โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

‘เอทานอล’ ล้นตลาดพิษราคาตก วอนรัฐปลดล็อกขยายสู่อุตฯใหม่

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 20 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา
เจษฎา ว่องวัฒนะสิน

สัมภาษณ์พิเศษ

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด อุตสาหกรรมเอทานอลของไทยกลับเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง เมื่อความต้องการใช้ในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กำลังการผลิตยังคงล้นตลาด ราคาตกต่ำ และการสนับสนุนจากภาครัฐยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนเพื่อความอยู่รอด

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายเจษฎา ว่องวัฒนะสิน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย ถึงสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมเอทานอลในประเทศไทยที่เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เมื่อความต้องการใช้ในประเทศกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง กำลังการผลิตที่ยังคงล้นตลาด ผลพวงจากราคาผลผลิตต้นทางที่ลดต่ำลง และการสนับสนุนจากภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจน ขาดความต่อเนื่อง

“มัน-กากน้ำตาล” ล้น-ราคาตก

ตอนนี้ผู้ผลิตกำลังเผชิญกับภาวะล้นตลาดอย่างรุนแรง โดยกำลังการผลิตรวมในประเทศสูงถึง 7 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้จริงอยู่เพียง 3 ล้านลิตรต่อวัน ส่งผลให้เกิดความแตกต่างระหว่างดีมานด์และซัพพลาย ทำให้ราคาขายปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่ราคาขายเอทานอลในตลาดเดือนตุลาคม 2567 เคยสูงถึง 28.32 บาทต่อลิตร ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 17-18 บาทต่อลิตร ในช่วงต้นปี 2568

ปัญหาหลัก คือ ความต้องการใช้เอทานอลในตลาดที่ลดลง ทั้งจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงราคาวัตถุดิบหลักอย่างมันสำปะหลังและกากน้ำตาลที่ตกต่ำลง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตจำเป็นต้องลดราคาขายเพื่อระบายสต๊อกเอทานอลที่มีมากสะสมอยู่ เนื่องจากไม่สามารถขายได้ในราคาสูงเช่นเดิม

กระทรวงพลังงานแจ้งว่า ในปี 2567 ราคากากน้ำตาลเฉลี่ย 5.79 บาทต่อกิโลกรัม และราคาหัวมันสดคละ 3.07 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ปี 2568 ราคากากน้ำตาลช่วงเดือน ม.ค. อยู่ที่ 7.88 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงเหลือ 4.04 บาท/กก. ในเดือนเมษายน และราคาหัวมันสดช่วงเดือนมกราคม อยู่ระหว่าง 2.00-2.45 บาท/กก. ลดลงเหลือ 1.70-2.00 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนเมษายน

ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตเอทานอลประมาณ 28 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 6.92 ล้านลิตรต่อวัน แต่หลายโรงงานยังไม่สามารถผลิตเต็มกำลังได้ โดยบางแห่งเดินเครื่องผลิตต่ำกว่า 50% ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาด้านความต้องการใช้ในตลาดที่ลดลงอย่างชัดเจน

“ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยไม่เคยประสบปัญหาขาดแคลนเอทานอล เนื่องจากมีวัตถุดิบทางการเกษตรที่เพียงพอ แต่ปัญหาที่แท้จริง คือ การบริหารจัดการวัตถุดิบที่ยังไม่สมดุล บางช่วงมีการกักเก็บสต๊อกมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถผลิตหรือจำหน่ายได้เต็มที่”

ดัน E20 น้ำมันพื้นฐานไม่คืบ

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ความต้องการลดลงอย่างมาก คือ ทิศทางนโยบายภาครัฐ โดยแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ฉบับปัจจุบัน มีเป้าหมายในการลดการใช้เอทานอล และยังมีการปรับลดการอุดหนุนราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายเอทานอลลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจจึงได้รับผลกระทบอย่างหนัก

