โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘Niran’ แบรนด์พวงหรีดจาก ‘ผ้าห่อศพและชุดนักเรียน’ ความตั้งใจลดขยะพวงหรีดซึ่งมีปีละหนึ่งแสนพวง ลดปัญหาขาดแคลนผ้าห่อศพของกู้ภัยในต่างจังหวัด และช่วยให้เด็กในถิ่นทุรกันดารเข้าถึงชุดนักเรียน

Mirror Thailand

อัพเดต 7 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 7 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ภาพไฮไลต์

จากที่เด็กๆ หลายคนทั่วไทยยังไม่สามารถเข้าถึงชุดนักเรียนได้ ตอนนี้มีเด็กชั้นประถมฯ กว่า 500 คน จากภาคเหนือ ภาคอีสาน ปริมณฑล และกรุงเทพฯ ได้มีชุดนักเรียนที่มีคุณภาพใส่เป็นของตัวเอง ซึ่งได้มาจากชิ้นส่วน ‘พวงหรีดชุดนักเรียน’

และตอนนี้ก็มีศพกว่า 30,000 ร่าง มีผ้าห่อศพห่อหุ้มร่างกาย ซึ่งได้มาจากชิ้นส่วน ‘พวงหรีดผ้าห่อศพ’ ที่ใช้ได้จริง ลดปัญหาการขาดแคลนผ้าห่อศพ โดยเฉพาะกู้ภัยในจังหวัดห่างไกลที่มีงบประมาณในส่วนนี้เพียงน้อยนิด

และตอนนี้ พวงหรีดทางเลือกจากแบรนด์ Niran (นิรันดร์) ก็กำลังช่วยลดขยะจากพวงหรีดดอกไม้ที่ก่อขยะหนึ่งแสนพวงต่อปี เนื่องจากหลายวัดอาจไม่ได้มีเวลาหรือกำลังมากพอที่จะกำจัดขยะหรือแยกขยะอย่างถูกวิธี เพราะรวมจำนวนทุกศาลาในแต่ละวันก็นับว่าล้นหลาม บ้างจึงอาจใช้วิธีการเผา หรือฝังกลบ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา

Niran เป็นธุรกิจ ‘พวงหรีด’ เจ้าแรกและเจ้าเดียวที่มีอนุสิทธิบัตรในการทำพวงหรีดผ้าห่อศพ และต่อยอดมาทำพวงหรีดชุดนักเรียนต่อ ซึ่งตั้งใจช่วยทั้ง ‘คนเป็น’, ‘คนตาย’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ ให้ได้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม นำโดย เอิร์น-อรนภัส บุญอนันตพัฒน์ ทายาทแห่ง บุญเจริญการทอ บริษัทธุรกิจทอผ้าอายุ 30 ปี ผู้ใช้ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรในโรงงานทอผ้าของตน ทำแบรนด์พวงหรีดที่ยังหน้าตาเหมือนพวงหรีดดอกไม้ให้ถูกใจคนซื้อและคนให้ ด้วยเทคนิคการจับจีบผ้าอย่างชำนาญ พร้อมกับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เธออยาก “ทำเลยวันนี้” แต่ก็ยังย้ำชัดเสมอว่า ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นปัญหาสังคมที่ภาครัฐควรต้อง ‘มองเห็น’ และมีส่วนแก้ไขปัญหานี้

ตั้งแต่ปัญหาขยะงานศพล้นเป็นกองภูเขา การขาดแคลนชุดนักเรียน ที่เธอลงไปสำรวจโรงเรียนทุรกันดาร 20 กว่าจังหวัด และเห็นชัดว่าราคาชุดนักเรียนนั้นแพงเกินกว่าที่หลายครอบครัวจะเข้าถึง หรือปัญหาการขาดแคลนผ้าห่อศพ ที่เธอลงไปคุยกับกู้ภัยจนทราบว่า บางที่ยังต้องขอวัด หรือเรี่ยไร เพราะงบประมาณไม่เพียงพอต่อการทำงานจริง

