‘Floodlighting’ เมื่อเขาดีพทอล์กใส่รัวๆ แชร์เรื่องหนักๆ ตั้งแต่เดตกันแรกๆ ความใกล้ชิดแบบเร่งรัดในความสัมพันธ์ ที่อาจทิ้งความ ‘อึดอัด’ ให้ฝ่ายที่ยังไม่พร้อม
ไม่มีตำราการเดตข้อไหนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าแบบไหนคือถูกที่สุด หรือแบบไหนคือผิดที่สุด คงจะมีแต่แบบไหนที่เป็นมิตรต่อใจเรา และแบบไหนที่ท็อกซิกกับใจเรา ซึ่งสำหรับแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน และการที่เรารู้เท่าทันว่าพฤติกรรมของคนที่เข้ามาลักษณะไหนมันดูจะไม่เวิร์กกับใจ หากจะขอเอ๊ะๆ ไว้ก่อน หรือระแวดระวังไว้ก่อน ก็ไม่เสียหายอะไร
พักหลังมานี้ หลายคนน่าจะเคยเห็นคอนเทนต์ที่ผู้คนออกมาเล่าในเชิงเพื่อนอยากเตือนเพื่อนกันเต็มโซเชียลฯ ถึงพฤติกรรมการเดตที่เรียกว่า Love Bombing หรือการทุ่มทำดี ประเคนคำหวาน เสิร์ฟโปรโมชันเยอะๆ ให้หลงหัวปักหัวปำ ในช่วงต้นๆ ของความสัมพันธ์ จนเรารู้สึกขาดเขาไม่ได้ แม้ภายหลังเขาจะทำตัวแย่ๆ ใส่ก็ตาม ซึ่งจริงๆ แล้วมีอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน แต่คนไทยอาจจะยังไม่พูดถึงกันมาก นั่นคือ ‘Floodlighting’ ที่เป็นคนละขั้วกับ Love Bombing ตรงที่ครั้งนี้จะไม่ได้เข้าหาด้วยระเบิดความรัก แต่เป็นเข้าหาด้วยการชวน ‘Deep Talk’ เรื่องส่วนตัวอย่างลึกซึ้งภายในเดตแรกๆ หรือช่วงต้นความสัมพันธ์ตั้งแต่ยังไม่ได้สนิทกันเท่าไหร่ เพื่อเป็นทางลัดสู่ความใกล้ชิดทางอารมณ์ เร่งความผูกพันแทนที่จะค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงทดสอบว่าอีกฝ่ายสามารถรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าได้หรือเปล่า และไปๆ มาๆ ก็มีแต่ ‘เขา’ คนนี้เนี่ยแหละ ที่เล่าเรื่องตัวเอง แชร์เรื่องตัวเองให้เราฟังอยู่ ‘ฝ่ายเดี่ยว’ ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนเรื่องราวเท่าๆ กันทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
ไม่ว่าจะเล่าถึงความเจ็บปวดในอดีต ระบายปัญหาส่วนตัวหนักๆ เรื่องครอบครัว งาน เพื่อน การเงิน เรื่องราวความรักครั้งเก่าที่แสนเจ็บปวด หรือมุมมองต่อความสัมพันธ์ ต่อสังคม ต่อตัวเองที่ลึกซึ้งเกินกว่าจะพูดกันในเดตแรกๆ การกระทำลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ แต่บางครั้งอาจจบลงด้วยความท็อกซิก ตั้งแต่ความคาดหวังให้อีกฝ่ายเข้ามา ‘รักษาแผลใจ’ บางอย่าง หรือ ‘ตอบคำถาม’ ในใจบางอย่าง จนคนฟังบางคนอาจรู้สึกว่าต้อง ‘ดูแล’ คนคนนี้ต่อ แม้ความจริงอาจจะยังไม่ได้ชอบเขาขนาดนั้น แต่รู้สึกเป็นห่วงไปแล้ว ซึ่งอาจเข้าข่ายการถูกบงการทางอารมณ์ หรือบางคนก็อาจรู้สึกว่าคนคนนี้ไว้ใจตนมากถึงกล้าเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ซึ่งมันคือการบังคับให้เกิดความเชื่อมโยงกันในความสัมพันธ์อย่างเร่งรัด เสมือนกดปุ่ม fast track ขณะที่บางคนรับฟังเยอะๆ อาจจะอึดอัดกับเรื่องหนักๆ ที่ได้ยินโดยไม่เต็มใจ จนเรื่องบางเรื่องนั้นเข้ามากระทบกับสุขภาพจิตของตัวเองไปเลยก็ได้ และบางคนก็อาจมองว่านี่คือ red flag ที่ถ้าเจอแบบนี้ ขอยุติความสัมพันธ์ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายที่เล่าให้ฟังโดยไม่ตั้งใจให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ โดนเท หรือได้รับปฏิกิริยาที่ไม่เป็นตามที่หวัง ทำให้กลับมารู้สึกแย่กับตัวเองที่เล่าออกไปก็ได้เหมือนกัน