นอกจากนั้นยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 และ E20 ให้เป็นน้ำมันพื้นฐานที่ใช้ในประเทศ ส่งผลให้การวางแผนการผลิตและการจัดหาวัตถุดิบไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะความต้องการใช้งานจริงไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของภาครัฐที่ตั้งไว้

ในช่วงที่ผ่านมา สมาคมได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอให้ภาครัฐและกระทรวงพลังงานกำหนดน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐานสำหรับกลุ่มเบนซิน เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น แต่จนถึงตอนนี้ ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้รับความชัดเจนและถูกเลื่อนการพิจารณาออกไป

หากมีการกำหนดให้น้ำมัน E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน จะประหยัดกว่าน้ำมันประเภทอื่น ๆ ซึ่งจากข้อมูลการวิจัยของสถาบันยานยนต์ได้มีการทดสอบแล้ว พบว่า ราคาน้ำมัน E20 ต่างกว่า E10 และแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ 7% แต่อัตราการสิ้นเปลือง ประหยัดกว่า 8% และสมรรถนะอัตราเร่งและแรงม้าของ E20 ไม่ต่างจากน้ำมันชนิดอื่น

ขอใช้เอทานอลผลิตน้ำมันเครื่องบิน

นอกเหนือจากการใช้ในภาคพลังงานแล้ว ผู้ผลิตยังต้องการให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เอทานอลถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมคอสเมติกส์ อุตสาหกรรมการสกัดสมุนไพร รวมถึงอุตสาหกรรมเคมี แต่เพราะเอทานอลเป็นสินค้าควบคุมของกรมสรรพสามิต การผลิตและการใช้จึงถูกจำกัดไว้ตามปริมาณที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเท่านั้นซึ่งจำกัดโอกาสในการขยายตลาดและเพิ่มความต้องการใช้ในประเทศ ถ้ารัฐสามารถปลดล็อกข้อจำกัดนี้ เปิดโอกาสให้เอทานอลเข้าไปใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายมากขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มความต้องการใช้ภายในประเทศ

ที่ผ่านมาไทยเน้นผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil) เป็นหลัก แต่ปริมาณน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วในประเทศยังไม่เพียงพอ และต้องนำเข้าเพิ่มเติม ภาคเอกชนได้ผลักดันการผลิตเอทานอลชีวภาพ (Bioethanol) ที่สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต SAF ได้ โดยกระบวนการผลิต SAF จากเอทานอล โดยใช้เทคโนโลยี Alcohol-to-Jet (ATJ) สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 70-80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วไป

หากนำเอทานอลมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมัน SAF เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว มองว่าไม่มีความแตกต่างกันมาก เพราะมีการกำหนดคุณภาพและมาตรฐานของน้ำมัน SAF ที่ชัดเจน ทั้ง ลักษณะ สี กลิ่น ปริมาณการตกตะกอน แต่ไม่ทราบเหตุผลว่า ทำไมถึงเลือกใช้น้ำมันปรุงอาหารมาแทน เพราะในประเทศไทยมีเอทานอลล้นตลาด และมากกว่าปริมาณของน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วที่มีไม่เพียงพอ

ดังนั้น การส่งเสริมให้เอทานอลเป็นวัตถุดิบอีกทางเลือกในการผลิต SAF จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมและเป็นไปได้ เพราะไทยมีปริมาณเอทานอลล้นตลาดอยู่แล้ว นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังมีความพยายามในการใช้เอทานอลเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอโพลีโพรพิลีน (Bio-Polypropylene หรือ Bio-PP) พลาสติกชีวภาพชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าพลาสติกโพลีโพรพิลีนทั่วไป แต่ผลิตจากวัตถุดิบชีวภาพ เช่น เอทานอลจากอ้อย การพัฒนาไบโอโพลีโพรพิลีนถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าเอทานอล และสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างยั่งยืน