ทุกการสั่งซื้อพวงหรีด จะกำกับบอกชัดว่า 1 พวงจะนำไปใช้ต่อในจำนวนเท่าใดบ้าง เช่น ผ้าห่อศพ 3-10 ผืน หรือชุดนักเรียน 2-4 ชุด พ่วงด้วยบริการขับรถไปรับกลับจากวัดเพื่อนำไปบริจาคต่อพร้อมแนบหลักฐานชัดเจน และสำคัญที่สุดคือการคุมคุณภาพที่ไม่ใช่แค่กิมมิก แต่ ‘ต้องใช้ได้จริง’ ทั้งพวงหรีดผ้าห่อศพ ที่ทำจากผ้าดิบคุณภาพดี ซึ่งเอิร์นขอคำปรึกษาและให้กู้ภัยทดลองใช้ ว่าผ้าแบบไหนที่ใช้แล้วเลือดไม่หยด และรับน้ำหนักดี หรือจะพวงหรีดชุดนักเรียน ที่หลังจบงานศพ จะผ่านการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ เคลือบสารต้านแบคทีเรีย และนำไปตัดเป็นชุดนักเรียนตามไซซ์จริงของเด็กๆ ซึ่งคุณครูแต่ละโรงเรียนจะวัดตัวมาให้อย่างละเอียด (ผ้าที่ถูกนำไปใช้จะต้องผ่านพิธีบังสุกุลโดยพระสงฆ์ด้วยนะ จะได้ลดความกังวล เพิ่มความสบายใจตามความเชื่อแบบไทยๆ)

พวงหรีด | คัลเจอร์ไทย

เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องปกติ และเมื่อเกิดการสูญเสีย ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ทุกๆ คนก็มักจะยังเห็น ‘พวงหรีด’ ตั้งเด่นเป็นสัญลักษณ์อยู่ทุกงานศพ เพราะมันเป็นทั้งการมอบกำลังใจต่อคนที่ยังอยู่ และการอาลัยต่อคนที่จากไป

“วัฒนธรรมการให้พวงหรีด เป็นสิ่งที่มีมานานในไทยตั้งแต่เราเกิดมา รุ่นทวด รุ่นพ่อ รุ่นแม่ จนมันกลายเป็นวัฒนธรรมที่โดดเด่นและยูนีคบางอย่าง เพราะในต่างประเทศที่มีการไว้อาลัย ก็อาจจะไม่ใช่พวงหรีดลักษณะแบบนี้ สำหรับเอิร์นพวงหรีดมันเหมือนการส่งใจไปให้คนที่เรารักในเวลาที่เขากำลังรู้สึกยากลำบาก เป็นการนึกถึงกันในวันที่เขาเศร้า หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เพื่อแสดงว่าเรายังนึกถึงเขา และแม้บางคนจะไม่ได้ไป แต่การส่งพวงหรีดก็เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเราอยู่ตรงนั้นข้างๆ คุณนะ”

“ธุรกิจพวงหรีดเป็นธุรกิจที่อยู่คู่กับวงจรชีวิตของคน ไม่ใช่ธุรกิจที่เป็นไปตามเทรนด์ แต่เป็นธุรกิจที่ไม่ว่าจะยังไงมันจะมี demand เสมอ เป็นธุรกิจที่ไปต่อได้ยาวๆ แต่จะไปต่อในบริบทแบบไหนดีล่ะ? ให้ยังอยู่ตรงกลางระหว่างวัฒนธรรมไทยที่คนยังสืบทอด กับการตื่นรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ที่เราอยากมีส่วนในการรับผิดชอบต่อสังคม เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมมันส่งผลกระทบต่อชีวิตเราและคนรุ่นหลัง จึงออกมาเป็นพวงหรีดผ้าห่อศพ และพวงหรีดชุดนักเรียน ที่ไม่ทิ้งขยะเอาไว้ และคนซื้อมั่นใจได้ว่าเอามันไปทำอะไรต่อได้”

“แต่การทำพวงหรีดที่แตกต่างไปจากภาพจำคนไทย มันท้าทายมาก ยิ่งรุ่นพ่อ รุ่นแม่ ยิ่งมีภาพจำชัดว่ามันจะต้องเป็นพวงหรีดดอกไม้ โจทย์ของเราจึงเป็นการทำให้พวงหรีดยังดูเป็น ‘พวงหรีด’ พยายามสร้างให้มีรูปลักษณ์แบบพวงหรีดดั้งเดิมที่สุด เพื่อไม่ให้บางคนรู้สึกเอ๊ะๆ ในใจ เวลาจะส่งไปให้ใคร แต่ทำออกมาฟีดแบ็กก็ดีกว่าที่เอิร์นคิดด้วยซ้ำ เพราะคนดันชอบความมินิมอล สวยงามแบบไม่ดูเยอะ และเข้าใจสารที่เราจะสื่อว่า นี่คือผ้าห่อศพ ที่แยกออกมาแล้วเอาไปใช้ต่อได้”

พวงหรีด | ขยะล้นวัด

หลังจบงานศพ พวงหรีดมากมายในศาลา เคยตั้งคำถามบ้างไหม ว่ามันหายไปไหนต่อ? ใครเป็นคนเก็บ? เก็บอย่างไร? และนี่คือปัญหาขยะจาก ‘พวงหรีด’ ที่เอิร์นลงไปสำรวจให้เห็นกับตา

“ต้องยอมรับว่า งานศพสร้างขยะเยอะมาก มันเหมือนการจัดงานอีเวนต์อื่นๆ เลยด้วยซ้ำ แต่งานศพมันจะมาเร็วไปเร็วมากกว่า เป็นงานที่คนจะไม่มีเวลาเตรียมตัวนัก เพราะส่วนมากเป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และต้องจัดทันที ดังนั้นเมื่อต้องอาศัยกับความเร็ว การที่คนจะรู้สึกอยากรักษ์โลกมันก็อาจจะเป็นไปได้ยากมากขึ้น และความยากของประเทศไทยคือเราไม่มี policy ในการกำจัดขยะเหล่านี้ที่ชัดเจน ก่อนจะทำแบรนด์ เอิร์นลงไปทำสำรวจเองที่วัด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หารีเสิร์ชยากมาก มีข้อมูลน้อย เลยต้องไปคุยกับคนที่เก็บพวงหรีดซึ่งเป็นพนักงานของวัดเอง เข้าไปดูให้เห็น ซึ่งภาพที่เห็นคือที่ที่เก็บขยะหลังวัด มันพูนขึ้นมาเยอะมาก ใครได้เห็นจะรู้สึกใจหายแน่ๆ”

“ลองคิดตามนะคะ งานศพ 1 งาน สามารถมีพวงหรีดกี่พวงก็ได้ไม่จำกัด และใช้เสร็จก็ต้องทิ้ง เพราะมันไม่สามารถเอาไปทำอะไรต่อได้ เอิร์นเคยไปนับวัดที่มีศาลาเยอะมากๆ ว่ารวมกันทุกศาลามันจะมีพวงหรีดเท่าไหร่ แล้วลองคูณคร่าวๆ ว่าปีหนึ่ง 365 วันมันจะมีพวงหรีดประมาณเท่าไหร่ เพราะงานศพมันมีแทบทุกวัน และมีทุกจังหวัด บวกกับรีเสิร์ชของน้องอีกคนที่ไปนับอีกวัด ก็ได้เลขใกล้ๆ กันว่า ปีหนึ่งจะตกอยู่ที่ประมาณ ‘แสนพวง’ มันเยอะมากจริงๆ แต่มันเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นกัน เลยรู้สึกว่าไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าเข้าไปดูจริงๆ จะพบว่ามันเป็นภาระของวัดด้วย เพราะว่าส่วนมากในวัด ถ้าไม่ใช่วัดใหญ่จะมีคนเก็บพวงหรีดแค่คนเดียว หรืออาจมีคนช่วยอีกแค่ 1 คน แต่ต้องเก็บพวงหรีด 5 ศาลา เพื่อให้ทันงานศพงานใหม่ ซึ่งนับเป็นภาระที่หนักมาก แล้วการจัดการของแต่ละวัดก็จะไม่เหมือนกัน บางวัดอาจจะมีคนที่แยกขยะไว้ เพื่อให้ง่ายต่อคนเก็บขยะ หรือให้ร้านดอกไม้มาซื้อโฟมกลับ แต่ก็ยังมีหลายวัดที่กองไว้เฉยๆ ไม่ได้แยกขยะอะไรเพราะเขาไม่สามารถมีเวลาที่จะจัดการพวงหรีดหลายพันพวงได้ด้วยตัวคนเดียว บางวัดจึงใช้วิธีการเผา บางวัดโยนลงไปใน landfill ใหญ่ๆ แล้วฝังกลบเอา ขยะจึงมีเยอะ และคนที่เข้ามาแก้ไขปัญหา หรือเข้ามาดูจุดนี้ ยังน้อยจนแทบไม่มีเลยด้วยซ้ำ และรัฐก็ไม่ได้มีแนวทางในการจัดการขยะในวัดอย่างชัดเจน”

เอิร์นแชร์ว่า พวงหรีดรักษ์โลกของเธอ เป็นเพียง 5-10% ที่ผู้คนเลือกใช้ ถ้าเทียบกับพวงหรีดดอกไม้ที่คนยังใช้อยู่ 90-95% แต่เธอก็ยังคิดว่า แม้จะเป็นการขับเคลื่อนเล็กๆ แต่ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนเช่นกัน เธอเล่าว่า “พอเราทำพวงหรีด มีหลายเคสที่ทำเราทึ่งเหมือนกันนะ เช่น วัดนวลจันทร์ เขาเรียกมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มาเก็บพวงหรีดผ้าห่อศพเลยหลังจบงาน แกะกันตรงนั้น ส่วนตรงหวายถ้าไม่ใช้ก็สามารถเอากลับมาให้เอิร์นได้ เอิร์นรับซื้อกลับ หรือบางวัดก็เอาส่วนหวายไปให้เด็กๆ เล่นฮูลาฮูป ซึ่งเป็นสิ่งที่เรานึกไม่ถึง หรือบางวัดก็เอาไปเป็นผ้าปูโต๊ะ หรือบางวัดมีศพยากไร้ เขาก็เอาผ้าไปใช้ได้เลย และสุดท้ายถ้าวัดไม่ใช้ เจ้าภาพอาจเป็นคนเก็บไปบริจาคต่อเอง หรือถ้าอยากให้เราบริจาคให้ เราก็จะไปเก็บเองค่ะ”

“ซึ่งมีคนเก็บพวงหรีดหลายคนที่ขอบคุณเราว่า ทำให้ชีวิตเขาง่ายขึ้นเยอะ เขาไม่ต้องมานั่งจัดการ เพราะบางวัดถ้ามีงานใหญ่ๆ อาจรอครบสัปดาห์ไม่ไหว เขาก็สามารถโทร.หาเราให้ไปเก็บเร็วขึ้นได้ทันที”

โดยการออกแบบไม่ว่าจะพวงหรีดผ้าห่อศพและพวงหรีดชุดนักเรียน ได้แรงบันดาลใจมาจากการพับผ้าโอริกามิแบบญี่ปุ่น มาพับผ้าและจับจีบเป็นพลีท และทำรูปทรงให้เป็นดอกไม้หยุมๆ ซึ่งเอิร์นบอกว่าก็คล้ายๆ เทคนิคที่หลายคนอาจเคยเห็นแฟชั่นดีไซเนอร์เอาผ้าดิบมาขึงเป็นรูปทรงก่อนทำชุดจริง แต่ก็ต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนที่ว่า “เราจะต้องคำนวณตั้งแต่แรกว่าแกะออกมาจะนำไปใช้ต่อได้กี่ผืน เช่น แกะออกมาได้ 5 ผืน และต้องเป็นไซซ์ที่เป๊ะเท่านั้น ห้ามตัด ห้ามขาด ไม่งั้นมันจะใช้งานต่อไม่ได้ และยังมีการใช้เศษผ้าในการขึง ส่วนหวายก็ใช้ไม้ไผ่มาดัดเป็นวง แต่บางรุ่นที่ต้นทุนผ้าสูงก็อาจใช้โครงฟาง เพื่อคุมราคาให้มันยังจับต้องได้”

เอิร์นที่จบปริญญาตรีด้านการโรงแรม และจบปริญญาโทด้าน Management ให้ความสำคัญกับการบริการลูกค้าอย่างมาก เธอให้ความสำคัญกับการตอบลูกค้าที่จะพยายามทำให้ไม่นานเกิน 5 นาที เพราะพวงหรีดเป็นบริการที่รีบใช้ และเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และยังทำป้ายกำกับเบอร์โทรศัพท์, คิวอาร์โค้ด, ไลน์ และภาพแสดงสัญลักษณ์ ‘ห้ามทิ้ง’ ชัดเจน เพื่อให้วัดติดต่อกลับมา

พวงหรีด | การขาดแคลนผ้าห่อศพ

ในช่วงโควิด-19 ที่มีคนเสียชีวิตพุ่งสูง ตัวเอิร์นเองมองเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนผ้าห่อศพในไทยอย่างชัดเจนตามข่าว เธอตัดสินใจเปิดเพจห่มบุญ ซึ่งเป็นเพจขายถุงใส่ศพและผ้าสำหรับห่อศพ ที่ทอจากผ้าดิบโรงงานของตัวเอง ให้ผู้คนซื้อเพื่อเป็นกำลังบริจาคส่งต่อให้กู้ภัยได้ใช้งาน และเมื่อโควิด-19 เบาบางลง ในยุคหลังโควิด-19 เธอกลับยังพบว่าปัญหานั้นยังคงอยู่ ไม่ได้มีปัญหาแค่เฉพาะช่วงภาวะวิกฤตอย่างที่เข้าใจ จึงอยากต่อยอดเพื่อทำงานช่วยเหลือเกี่ยวกับประเด็นนี้ต่อไปเท่าที่กำลังจะไหว จนเกิดมาเป็น ‘พวงหรีดผ้าห่อศพ’ ที่เราเห็นกันในวันนี้

