคและความหมายในพจนานุกรมไทย-อังกฤษ ในหลายๆ พาร์ต มันคล้ายกับว่าเป็นเรื่องราวส่วนตัวของผู้เขียนอย่าง สอ เสถบุตร อย่างน่าประหลาด ราวกับผู้เขียนจงใจสอดแทรกแนวคิดที่เขามีต่อประชาธิปไตยและโลกภายนอกเอาไว้ระหว่างบรรทัด ที่อาจทำให้ผู้รับรู้สาร นั่นก็คือเยาวชน นักเรียน นักศึกษา หรือใครก็ตามที่ได้ร่ำเรียนผ่านพจนานุกรมเหล่านั้น ไม่เพียงได้รับความหมายของคำศัพท์หรือภาษา แต่ยังอาจได้รับรู้ถึงแนวคิดทางการเมืองของคนในยุคนสมัยหนึ่งไปโดยไม่รู้ตัวด้วย
ต่อยอดมาเป็นคำถามถึงการผลิตซ้ำของพจนานุกรมไทย-อังกฤษที่มีอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของผู้คนในหลายๆ เจเนอเรชั่นว่า แท้จริงแล้วมันมีความน่าเชื่อถือจริงหรือไม่ และมันมีคุณค่าที่เชื่อมโยงกับสังคมไทยทั้งในอดีต จนถึงปัจจุบันอย่างไรบ้าง เมื่อพจนานุกรมไม่ได้เป็นเพียงแค่สื่อการศึกษาที่ให้ความรู้ มันยังเป็นเครื่องมือที่รัฐฯ ใช้ในการ Modernise ประเทศ เพื่อต้องการสร้างมาตรฐานทางภาษาให้กับประชาชน สะท้อนอำนาจของรัฐฯ ผ่านภาษา ที่ในบริบทปัจจุบัน อำนาจเหล่านั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ในวันที่ภาษามีความลื่นไหล ทุกคนมีภาษาของตัวเอง และมีสิทธิ์ใช้มันได้อย่างอิสระ โดยไม่ถูกจองจำจากกรอบบางอย่างที่ใครบางคนกำหนดมาให้
อีกทั้งบริบทที่ซ่อนอยู่ภายใน ยังอาจสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด มุมมอง และความฝันของคนในอดีตต่อเรื่องบ้านเมือง ที่น่าสนใจไม่น้อยว่ามันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรกับความฝันและแนวคิดต่อเรื่องบ้านเมืองของคนในยุคสมัยปัจจุบันอย่างเรา มีอะไรบ้างที่เสื่อมสลาย พังทลาย หรือมีอะไรที่ยังคงหลงเหลืออยู่ แม้จะเป็นเพียงแค่เศษซากแห่งความทรงจำของความคิดก็ตาม
และนิทรรศการ This page is intentionally left ___. ก็กำลังบอกเราว่า บางสิ่งบางอย่างอาจไม่สามารถถูกจองจำได้นั่นเอง
-
นิทรรศการ This page is intentionally left ___.
เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่ 13 มิถุนายน – 17 สิงหาคม 2568
เวลา 14.00 – 20.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์และวันอังคาร)
ชั้น 5 บางกอก คุนส์ฮาเลอ Bangkok Kunsthalle
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่
FB: www.facebook.com/BangkokKunsthalle/
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- This page is intentionally left ___. ภาษา อำนาจ และประชาชน นิทรรศการศิลปะเชิงพื้นที่ จากจุดตั้งต้นของ ‘พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย’ ที่เขียนในคุกตะรุเตา สู่การตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์ซึ่งสะท้อนมาถึงปัจจุบัน โดยกลุ่ม ‘ยุงลายคอลเลคทีฟ’
- Caitlin Cunningham นักบาสสายกอธิก ที่อยากให้โลกเห็นว่า กีฬาสามารถเป็นพื้นที่ของคนทุกแบบ
- “ผมถอดรหัสแนวคิดเดิม แล้วเขียนรหัสใหม่ และนี่คือจุดเริ่มต้น” การถอดรหัสครั้งสำคัญของ ‘Jonathan Anderson’ ผ่านคอลเลกชันแรก Dior Men Spring Summer 2026 ในฐานะครีเอฟทีฟไดเรกเตอร์คนล่าสุดของ Dior
ตามบทความก่อนใครได้ที่
- Website : Mirror Thailand.com