อนาคตเอทานอลขึ้นอยู่กับรัฐ

ทิศทางเอทานอลของไทยในอนาคต เชื่อว่ายังมีความหวัง และคิดว่าเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน เพียงแต่จะต้องมีนโยบายและได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจน เหมือนกับอินเดียที่เดินหน้าใช้น้ำมันผสมเอทานอล (E20) ตั้งเป้าครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2025-2026 รวมถึงบราซิลได้เดินหน้านโยบายผสมเชื้อเพลิงในระดับ E20-E27 ด้วย

ผู้ประกอบการภาคเอกชน เกษตรกรชาวไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลังจึงอยากให้ภาครัฐผลักดันให้เกิดการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น พร้อมกับผลักดันให้ใช้น้ำมัน E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน หรือใช้ในอุตสาหกรรมคอสเมติกส์ เครื่องสำอาง หรือกลุ่มที่ต้องการใช้เอทานอลเป็นตัวทำละลาย ใช้สารเคมีที่เป็นไบโอเบสและฟอสซิลจริง ๆ ถ้าเปิดโอกาสมากขึ้นก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจและตอบโจทย์ความยั่งยืนของประเทศ

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ‘เอทานอล’ ล้นตลาดพิษราคาตก วอนรัฐปลดล็อกขยายสู่อุตฯใหม่

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ประชาชาติธุรกิจ

แนวโน้มราคาทองวันนี้ (18 ก.ค. 68) บทวิเคราะห์โดย YLG Bullion

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ศาลฯถอนคุ้มครองชั่วคราว เนสทเล่เดินหน้าเลิกธุรกิจกับ 'มหากิจศิริ'

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

กรมอุตุฯเปิดภาพ-อัพเดตเส้นทาง เตือนพายุ "วิภา" ถล่มไทย 19-24 ก.ค.นี้

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ราคาทองวันนี้ (18 ก.ค. 68) คงที่ รูปพรรณบาทละ 52,050 บาท

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความธุรกิจ-เศรษฐกิจอื่น ๆ

SET ปิดเช้าบวก 7.06 จุด วอลุ่ม 3.3 หมื่นล้าน ฟื้นตัวต่อเนื่องรับความคาดหวังเจรจาไทย-สหรัฐสำเร็จ

สยามรัฐ

รู้ก่อนใคร! 4 ฉากทัศน์ ตั้งรับลุ้นดีลสหรัฐฯ

หุ้นวิชั่น

ไทยพาณิชย์

Positioningmag

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตือนผู้ประกอบการไทย เตรียมรับมือมาตรการคาร์บอนจาก EU เพิ่มต้นทุนสินค้าส่งออกปี 2569

The Better

BE8 ผนึกพันธมิตรผลักดัน AI สู่พลังเศรษฐกิจใหม่ชี้การเติบโตสูง คาดผู้ใช้งานแตะ 1 พันล้านรายภายในปีนี้

Manager Online

พิชัย มั่นใจ สหรัฐเก็บภาษีไทยไม่เกิน 20% เท่าเทียมภูมิภาค เผยคุยUSTR ราบรื่น รอลุ้นผลก่อนเส้นตาย 1 ส.ค.

MATICHON ONLINE

รมว.คลัง คาดไทยได้ภาษีสหรัฐฯ ไม่เกิน 20%

การเงินธนาคาร

“บริษัทสหรัฐ” แห่ซื้อออปชันยูโรป้องกันความเสี่ยง หวั่นค่าเงินแข็งเกินพื้นฐาน ฉุดรายได้ต่างประเทศ

การเงินธนาคาร

ข่าวและบทความยอดนิยม

รวมพลคนรัก... Suzuki Jimny

ประชาชาติธุรกิจ

‘เอทานอล’ ล้นตลาดพิษราคาตก วอนรัฐปลดล็อกขยายสู่อุตฯใหม่

ประชาชาติธุรกิจ

ส่งออกข้าวไทยปีนี้ส่อวืดเป้า ทรัมป์เอฟเฟ็กต์แถมเจอเงินบาทแข็งค่า

ประชาชาติธุรกิจ
ดูเพิ่ม
Loading...