บทสนทนา deep talk ที่บางคนอาจจะมองว่าไม่น่ามีปัญหา ดีซะอีกที่จะได้รู้จักอีกฝ่ายมากขึ้น กลับมีมุมท็อกซิกต่อทั้งคนพูดและคนฟังซ่อนอยู่ เพราะต้องบอกว่าการ deep talk บางประเด็นโดยเฉพาะเรื่องส่วนตัว ก็ไม่ใช่ทุกคนจะ ‘อยากฟัง’ ตั้งแต่ช่วงเดตกันใหม่ๆ เพราะเรายังไม่ได้สนิทกันขนาดนั้น อีกฝ่ายอาจไม่ได้ทันตั้งตัวและไม่สบายใจที่จะฟังขนาดนั้น หรือบางคนอาจมองว่าการที่จะรู้จักกันอย่างลึกซึ้งที่จะแชร์เรื่องราวบางอย่างได้ มันต้องอาศัยเวลา ต้องค่อยเป็นค่อยไป และพึ่งพาความไว้วางใจในระดับหนึ่ง
คำว่า Floodlighting ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยศาสตราจารย์ Brené Brown ผู้เขียนหนังสือ The Power of Vulnerability ซึ่งมีความหมายของมันคือการที่คนคนหนึ่ง overshare ในช่วงต้นความสัมพันธ์ เพื่อที่จะกด skip เวลาช่วงพัฒนาความสนิทสนมทางอารมณ์ ให้ความสัมพันธ์เดินหน้าต่อได้เร็วๆ
“ฉันเคยเห็นเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในการออกเดต ที่บางคนรู้สึกอยากจะ connect กันจริงๆ จึงแบ่งปันเรื่องที่มันส่วนตัวมากๆ โดยหวังว่าจะสร้างความใกล้ชิด แต่น่าเสียดาย ที่บางกรณีแทนที่จะได้สร้างความสัมพันธ์ กลับส่งผลให้อีกฝ่ายตั้งตัวไม่ทันและสร้างความกดดันต่อกันแทน” Sarah Hodges ผู้เป็นนักบำบัดกล่าว เธอย้ำว่า “บางคนอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังทำสิ่งนี้อยู่ เพียงแต่บางครั้งมันก็เป็นวิธีทดสอบทางอารมณ์อีกฝ่าย อย่างการหยิบยกบาดแผลในวัยเด็ก หรือ ความไม่มั่นคงบางอย่างที่ลึกซึ้งมากๆ ออกมาในเดตแรกหรือเดตที่ 2 โดยหวังว่าจะได้รับความเชื่อมั่นบางอย่างที่มีอยู่ในใจ”
ความเชื่อมั่นที่ว่า ก็อาจเป็นได้ตั้งแต่ คนคนนี้ไม่ตัดสินในสิ่งที่เราพูด คนคนนี้ปลอบใจเราได้เก่งมาก หลังจากนี้เราคงสบายใจที่จะพูดทุกเรื่องกับคนคนนี้มากขึ้น หรือคนคนนี้ไม่ตัดสินอดีตที่ผ่านมาของเราเลย ฯลฯ ฟังเหมือนจะดูดี หากเกิดการเปิดใจซึ่งกันและกัน แต่ Hodges กลับเตือนว่า “การออกเดตควรให้ความรู้สึกเหมือนการสนทนา ไม่ใช่การบำบัด” อะไรที่รีบเกินไป อาจไม่ใช่อะไรที่เฮลตี้ในระยะยาว เมื่อเทียบกับการค่อยๆ รู้จักกัน และค่อยๆ เปิดใจเข้าหากัน
เช่นเดียวกับ Emma Kobil ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต ที่ชวนให้เราแยกให้ออกว่า “มันจะไม่เหมือนกับการแสดงความเปราะบางออกมา ซึ่งค่อยๆ เผยออกมาตามกาลเวลาของคนสองคน แต่ floodlighting มักจะมีเพียง ‘ฝ่ายเดียว’ ที่พูดออกมา และสามารถผลักอีกฝ่ายให้ไกลห่างออกไปได้”
ย้ำว่าการแชร์เรื่องราวไม่ใช่ ‘ปัญหา’ แต่การแชร์มากไปโดยมีแรงจูงใจบางอย่างต่างหากที่มีปัญหา ซึ่งเราต้องคอยเช็คตัวเองอยู่เสมอว่า การที่เขาเปิดใจเล่าบางอย่างให้ฟัง เราสบายใจจริงๆ ที่จะฟังไหม หรือการที่เขาทำให้เราเชื่อใจจากการที่เขากล้าเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟัง มันแปลว่าเราควรจะ ‘เลือก’ คนนี้ไหม เพราะในความเป็นจริง ความสัมพันธ์นั้นมีหลายแง่มุมที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ และต้องพิจารณามุมอื่นๆ ของเขาไปด้วย
Sanam Hafeez นักประสาทจิตวิทยา อธิบายว่า แรงกระตุ้นของคนเป็น floodlighter นั้น อาจเกิดขึ้นได้โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ ไม่ว่าจะความต้องการที่จะได้รับการตอบสนองต่อบาดแผล ความวิตกกังวล หรืออาจเป็นอันตรายได้ ถ้าเป็นการบงการทางอารมณ์ (emotional manipulation)
บางคนอาจเลือกแชร์เรื่องราวหนักๆ เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้ตัวเอง รีบร้อนให้รู้เรื่องราวที่เป็นแผลใจไปเลย จะได้ตัดง่ายๆ หากอีกฝ่ายไม่โอเค ซึ่งนั่นคือความกลัวภายในจิตใจ ที่บางครั้งก็อาจทำลายความสัมพันธ์ครั้งใหม่ที่กำลังเริ่มต้นหากไม่ระมัดระวังมากพอ โดย Hafeez บอกว่า การอธิบายเรื่องราวเลวร้ายทั้งหมดตั้งแต่เนิ่นๆ มันอาจทำให้อีกฝ่ายหนักใจและกดดันให้อีกฝ่าย ‘ช่วยเหลือ’ แม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
และบางครั้งหากคบกันไปแล้วนานๆ Hafeez บอกว่า “ในตอนแรกดูเหมือนว่าการแบ่งปันทางอารมณ์จะทำให้เกิดความใกล้ชิดกัน แต่สุดท้าย มันอาจกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน เมื่อความต้องการของคุณถูกละเลย”
ละเลยที่ว่านี้ บางคนอาจจะเคยเจอแล้วในความสัมพันธ์ เช่น เขาเอาแต่เอาเรื่องหนักๆ ของเขามาใช้เป็นเกราะกำบังในการไม่รับฟังความรู้สึกของเรา เวลาทำอะไรผิดอาจหยิบแผลใจขึ้นมาพูดถึงเพื่อทำให้เรื่องที่ตัวเองทำผิดดูเบาบางลง หรือโน้มน้าวให้เรา ‘เข้าอกเข้าใจ’ เขามากขึ้น และแน่นอน แบบนี้มันคือการที่เราอาจพยายามอย่างหนักเพื่อเข้าใจเขาอยู่ฝ่ายเดียวก็ได้
Viviana McGovern ผู้เป็นนักบำบัด เตือนว่า ความไม่สมดุลในความสัมพันธ์อาจเกิดขึ้นได้ โดยที่คนที่แชร์นั้นจะมีความเปราะบางกว่า และมองอีกฝ่ายเป็นคนดูแล ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระยะยาว ซึ่งสำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจที่จะเป็น floodlighter เธอก็ชวนให้ทบทวนถึงความรู้สึกตัวเองว่า หากคุณเริ่มจะ trauma dumping (แชร์บาดแผลให้คนอื่นฟังโดยไม่คำนึงถึงคนฟัง) หรือแชร์เรื่องราวต่างๆ มากไปแล้ว ให้พยายามค่อยๆ ชะลอมันลง ซึ่งการบำบัดอาจเป็นวิธีที่ดีในการคลี่คลายปมในใจนี้ และเรียนรู้วิธีแชร์เรื่องราวอย่างเฮลตี้ โดยเฉพาะกับนักบำบัดที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำจาก Payal Patel ผู้เป็นนักบำบัดด้านการแต่งงานและครอบครัว ที่อยากให้ทุกคนลองไตร่ตรองตัวเองก่อนที่จะแชร์เรื่องราวหนักๆ กับใครถึงผลที่อาจตามมา หากเกิดการแชร์เร็วเกินไป และเพื่อไม่ทำให้อีกฝ่ายอึดอัด การแชร์ที่เฮลตี้มากกว่าอาจเป็นการ “เริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น การแบ่งปันบางสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ แล้วค่อยๆ ขยับไปสู่เรื่องที่ใหญ่ขึ้น” ในวันที่เรามั่นใจและ ‘เปิดใจ’ กันแล้วทั้งสองฝ่าย
อ้างอิง:
https://www.today.com/life/relationships/floodlighting-toxic-dating-trend-rcna199554
https://www.womenshealthmag.com/relationships/a64487409/what-is-floodlighting/
https://www.wellandgood.com/lifestyle/what-is-floodlighting-toxic-dating-term
https://www.scarymommy.com/lifestyle/what-is-floodlighting-in-a-relationship
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- ‘Floodlighting’ เมื่อเขาดีพทอล์กใส่รัวๆ แชร์เรื่องหนักๆ ตั้งแต่เดตกันแรกๆ ความใกล้ชิดแบบเร่งรัดในความสัมพันธ์ ที่อาจทิ้งความ ‘อึดอัด’ ให้ฝ่ายที่ยังไม่พร้อม
- Therapist vs ChatGPT แง่มุมทั้งดีและร้ายของการที่คนยุคนี้เลือกแชตบอท AI เป็นที่พึ่งทางใจ แทนการไปหาเทอราพิสต์
- ชวนฟังสัญญาณเตือนของความอ่อนล้า เมื่อร่างกายตะโกนว่า ‘ไม่ไหวแล้ว!’
ตามบทความก่อนใครได้ที่
- Website : Mirror Thailand.com