DSI บุกจับขบวนการรีดหัวคิวแรงงานต่างด้าว โยงฟอกเงินผ่านเจ้าหน้าที่กัมพูชา
DSI บุกทลายขบวนการรีดหัวคิวแรงงานต่างด้าว ประมาณ 2,500 บาทต่อราย โยงฟอกเงินผ่านเจ้าหน้าที่กัมพูชา บางส่วนพบวนกลับมาคนไทย
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 3 ก.ค. 68 ที่บริษัทแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน เค.ซี รามอินทรา 7 ถนนไทยรามัญ แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา กทม. พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร.ต.อ.ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผอ.กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ พ.ต.ท.ธนวัฒน์ วงศ์อนันต์ชัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ นายจินกร แก้วศรี รอง ผอ.กองคดีการฟอกเงินทางอาญา และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่ตรวจค้น 4 จุดเป้าหมายในกรุงเทพฯ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานขบวนการรีดหัวคิวแรงงานนำไปฟอกเงินผ่านเจ้าหน้าที่กัมพูชา
พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวภายหลังเข้าตรวจค้นว่า ตนได้รับรายงานจากคณะพนักงานสืบสวน จึงได้มีการลงพื้นที่ตรวจค้นกลุ่มขบวนการรีดเงินค่าหัวคิวจากแรงงานต่างด้าว ซึ่งมาจากการปรับวิธีการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว มาใช้วิธีระบบออนไลน์ รวมถึงจากข้อมูลการสืบสวนนั้น นอกจากแรงงานต่างด้าวจะต้องจ่ายค่าใบอนุญาต ค่าประกันสังคม ค่าตรวจสุขภาพแล้ว กลับยังต้องจ่ายเงินอีก 2,500 บาทต่อราย หรือมากกว่านั้น โดยเป็นการจ่ายผ่านบัญชีม้าหรือบัญชีนอกระบบ
หากคูณจำนวนแรงงานกัมพูชาที่มีประมาณกว่า 280,000 ราย จะพบว่า มีแรงงานกัมพูชาที่ได้ต่อใบอนุญาตไปแล้วประมาณ 180,000 ราย คำนวณเป็นเงินประมาณ 300-400 ล้านบาท แต่ถ้าต่อใบอนุญาตครบทุกคน จะมีเงินที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับแรงงานกัมพูชาตรงนี้สูงถึง 700 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าเพียงแรงงานกัมพูชาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การสืบสวนเส้นทางการเงินยังพบว่ามีการโอนผ่านไปยังเจ้าหน้าที่กัมพูชา ซึ่งจะต้องนำไปขยายผลตรวจสอบว่า มีการอ้างชื่อ มีการใช้บัญชีม้า หรือเป็นตัวจริงหรือไม่
หลังจากเส้นเงินโอนผ่านไปยังเจ้าหน้าที่กัมพูชาแล้ว บางส่วนก็มีการวนกลับมายังบุคคลไทยอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเราตรวจพบจากรายการเดินบัญชี (Statement) ประมาณร้อยล้านบาทที่วนกลับมา แต่ก็ต้องไปขยายผลดูเรื่องบัญชีม้าต่อไป
สำหรับพฤติการณ์ของกลุ่มขบวนการดังกล่าว พนักงานสืบสวนพบว่า หากแรงงานกัมพูชาไม่จ่ายค่าส่วนต่าง 2,500 บาทนี้ ก็มีการอ้างว่าระบบออนไลน์ในการต่อใบอนุญาตการทำงานจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้แรงงานไม่ได้รับเอกสารสำหรับไปใช้ในการตรวจสุขภาพ หรือทำประกันต่าง ๆ หรือยื่นขอต่อวีซ่า ตรงนี้ถือเป็นความเดือดร้อนของแรงงานต่างด้าว ที่มาทำงานในไทยได้ค่าจ้างเพียง 300-400 บาท แต่กลับต้องมาจ่ายค่าเรียกเก็บหัวคิว ทั้งนี้ อาจเป็นการร่วมกันทำระหว่างเจ้าหน้าที่กัมพูชาและไทย จึงต้องสืบสวนเพิ่มเติม
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า สำหรับที่มาที่ไปของขบวนการรีดหัวคิว พบว่าเริ่มทำตั้งแต่เดือน พ.ย.2567 นับตั้งแต่กระทรวงแรงงานของไทยได้มีประกาศกระทรวงแรงงาน ลงวันที่ 26 พ.ย.67 ผ่อนผันให้มีการต่อใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ที่ครบกำหนดวันสิ้นสุดการอนุญาตในวันที่ 13 ก.พ.68 ซึ่งประกอบด้วย เมียนมา 2,012,856 คน กัมพูชา 287,557 คน ลาว 94,132 คน และเวียดนาม 3,673 คน โดยกำหนดเงื่อนไขใหม่ขึ้นมาว่าผู้ที่จะต่อใบอนุญาตทำงานได้ ต้องได้รับการรับรองจากสถานทูตและนายหน้าจัดหางาน (AGENCY) จากประเทศต้นทางเสียก่อน จึงทำให้มีขบวนการเรียกรับเงินจากแรงงานต่างด้าวที่ต้องการจะต่อใบอนุญาตทำงานดังกล่าว ส่วนจะมีความเชื่อมโยงกับคนในกระทรวงแรงงานหรือไม่ ก็ต้องสืบสวนให้ชัดเจน เพราะเราพบว่าปลายปี 67 ดังกล่าวมีการปรับระบบในการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าวขึ้นมา โดยระบบออนไลน์
ดังนั้น คนที่จะต่อใบอนุญาตจะต้องประสานผ่านบริษัทจัดหางาน และคนพวกนี้จะมีการคีย์เข้าระบบว่ามีแรงงานใดบ้างจะขอต่อใบอนุญาต รวมถึงมีการอ้างจ่ายค่าส่วนต่างตรงนี้ว่าแรงงานต้องจ่าย ระบบจึงจะดำเนินการได้ ส่วนบัญชีม้าที่พบ เราเจอทั้งคนต่างด้าวและคนไทย ก็ต้องไปพิสูจน์ทราบต่อไป
นอกจากนี้ ส่วนประเด็นที่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่กัมพูชาเข้ามาเกี่ยวข้องกับขบวนการรีดค่าหัวคิวนั้น ในข้อมูลการสืบสวนเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง ส่วนเส้นทางการเงินของเจ้าหน้าที่กัมพูชาระดับสูงที่โอนเงินมายังคนไทย ซึ่งคนไทยที่ว่านี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ เเต่เป็นบุคคลหรือเป็นเอกชน ซึ่งก็อาจจะเป็นตัวแทนหรือนอมินีก็ได้ โดยเบื้องต้นพบเจ้าหน้าที่กัมพูชาประมาณ 2-3 ราย ขณะที่มูลค่าเงินที่มีการโอนจากฝั่งไทยไปยังเจ้าหน้าที่กัมพูชา ประมาณ 100 ล้านบาท แต่ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างรวบรวมรายการเดินบัญชีจากธนาคารต่าง ๆ คาดว่าอาจมีสูงกว่านี้
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยอีกว่า สำหรับค่าหัวคิว 2,500 บาทที่ได้จากการแรงงานต่างด้าว เมื่อไปดูขั้นตอนการแบ่งเปอร์เซ็นต์กันของคนไทยและเจ้าหน้าที่กัมพูชาที่ทำร่วมกัน พบว่าเปอร์เซ็นต์ไม่แน่นอน นอกจากนี้ หากดูสถิติการต่อใบอนุญาตแรงงานกัมพูชาที่ต่อไปแล้ว 180,000 ราย ดังนั้น หากเป็นไปตามการสืบสวน ที่อ้างว่าไม่จ่ายจะต่อใบอนุญาตไม่ได้ เงินจะสูงถึง 400-500 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้คือเงินที่ไหลออกนอกระบบผ่านบัญชีม้า
การกระทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องเงิน มันคือการกระทำผิดในมูลฐานความผิดฟอกเงิน ดังนั้นการได้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและมีการโอนผ่านบัญชีม้าหรือบุคคลอื่น ก็ถือเป็นพฤติการณ์ปกปิดอำพรางและเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สิน เข้าข่ายเป็นการฟอกเงิน แล้วยังมีการโอนไปยังต่างประเทศ และโอนกลับมาไทยอีกนั้น ก็เป็นการปกปิด เข้าข่ายเป็นความผิดอาญาฐานฟอกเงินด้วย แต่ต้องขยายผลก่อน เรื่องความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่กัมพูชานั้น เราทราบเบาะแสแล้ว แต่ขอให้มีการสืบสวนอย่างชัดเจนก่อน รวมไปถึงการสันนิษฐานว่าอาจมีเจ้าหน้าที่ไทยไปเกี่ยวข้อง ก็ต้องสืบสวนให้ชัดเจน
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวด้วยว่า สำหรับจุดเป้าหมายที่ตรวจค้นในวันนี้ซึ่งเป็นสำนักงานพบว่ามีเจ้าของเป็นคนไทย และทำธุรกิจโดยคนไทย เพียงแต่ว่ามีผลประโยชน์ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา ส่วนการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยเฉพาะในส่วนการเรียกหักค่าหัวคิวแรงงาน 2,500 บาทต่อรายนั้น พบว่ามีบุคคลที่คอยชี้บอกว่าจะต้องจ่ายเงินส่วนต่างจำนวนดังกล่าวผ่านบัญชีตามที่กำหนด ซึ่งที่เราพบก็คือบัญชีที่ผ่านไปยังเจ้าหน้าที่ของกัมพูชา
โดยพฤติการณ์ คือ คนไทยไปพูดกับคนไทยเรื่องการหักค่าหัวคิวดังกล่าวกับแรงงานกัมพูชา ว่าต้องจ่าย 2,500 บาท ทั้งนี้ เบื้องต้นพบว่าบุคคลที่อยู่ในขบวนการเครือข่ายนี้มีประมาณมากกว่า 10 ราย กระจายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
คนงานที่ถูกหักค่าหัวคิวส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน ซึ่งแรงงานกัมพูชาเพียงอย่างเดียวก็ประมาณ 280,000 ราย ขณะที่แรงงานเมียนมา ประมาณ 2,000,000 ราย ดังนั้น หากรวมจำนวนแรงงานเกือบทุกสัญชาติ (ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม) และมีการไปเก็บค่าหัวคิวรายละ 2,500 บาท มันจะมีเงินที่ถูกใช้ในขบวนการดังกล่าวทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท ซึ่งโดยปกติแล้วแรงงานจะจ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ประมาณ 3,700 บาทต่อราย ก็จะเป็นค่าประกันสังคม ค่าตรวจสุขภาพ ค่าต่อใบอนุญาต แต่มีการไปถูกบวกเพิ่มเรื่องการต่อใบอนุญาตระบบออนไลน์อีก 2,500 บาท ซึ่งการต่อใบอนุญาตดังกล่าวเกิดขึ้นสองปีครั้ง
ตอนนี้พบเพียงแรงงานกัมพูชาที่ถูกอ้างเรื่องการต่อใบอนุญาตผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น จึงพบว่ามีเรื่องของผลประโยชน์ร่วมกันเกิดขึ้น สำหรับขอบเขตการรับผิดชอบดังกล่าวจะอยู่ที่กระทรวงแรงงานไทยและกระทรวงแรงงานกัมพูชา แต่ก็ต้องมีหลักฐานชัดเจนก่อนว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อหาลักษณะของงานอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน ส่วนจะเป็นเจ้าหน้าที่ภายในกระทรวงแรงงานด้วยหรือไม่นั้น ต้องขยายผลต่อไป ส่วนจะมีกลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับใดของกระทรวงแรงงานที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตการต่ออายุของแรงงานต่างด้าว มีตั้งแต่ระดับปฏิบัติงานจนถึงผู้ที่สามารถอนุมัติได้
