กกร.ไม่ทน จ่อเดินสายคุย ธปท.-สภาพัฒน์-คลัง-พาณิชย์
กรุงเทพฯ 2 ก.ค. – กกร.ไม่ทน! เตรียมเดินสายจับเข่าคุย ธปท.-สภาพัฒน์-คลัง-พาณิชย์ เพื่อจัดลำดับความสำคัญใหม่ให้ข้อมูลตรงกัน ตามปัจจัยที่ถาโถม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คงจีดีพีปี 68 ที่ 1.5-2% เสนอ ธปท.ลดดอกเบี้ยอีก 0.75% ในปีนี้ ชี้เศรษฐกิจยังไม่แน่นอนสูง ส่งออกครึ่งปีหลังหดตัว เงินบาทแข็งค่าเร็ว ห่วงเสถียรภาพรัฐบาล กระทบเบิกจ่ายงบ ปี 68 -พิจารณางบปี 69 เชื่อเจรจาสหรัฐยังไม่จบในเส้นตาย 9 ก.ค.นี้
นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมี นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมในการแถลงข่าว
นายผยง กล่าวว่า เเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูง แม้การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ จะมีความคืบหน้า โดยเฉพาะกับจีนและสหราชอาณาจักร แต่ยังไม่น่าที่จะได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม ก่อนวันที่ 9 ก.ค. 2568 ซึ่งอาจนำไปสู่การเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้นหากไม่ขยายเวลา ขณะที่เศรษฐกิจประเทศหลักที่มีแนวโน้มแผ่วลง นอกจากนี้ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง อาจมีความรุนแรงขึ้นได้อีก
ขณะที่เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนแรงลง คาดทั้งปี 2568 ขยายตัวในระดับต่ำราว 1.5-2.0% โดยจะเติบโตใกล้เคียง 2.0% หากอัตราภาษีที่ไทยโดนเรียกเก็บยังอยู่ที่ 10% ในครึ่งปีหลัง แต่จะลดลงมาใกล้ 1.5% หากโดนเรียกเก็บที่ 18% หรือครึ่งหนึ่งของอัตรา Reciprocal Tariff ท่ามกลางอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง และมีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวกว่า 10%YoY ทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวใกล้เคียง 0% ให้กรอบไว้ที่ -0.5 ถึง 0.3% ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิต การจ้างงาน และรายได้ของแรงงานในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำกว่าคาด รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2568 ที่เหลืออยู่ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ นอกจากนี้ กกร.ไม่เห็นด้วยกับการประเมินทิศทางเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ถึง 2.3% ดีขึ้นกว่าประมาณการเดิม โดยมองกรอบเงินเฟ้อไว้ที่ 0.5 ถึง 1.0%
สำหรับ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นจุดตั้งต้นของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ตามนโยบายรัฐในการขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบโดยไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ 12 ธันวาคม 2567 มีลูกหนี้ลงทะเบียนแล้ว 1.4 ล้านราย เข้าข่ายร่วมโครงการ 6.3 แสนราย คิดเป็นยอดหนี้ 4.6 แสนล้านบาท และล่าสุดได้ขยายสู่ระยะที่ 2 โดยปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการเดิมและเพิ่มมาตรการใหม่ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุมมากขึ้น ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการ“จ่ายตรง คงทรัพย์” มาตรการ“จ่าย ปิด จบ” และมาตรการ“จ่าย ตัด ต้น” ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก ให้แก่กลุ่มเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ต้องเร่งคู่ขนานกันไปทั้งในการสร้างรายได้ ผลักดันให้ผู้ประกอบการปรับตัว(transform) เพื่อความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสวัสดิการที่จำเป็น รวมถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบและหนี้นอกระบบ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถฟื้นตัวได้อย่างมีศักยภาพ และไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
ทั้งนี้ กกร. กังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว มาอยู่ในช่วง 32.5 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแข็งค่ามากกว่าประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน และค่าเงินบาทโดยเปรียบเทียบ (NEER) แข็งค่าเทียบเท่าก่อนปี 2540 ทำให้ธุรกิจแข่งขันไม่ได้ ซึ่งการแข็งค่าไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวอย่างมาก ภาวะการเงินที่ตึงตัวสินเชื่อไม่เติบโต และทิศทางดอกเบี้ยที่อยู่ในภาวะ Inverted Yield Curve หรือการที่ตลาดคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยจะลดลงในระยะข้างหน้า จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เร่งดูแลทิศทางของค่าเงินให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ แยกแยะและลดผลกระทบจากปัจจัยอื่นที่กระทบค่าเงินบาท เช่น การซื้อขายทองคำ การเกินดุลการชำระเงินที่สูงอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
ตัวเลขการส่งออกสินค้าในปัจจุบันที่แม้จะมีการขยายตัวสูง แต่มาจากการนำเข้าที่สูงเช่นกัน สะท้อนจากการผลิตและการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับต่อเนื่องนับตั้งแต่ covid-19 ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีต่อเนื่อง ได้แก่ ปัญหาการสวมสิทธิ์เพื่อการส่งออกสินค้า (transshipment) การนำเข้าสินค้าคุณภาพต่ำที่ยังมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันและควบคุม และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่ไม่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มและสนับสนุนการสร้าง supply chain ในประเทศ การเร่งการแก้ไขปัญหาการสวมสิทธิ์ต้องอาศัยความร่วมมือด้านการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งนอกจากภาครัฐ เอกชนไทย ยังรวมถึงผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาอย่างถูกต้องและสนับสนุนธุรกิจในประเทศ เพื่อยกระดับในการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ
กกร. จึงมีแนวทางที่จะขอเข้าพบ ธปท. สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงแนวทางในการมองเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วน รวมถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาคการเงินและภาคอุตสาหกรรมในการร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อชี้เป้าอุตสาหกรรมและจัดลำดับความสำคัญ เนื่องจากทรัพยากรที่มีจำกัด ในการส่งเสริมการปรับความสามารถในการผลิตของไทย (competitiveness) รวมไปถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าการลงทุนจากต่างชาติที่ ธปท. ร่วมกับ สภาพัฒน์ กระทรวงพาณิชย์ และ กกร. ร่วมกันศึกษา
“แผนงานที่ กกร.จะนำเสนอนั้นมีหลายเรื่อง ซึ่งจะหารือกันให้เกิดความชัดเจน เช่น ภายใน 6 เดือน หรือภายใน 1 ปีจะต้องดำเนินการในเรื่องใดให้สำเร็จบ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และความมั่นคงให้กับนักลงทุน” นายผยง กล่าว
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองนั้น จะต้องเร่งทำให้เกิดเสถียรภาพอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา โดย กกร.ไม่ได้สนใจว่าใครจะเป็นรัฐบาล แต่ขอให้สามารถทำงานได้ และรับฟังเสียงสะท้อนของภาคเอกชน สิ่งที่กังวล คือ เรื่องมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร หรือจะมีการขยายเวลาออกไปอีกหรือไม่ ขณะที่ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และมีมิติที่ซ้ำซ้อนทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และความมั่นคง ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ยังคงเป็นไปตามกรอบรัฐธรรนูญ ถึงแม้จะมีการชุมนุมทางการเมือง ก็เหมือนกับในประเทศอื่น ๆ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า กกร.จะไม่ทน ต้องหารือเชิงรุกแข่งกับเวลา ครั้งนี้จะต้องมีความชัดเจน เช่น การบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ส่งออกยังไม่เต็มที่ ข้อมูลในช่วง 5 เดือนแรก ชี้ชัดว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ เติบโตกว่า 27% ไม่ได้มาจากกำลังการผลิตในประเทศ แต่เป็นทางผ่านจากการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนปัญหาการค้าชายแดนไทย-กัมพูชานั้น ผู้ประกอบการได้มีการปรับตัวโดยการส่งออกไปทางเรือ ซึ่งมีราคาสูงขึ้น 6 เท่า เนื่องจากมีปริมาณระวางเรือไม่เพียงพอ ขณะที่โรงงานในกัมพูชาได้นำเข้าวัตถุดิบจากประเทศ อื่นทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น และมีความต้องการเรื่องสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงปัจจัยทางการเมือง เมื่อเกิดกรณี ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้นักลงทุนจับตาว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งยังไม่ได้มีการตัดสินใจ เหตุการณ์ต่าง ๆ มาเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นช่วงที่มีความเปราะบาง อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ธปท.ควรต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้ง หรือปรับลดลงอีก 0.75% รวมถึงการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ จากปัจจุบันที่ปรับตัวแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ.-516-สำนักข่าวไทย