“เอิร์นเริ่มคิดจากว่า เราจะทำอะไรในอุตสาหกรรมนี้ที่คนจะไม่ถือสามาก ก็เลยมองถึงการรณรงค์เรื่องพวงหรีด ที่สามารถนำไปบริจาคได้จริง ผ้าห่อศพก็ใช้ต่อได้จริง บริจาควัดต่อได้เลย หรือเราไปรับกลับแล้วบริจาคให้ลูกค้าก็ได้ และยังตอบโจทย์ความสบายใจในการให้พวงหรีดของลูกค้าอยู่ จึงไม่ได้มีใครเสียประโยชน์จากส่วนนี้ และเรามั่นใจว่าจะช่วยลดขยะได้จริงๆ เอิร์นเลยคิดว่าน่าจะตอบโจทย์”

“ก่อนหน้านี้พูดตรงๆ ว่าเราก็ไม่ได้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนผ้าห่อศพ แต่จุดเปลี่ยนหลักเกิดขึ้นจากการที่เอิร์นได้ลงไปคุยกับกู้ภัยที่เขาทำงานตรงนี้จริงๆ จึงรู้ว่ามีปัญหาอยู่มาก ซึ่งจะมีความแตกต่างระหว่างกู้ภัยในเมืองกับกู้ภัยในต่างจังหวัด กู้ภัยในเมืองส่วนมากจะเล่าให้ฟังว่ามักจะได้รับบริจาคผ้าขาวบางมา ซึ่งผ้าขาวบางมันไม่สามารถใช้ห่อศพได้จริง เอิร์นจึงใช้จุดแข็งของเราคือการเป็นโรงงานทอผ้า ที่มีความรู้เรื่องชนิดผ้าต่างๆ ความหนาบาง การใช้เส้นด้าย คุยกับเขาให้เคลียร์ว่าผ้าแบบไหนใช้ได้ ผ้าแบบไหนใช้ไม่ได้ เวลาจะทำพวงหรีด เราจึงจะส่งผ้าให้เขาไปหลายอันเพื่อให้ลองใช้ก่อน เพื่อให้มันถูกวัตถุประสงค์ของเขาจริงๆ ไม่บางเกินไปไม่งั้นเลือดจะหยด และไม่แข็งเกินไปจนใช้งานยาก จนกู้ภัยฟีดแบ็กเราว่า ผ้าพี่ใช้ดีมาก ซึ่งนั่นเป็นความภูมิใจเล็กๆ น้อยๆ ที่สิ่งที่เราพยายามตั้งแต่ตอนแรกในการ develop ผ้า มันเกิดผลสำเร็จ”

“ส่วนกู้ภัยในต่างจังหวัด สิ่งที่เขากังวลมันคือการที่เขา ‘ไม่มีผ้าเลย’ เพราะงบประมาณมันน้อย โดยเฉพาะจังหวัดที่ห่างไกลมากๆ บางทีเขาต้องไปขอวัดว่ามีผ้าหรือเปล่า ต้องเรี่ยไร เพราะไม่มีงบ ต่างจากกู้ภัยในกรุงเทพฯ ที่จะได้รับการบริจาคมากกว่า และมีเครือข่ายที่จะบริจาคมากกว่า”

“พอเรามาทำพวงหรีดผ้าห่อศพ พองานศพจบ เราจะเรียกรถไปรับกลับ ถ้าวัดไม่ใช้ พอรับมา ก็จะมารวบรวมไปถามกู้ภัยว่าตอนนี้จังหวัดไหนต้องการ จังหวัดไหนขาดแคลน เช่น ที่บึงกาฬหมด เราก็ส่งไปที่บึงกาฬ แล้วอัปเดตกับลูกค้าว่า เราบริจาคแล้วที่นี่นะ มีหลักฐานความน่าเชื่อถือให้เขาทุกครั้ง บางคนอาจมองว่าดูเสียเวลา ถ้าวิ่งกลับไปรับ แต่มันจะถูกจุดประสงค์จริงๆ ว่า พวงหรีดนั้นจะมีประโยชน์จริงๆ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้คนอยากจะซื้อเราจริงๆ มันต้องไม่ใช่ดีไซน์รักษ์โลก ที่จบไปแล้วใช้อะไรต่อไม่ได้”

พวงหรีด | การขาดแคลนชุดนักเรียน

นอกจากพวงหรีดผ้าห่อศพแล้ว เธอขยับมาทำ พวงหรีดชุดนักเรียน ซึ่งก็ยังคงไอเดียตั้งต้นมาจากการลงพื้นที่จริงไปเห็นปัญหาด้วยตัวเองเช่นกัน

“ก่อนหน้านี้เอิร์นเป็นที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจ ซึ่งเคยทำโปรเจกต์ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือเด็กยากจนและเด็กยากจนพิเศษ ในเรื่องของภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และชุดนักเรียน ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคที่เด็กคนหนึ่งจะมาเรียนได้ เอิร์นลงไป 20 กว่าจังหวัด และได้เข้าไปคุยกับคุณครู ผู้ปกครอง และตัวเด็กนักเรียนเอง”

“มีเด็กคนหนึ่งอยู่ตราด พ่อแม่ทำงานในสวนยาง จากบ้านไปโรงเรียนจะใช้เวลาประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง เพราะทางที่บ้านน้องต้องออกจากสวนยางไปถนนใหญ่เพื่อต่อรถไปโรงเรียนอีกที พ่อแม่จึงต้องจ่ายเดือนละ 3,000-3,500 บาทในการจ้างรถตู้ต่อเดือน ที่จะเอาน้องออกจากบ้านไปถึงรถตรงถนนใหญ่ เพื่อที่จะไปโรงเรียนอีกที แล้วเดือนหนึ่งพ่อแม่ได้เดือนละ 4,000-5,000 บาท เท่ากับ เขาต้องเสียเงินเกินครึ่งกับค่าเดินทางทุกเดือน น้องอยากเป็นหมอ ครูก็พยายามหาทุนให้ แต่ทุนหนึ่งก็ดันไม่เยอะมาก และรวมค่าครองชีพเพิ่มไปอีกในการเรียนหมอ ก็กลายเป็นว่าไม่เพียงพอ เขาจึงไม่สามารถเรียนต่อได้”

“และชุดนักเรียนก็เป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่ต้องจ่ายเพื่อให้ลูกมาเรียน ซึ่งการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เด็กๆ ควรมีโอกาสที่จะเรียนโดยไม่ต้องมากังวลเรื่องชุดนักเรียนใส่ใหม่ ว่าพ่อแม่จะมีเงินจ่ายหรือเปล่า เขาควรจะโฟกัสแค่เรื่องการเรียนด้วยซ้ำ”

“เอิร์นจึงตั้งใจทำพวงหรีดชุดนักเรียนขึ้นมา เพื่อลดกำแพงค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ให้คนรับได้เอาไปใช้จริงๆ ได้ช่วยในสิ่งที่เราเชี่ยวชาญจริงๆ นั่นคือการทำผ้า”

“ปัญหาที่เอิร์นเห็นคือ มีโครงการช่วยเหลือชุดนักเรียนเกิดขึ้นก็จริง แต่ตกออกมาได้แค่คนละ 1-2 ชุด ซึ่งมันไม่เพียงพอในความเป็นจริง และไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึง ถ้าไปดูราคาชุดนักเรียนตอนนี้ ชุดที่ถูกที่สุดก็ยังไม่ถูกสำหรับครอบครัวที่เขายากจนจริงๆ เอิร์นเคยเจอเด็กนักเรียนที่ชีวิตนี้ไม่เคยใส่ชุดนักเรียนใหม่ มีแต่ได้รับบริจาคมาจากคนอื่น พอเด็กบางคนเขาได้รับชุดนักเรียนที่ใหม่จริงๆ จากเรา เขาบอกว่านี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาได้ชุดนักเรียนใหม่เอี่ยม เขาดีใจเหมือนได้ทอง”

“จากประเด็นการยกเลิกชุดนักเรียน เอิร์นจึงเห็นมุมมอง 2 มุมจากการลงพื้นที่ ถ้าเป็นเด็กในกรุงเทพฯ เอิร์นเข้าใจดีเลยว่าเขาอยากมีโอกาสในการแต่งตัวในแบบของตัวเอง ได้ express การเป็นตัวเอง ซึ่งเข้าใจได้สุดๆ แต่พอเป็นเด็กต่างจังหวัดในโรงเรียนทุรกันดาร ที่ได้ไปคุย เขาอยากใส่ชุดนักเรียน และดีใจที่ได้ใส่ชุดนักเรียน โรงเรียนบนดอยเขาแทบจะไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนเพราะไม่มีเงิน แต่พอได้ใส่เขาก็รู้สึกดีใจมากๆ ดังนั้นชุดนักเรียนที่คนมองว่าไม่ตอบโจทย์ และดูเป็นภาระผู้ปกครอง จริงๆ ก็ยังมีข้อดีของมันอยู่ เพียงแต่เราควรจะแก้มันด้วยต้นเหตุ นั่นคือ มันต้องแพงขนาดนั้นเลยเหรอ? เอิร์นเป็นคนทำผ้า จึงรู้ว่าจริงๆ ชุดนักเรียนมันไม่ควรแพงขนาดนั้น เจ้าของแบรนด์บางแบรนด์ ได้กำไรเยอะมากๆ ซึ่งจริงๆ มันควรจะถูก และจะดีมากถ้ารัฐบาลจะให้ชุดนักเรียนฟรีแบบที่ครอบคลุมการใช้งานจริงๆ หรือรัฐบาลควรมี policy ในการเข้ามาช่วยตรงนี้แบบที่เห็นผลจริงๆ เข้ามา subsidize หรือออกนโยบายอะไรสักอย่างให้เกิดการแก้ไข”

“สำหรับพวงหรีดชุดนักเรียนจะแตกต่างไปจากพวงหรีดผ้าห่อศพ ตรงที่จะบังคับรับกลับ 100% ไม่ได้ส่งต่อให้วัด เพราะจุดประสงค์ของนิรันดร์คือการเอาไปตัดชุดนักเรียน และเมื่อรับกลับมา ทางนิรันดร์จะทำความสะอาด และเคลือบแอนตี้แบคทีเรีย แล้วเอาไปตัดทำชุดนักเรียน ซึ่งเราจะรู้ก่อนว่า เราจะไปโรงเรียนไหน เอิร์นจะให้คุณครูวัดตัวนักเรียนมา สมมติ 50 คน ครูก็จะส่งตารางไซซ์มาเลย โดยเอิร์นจะเผื่อขึ้น 1 ไซซ์ให้หลวมขึ้นนิดหนึ่ง เพราะเคยตัดเป๊ะๆ แล้วน้องดันอ้วนขึ้น ฟิตเปรี๊ยะ พอตัดเสร็จเอิร์นก็จะนำไปให้พระสวด เพราะคนไทยมีความเชื่อและกลัวเรื่องงานศพหรือพวงหรีดอยู่ ดังนั้นเพื่อความสบายใจของทุกคน ก็เอาให้ผ่านบังสุกุลไปเลย มีวิดีโอตอนพระสวดด้วย ไม่ต้องกังวล ซึ่งตอนโทร.ไปหาโรงเรียน เราก็แจ้งชัดเจนค่ะว่าเราจะบริจาค และชุดนักเรียนจะมาจากไหน แต่เราจะมีพิธีนี้นะ โอเคไหม ถ้าไม่โอเคไม่เป็นอะไร เราจะหาโรงเรียนอื่น ซึ่งก็ยังไม่เคยเจอโรงเรียนไหนปฏิเสธนะคะ และทุกครั้งที่เราไปเราก็จะไปพร้อมผ้าอนามัยที่ร่วมกับแบรนด์ Ira Concept เพื่อแจกให้เด็กผู้หญิงพร้อมชุดนักเรียนด้วยค่ะ”

“ส่วนถ้ากรณีที่ผ้าดันหาย เพราะเคยเจอเหตุการณ์มีคนขโมยผ้าในพวงหรีด เราก็จะทดแทนด้วยการเอาผ้าใหม่มาทำ กำไรอาจจะน้อยลง แต่ก็ไม่เป็นอะไร เพราะมันเป็นปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ เรายอมแลก”

พวงหรีด | ปัญหาสังคม

“ไม่คิดเหมือนกันว่า การทำพวงหรีดครั้งหนึ่งจะเห็นปัญหาสังคมที่เยอะมากมายขนาดนี้” เอิร์นเล่าความในใจ เธอย้ำว่า “อยากให้ผู้คนเห็นว่า การลงมือขับเคลื่อนปัญหาสังคมไม่ว่าจะเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ จะทำให้ประเทศเราน่าอยู่ขึ้น ไม่อยากให้ทุกคนมองเห็นแต่ตัวเอง แน่นอนว่าตัวเองต้องรอด แต่ถ้าเรามองเห็นคนอื่นด้วย มันน่าจะดีกว่า”

ความตั้งใจของเอิร์นยังเหมือนเดิม หากจะมีดีไซน์พวงหรีดใหม่ๆ ขึ้นมา เธอก็ยังคงคอนเซ็ปต์ช่วยเหลือสังคม เช่น “เอิร์นคุยกับคุณอาที่เป็นหมอ อยากทำพวงหรีดจากผ้าทางการแพทย์ เพื่อบริจาคให้โรงพยาบาลต่างจังหวัด แต่ตอนนี้มันยังอยู่ในขั้นคิดให้ถี่ถ้วน เพราะผ้าที่ใช้ต้องเป็นไซซ์ที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะผ้าปูเตียง คลุมคนตอนผ่าตัด คลุมอุปกรณ์ผ่าตัด ฯลฯ แต่เราคิดว่าถ้าเราทำได้มันคงจะดี เพราะโรงพยาบาลต่างจังหวัดงบน้อยจริงๆ ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องความสกปรกแน่นอน เพราะเขาจะผ่านการ sterilize ในโรงพยาบาลอยู่แล้ว”

“เพราะผ้าที่เราเลือกใช้ทำพวงหรีดต้องตอบโจทย์ปัญหาอะไรสักหนึ่งอย่าง ถ้าเลือกได้จะเลือกผ้าที่แก้ไขปัญหาสังคม เพราะบางปัญหาเราก็อยากจะ ‘ทำเลย’ ในเมื่อรอรัฐแล้วช้า เราก็ขอทำในสิ่งที่ทำได้ไปก่อน แต่ท้ายที่สุดรัฐก็มีหน้าที่ ‘ต้อง’ เข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ว่ามาทั้งหมดอยู่ดี เอกชนหรือประชาชนเป็นแค่คลื่นเล็กๆ ที่อาจจะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้”

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

ตามบทความก่อนใครได้ที่
- Website : Mirror Thailand.com

Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Mirror Thailand

This page is intentionally left ___. ภาษา อำนาจ และประชาชน นิทรรศการศิลปะเชิงพื้นที่ จากจุดตั้งต้นของ ‘พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย’ ที่เขียนในคุกตะรุเตา สู่การตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์ซึ่งสะท้อนมาถึงปัจจุบัน โดยกลุ่ม ‘ยุงลายคอลเลคทีฟ’

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

‘Floodlighting’ เมื่อเขาดีพทอล์กใส่รัวๆ แชร์เรื่องหนักๆ ตั้งแต่เดตกันแรกๆ ความใกล้ชิดแบบเร่งรัดในความสัมพันธ์ ที่อาจทิ้งความ ‘อึดอัด’ ให้ฝ่ายที่ยังไม่พร้อม

6 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

“รวมมิตรมังกร” นิทรรศการศิลปะปลุกความคึกคักเมืองราชบุรี

Manager Online

‘อร่อยทั่วไทย’ ยกระดับแกงไทยสู่สากล ที่ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์

กรุงเทพธุรกิจ

TaylorMade เปิดตัวคอลเล็กชั่น Spring/Summer 2025

เดลินิวส์

ร่วมเปิดตำนานบทใหม่ของหนังไดโนเสาร์ ดู “Jurassic World: Rebirth (จูราสสิคเวิลด์: การเกิดใหม่)” ที่ SF

Insight Daily

กองบิน 1 เชิญชวนสักการะ “พระบรมสารีริกธาตุองค์ปฐม-พระบรมสารีริกธาตุ” เสริมสิริมงคลสูงล้น

Manager Online

CTC 2025 ชวนเจาะลึก และอัปเกรดธุรกิจ ให้ก้าวนำในทุกมิติจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

มังคุด ผลไม้ฤทธิ์เย็น หวานชื่นใจ แต่ใครต้องกินอย่างระวัง

Thai PBS

อยากมีอินเนอร์ต้องทำอย่างไร วิธีพัฒนาตัวเองให้เปล่งประกายจากข้างใน

sanook.com

ข่าวและบทความยอดนิยม

จะคนหน้าเหมือนนายก หรือนักการเมืองตัวจริง ก็ไม่ควรถูกทำร้ายเพราะความเกลียดชัง กรณีของ ‘อิ๊งค์ วรานิดา’ ที่ถูกทำร้ายร่างกายถึง 3 ครั้ง เนื่องจากถูกเข้าใจว่าเป็นนายกแพทองธาร

Mirror Thailand

ห้องขยะล้น ไม่ใช่แค่ ‘ความลับนางฟ้า’ แต่คือปัญหาสุขภาพจิต ที่อาจต้องการการเยียวยามากกว่าการกดขำ

Mirror Thailand

เสียงจากคนที่เห็นด้วยกับรัฐบาลอังกฤษที่พิจารณาการสั่งแบนหนังโป๊ที่มีฉากรัดคอ ขณะที่อีกฝั่งมองว่าการควบคุมรสนิยมของผู้คนนั้นไม่ใช่ทางแก้ปัญหา

Mirror Thailand
ดูเพิ่ม
Loading...