นอกจากนี้ การลงพื้นที่เปิดปฏิบัติการตรวจค้นเป้าหมาย 4 จุดในวันนี้ ประกอบด้วยบริเวณพื้นที่ 7 ถนนไทยรามัญ แขวงสามวาตะวันตก เขตคลองสามวา กทม. จำนวน 2 จุด และอีก 2 จุด อยู่ที่บริเวณถนนแจ้งวัฒนะ กทม. โดยเบื้องต้นวันนี้ได้มีการสอบสวนปากคำพยานบุคคลไปแล้ว 2 ราย คือ เจ้าของบริษัทและพนักงาน
ขณะที่ พ.ต.ท.ธนวัฒน์ วงศ์อนันต์ชัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการตรวจยึดพยานเอกสารประเภท หลักฐานที่ใช้ในการต่อใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว และเอกสารอนุมัติ เป็นต้น ซึ่งมีเอกสารจำนวนมาก และเชื่อว่ายังมีเอกสารที่ถูกจัดเก็บกระจายไปยังสำนักงานจุดอื่นอีกมาก
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ รายงานว่า กรณีนี้สืบเนื่องจากได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้ใช้ชื่อว่า "กลุ่มนายจ้าง" ที่ได้รับความเดือดร้อน ร้องเรียนว่า ตามที่กระทรวงแรงงานของไทยได้มีประกาศกระทรวงแรงงาน ลงวันที่ 26 พ.ย.67 ผ่อนผันให้มีการต่อใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ที่ครบกำหนดวันสิ้นสุดการอนุญาตในวันที่ 13 ก.พ.68 ซึ่งประกอบด้วย เมียนมา 2,012,856 คน กัมพูชา 287,557 คน ลาว 94,132 คน และเวียดนาม 3,673 คน โดยกำหนดเงื่อนไขใหม่ขึ้นมาว่าผู้ที่จะต่อใบอนุญาตทำงานได้ ต้องได้รับการรับรองจากสถานทูตและนายหน้าจัดหางาน (AGENCY) จากประเทศต้นทางเสียก่อน จึงทำให้มีขบวนการเรียกรับเงินจากแรงงานต่างด้าวที่ต้องการจะต่อใบอนุญาตทำงานดังกล่าว โดยแรงงานต่างด้าวแต่ละคน จะจ่ายเงินเพิ่มเติมจากค่าใช้จ่ายปกติตามที่ทางราชการกำหนด อีกรายละ 2,500 บาท โดยการบอกกล่าวจากนายหน้าคนไทย เป็นคนแจ้งไปยังนายจ้างและแรงงานต่างด้าวให้โอนเงินส่วนนี้ผ่านบัญชีม้า ซึ่งเป็นบัญชีของคนต่างด้าวด้วยกัน หากไม่จ่ายเงินส่วนนี้ก็จะไม่ได้รับการอนุมัติให้ต่อใบอนุญาตทำให้แรงงานต่างด้าวเกิดความกลัวว่าจะถูกจับกุม จึงยอมทำตาม สร้างความเสียหายให้กับแรงงานต่างด้าว นายจ้าง และบริษัทผู้รับจ้าง
จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่าเงินจำนวนดังกล่าว บางส่วนได้ถูกโอนไปยังเจ้าหน้าที่ของกัมพูชา โดยในวันนี้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เข้าทำการตรวจค้น จำนวน 4 จุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ เป็นผู้ดำเนินการรับต่อใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานสัญชาติกัมพูชา ผลการตรวจค้นพบพยานหลักฐาน อันเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนและจะทำการขยายผลต่อไป.
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : DSI บุกจับขบวนการรีดหัวคิวแรงงานต่างด้าว โยงฟอกเงินผ่านเจ้าหน้าที่กัมพูชา
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath