ทบทวนการจัดการความเร็วบนถนน ลดความเสี่ยงทางข้าม-ม้าลาย
ข้อมูลจาก บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่าระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค. 68 หรือเฉพาะ 5 เดือนที่ผ่านมา มีคนเดินเท้าเสียชีวิตแล้ว 300 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วง 5 เดือนแรกของปี 67 ที่มี 265 ราย
หากจำแนกพฤติกรรมและลักษณะการเกิดอุบัติเหตุ พบจุดข้ามทางม้าลาย ยังเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุน้อยสุด ส่วนใหญ่การเสียชีวิตของคนเดินเท้ามักเกิดขึ้นในจุดที่ไม่มีการจัดการทางข้าม
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยผ่าน “ทีมข่าวอาชญากรรม” ว่าสถิติข้างต้นเป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ของปัญหาทางข้าม/ม้าลาย ซึ่งเร็ว ๆ นี้ เพิ่งเกิดอุบัติเหตุปรากฏเป็นข่าว 2 เคสในพื้นที่ กทม. และต่างจังหวัด
เคสใน กทม. เป็นกรณีรถเมล์เปิดเลนเองวิ่งย้อนศรชนหญิงสาว ขณะข้ามทางม้าลายได้รับบาดเจ็บสาหัส อีกเคสเกิดขึ้นในพื้นที่อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ มีรถยนต์ชนผู้สูงอายุขณะข้ามทางม้าลายบริเวณด้านหน้าโรงพยาบาล พร้อมเผยข้อสังเกตสำคัญจากอุบัติเหตุดังกล่าวคือ ถนนที่มีหลายช่องจราจร (เลน) แต่ไม่มีที่พัก และถนนทางหลวง/ทางหลวงชนบทที่มีขนาดเลนกว้าง ทำให้รถมักใช้ความเร็ว
ผู้จัดการ ศวปถ. ชี้ว่าถนนในเมือง หากเป็นต่างประเทศมักมีแค่ 2 หรือ 4 เลน หากต้องข้ามเกิน 2 เลน จะต้องมีเกาะพัก แต่เคสรถเมล์เปิดเลนย้อนศรชนคนข้ามล่าสุด พบว่าถนนมีลักษณะหลายเลนแต่ไม่มีจุดพัก การมีรถอยู่หลายเลนทำให้การมองข้ามเลนไม่ง่าย ยังไม่รวมการมีรถใหญ่วิ่งในเมืองยิ่งเพิ่มความเสี่ยง ในจำนวนนี้ไม่ใช่แค่รถบรรทุก แต่รวมถึงรถขนาดใหญ่อย่างรถเมล์ที่จะมีมุมอับสายตา การมองด้านข้างไม่ง่าย
“โดยพฤติกรรมคนข้ามจะมองขวา พอถึงเส้นแบ่งเลนสวนถึงมองซ้ายเพื่อระวังอีกฝั่ง ไม่คิดว่าจะมีรถเปิดเลนขวา กายภาพถนนที่มีหลายเลนเช่นนี้ เพิ่มโอกาสเสี่ยง และความยากให้คนข้าม”
อย่างไรก็ตาม เสนอให้ผลักดันการแก้ไขที่รากปัญหา หรือ “ใต้ภูเขาน้ำแข็ง” เนื่องจากถนนในประเทศไทยมีโจทย์เดียวกัน ไม่ว่าถนนในเมืองหรือต่างจังหวัด คือ ถนนหลายเลนและไม่มีเกาะพัก โดยเฉพาะถนนทางหลวง/ทางหลวงชนบท ที่เข้าถึงชุมชนทั่วประเทศ ปัจจุบันมีขนาดเลนกว้าง 3.5 เมตร ความกว้างดังกล่าวเอื้อให้คนขับขี่ใช้ความเร็ว
ดังนั้น มองว่าถึงเวลาควรทบทวนการจัดการความเร็วใหม่ ทั้งเรื่องการตัดถนนผ่านชุมชน และความกว้างของเลน ที่อาจไม่ต้องเปลี่ยนถนนใหม่ แต่ใช้วิธีอื่น เช่น การบีบเลน ตีเส้นเลนใหม่ และมีจุดพักระหว่างทางข้าม
ผู้จัดการ ศวปถ. เผยด้วยว่า แม้จะมี ถนนเลี่ยงเมือง หรือ บายพาส (Bypass) ซึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้องหากต้องการใช้ความเร็ว สามารถเลือกไปวิ่งเส้นเลี่ยงเมืองแทนได้ แต่ความเป็นจริงก็ต้องยอมรับถนนบายพาสช่วงแรกสองข้างทางอาจเป็นเพียงทุ่งนา แต่ผ่านไปสักพักจะกลับกลายเป็นเมือง เนื่องจากลักษณะเมืองของประเทศไทยมักโตริมทาง มีการเกิดขึ้นของชุมชน มีกิจกรรมเคลื่อนไหวที่ต้องข้ามไปมาหากัน
“รากปัญหาบ้านเราคือเมืองโตริมถนน เราไม่สามารถกำกับการเติบโตของเมืองได้อย่างถูกต้อง ถนนที่เพิ่งตัดใหม่อาจดูโล่ง แต่สักพักจะมีเพิง มีร้านริมทาง มีปั๊มน้ำมัน มีคอนโดฯ มีห้องแถว มีร้านสะดวกซื้อ มีกิจกรรมข้างทางเยอะ ทำให้การข้ามถนนไปมาเกิดขึ้นอยู่ตลอด”
นอกเหนือการทำให้จุดชุมชนที่คนพลุกพล่าน มีคนข้าม ต้องไม่ใช้ความเร็ว ต้องมีจุดพัก หรือรถที่วิ่งมาต้องรู้ว่าข้างหน้ามีทางม้าลาย ผู้จัดการ ศวปถ. ทิ้งทิ้าย การกำกับรถขนาดใหญ่ที่มีจุดอับสายตาที่วิ่งในเมืองควรต้องเพิ่มความเข้มงวด และที่สำคัญเสนอให้ทุกเคสที่เกิดขึ้นกับคนข้ามถนนควรถูกตรวจสอบเชิงลึก เพื่อวิเคราะห์สาเหตุ เพราะในแต่ละเหตุการณ์อาจไม่ใช่แค่พฤติกรรมคนขับ หรือปัญหากายภาพเท่านั้นด้วย.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน