สว. เปิดผลการศึกษา พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ 4 มาตรา ไม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจริง ขอศึกษาต่อแม้รัฐบาลส่อถอนร่างออก
วันนี้ (7 กรกฎาคม) ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ที่มี มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ในวาระรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร หรือ Entertainment Complex วุฒิสภา
โดย นพ.วีระพันธุ์ สุวรรณามัย สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวรายงานว่า กรรมาธิการฯ ได้ดำเนินการพิจารณาศึกษาอย่างรอบด้าน ทั้งจากเอกสารวิชาการ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลที่สืบค้นได้จากสื่อมวลชนต่างๆ อีกทั้งยังได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ อดีตนายกรัฐมนตรี นักวิชาการ ผู้แทนหน่วยงานราชการ และองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เข้าให้ความเห็นเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ
นพ.วีระพันธุ์ ระบุว่า คณะกรรมาธิการฯ มีข้อสังเกตและความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ในเบื้องต้น แบ่งเป็น 3 ด้านสำคัญ แต่ละด้านมีข้อย่อย ที่สะท้อนถึงข้อพิรุธหรือความไม่ชัดเจน และควรติดตามตรวจสอบพิจารณาอย่างต่อเนื่องต่อไป
1. ด้านเศรษฐกิจ พบว่า กิจกรรมการพนันไม่ใช่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเป็นการโอนเงิน อุตสาหกรรมคาสิโนมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะขาลง และถูกแทนที่ด้วยการพนันออนไลน์ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลการพนันออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่ควรทำในสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่รัฐบาลจีนมีจุดยืนเห็นว่าการพนันขัดต่อจริยธรรม หากประเทศไทยยืนยันจะมีคาสิโน ก็อาจถูกรัฐบาลจีนกีดกันไม่ให้พลเมืองเดินทางมาท่องเที่ยว
นอกจากนี้ การดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ไม่จำเป็นต้องใช้คาสิโน ประเทศไทยมีศักยภาพหลายด้านที่ส่งเสริม เช่น อุตสาหกรรมการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม หรือ Wellness Industry รวมถึงคาดการณ์รายได้จากผู้เล่นคนไทยสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท นั้นเกินจริง เพราะต้องมีผู้เล่นเป็นจำนวนมาก ขัดกับเงื่อนไขที่คนไทยต้องมีเงินฝากในบัญชี 50 ล้านบาท ติดต่อกัน 6 เดือน
2. ด้านสังคม และด้านอื่นๆ พบว่าการพนันเป็นโรคชนิดหนึ่ง ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง คาสิโนยังเป็นแหล่งบ่มเพาะอาชญากรรมที่ซับซ้อนขึ้น มีการจ้างงานที่ไร้ทักษะอาชีพ ควรทำประชาพิจารณ์และถามประชามติให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจสุดท้าย ว่าควรมีการเปิดคาสิโนในประเทศไทยหรือไม่
3. ด้านกฎหมาย พบว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีแนวโน้มขัดต่อหลักนิติธรรม หน้าที่ของรัฐ และแนวนโยบายแห่งรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 5 และ 6
ยก 4 มาตราค้ำคอ ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงฯ ขัดรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะกรรมาธิการฯ อภิปรายเพิ่มเติมในประเด็นผลกระทบด้านกฎหมาย โดยระบุว่า ในหมวดที่ 5 ของรัฐธรรมนูญ ไม่มีข้อกังวลเรื่องสถานบันเทิง แต่เมื่อมีการให้เปิดบ่อนคาสิโนที่ชอบด้วยกฎหมาย เปิดกว้างให้ทั้งผู้เล่นชาวไทยและต่างชาติ จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม เมื่อร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ที่กำหนดให้การเปิดคาสิโนชอบด้วยกฎหมาย จะเกิดปัญหา เนื่องจากมาตรา 3 วรรค 2 ระบุว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐทั้งหมด ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม คือ ธรรมะของกฎหมาย เป็นการเชิดชูหลักสุจริต เป็นปฏิปักษ์ต่อพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบ รวมถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระบบ และหลักนิติธรรมยังได้คำนึงเข้าไปคุ้มครองถึงศีลธรรมอันดีของพี่น้องประชาชน
จรัญกล่าวต่อไปว่า ในหมวดที่ 5 ของรัฐธรรมนูญ ยังได้บัญญัติว่า รัฐต้องมีหน้าที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน มาตรา 58 ระบุว่า รัฐจะกระทำกิจการใด หรืออนุญาตให้บุคคล คณะบุคคลใด ดำเนินการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม จะต้องมีการทำประเมินเรื่องผลกระทบทางสุขภาพ ก่อนจะดำเนินการได้
เช่นเดียวกับมาตรา 63 บัญญัติว่า รัฐมีหน้าที่ต้องสร้างกลไก มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเชื่อมโยงกับช่องโหว่ว่า หากมีสถานบันเทิงที่มีคาสิโนขึ้น จะเปิดช่องให้มีการทุจริตประพฤติมิชอบมากกว่าสถานประกอบธุรกิจอื่นๆ จึงควรต้องมีมาตรการหรือกลไกเพื่อป้องกันปราบปรามการทุจริตให้เข้มข้นกว่าการประกอบธุรกิจปกติทั่วไป แต่ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ หาได้มีมาตรการเหล่านั้นให้เราเห็นเลย
จรัญยังกล่าวถึง มาตรา 65 ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ บัญญัติไว้ว่า รัฐพึงจะให้มียุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปได้อย่างยั่งยืน โดยใช้กระบวนวิธีการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล และในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า การพัฒนาประเทศจะยั่งยืนต้องเชื่อมโยงกับมาตรฐานทางจริยธรรม สำนึกในจริยธรรมอันดี และไม่ปรากฏในประเทศอื่น คือ หลักเศรษฐกิจพอเพียง
“คาสิโนเป็นแหล่งหาเงิน หาทรัพย์สมบัติ ที่ไม่พอเพียง เต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงนานัปประการ ด้วยเหตุของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญไทย 4 มาตราดังกล่าว ผมจึงเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน” จรัญกล่าวทิ้งท้าย
หวั่นสร้าง ‘รัฐซ้อนรัฐ’ เหตุการบังคับใช้กฎหมายไทยอ่อนแอ
ด้านพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ สว. ในฐานะกรรมาธิการฯ อภิปรายถึงความไม่พร้อมของร่าง พ.ร.บ. สถานบันเทิงครบวงจรฯ โดยชี้ว่า กฎหมายยังมีช่องโหว่ และการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยยังอ่อนแอ พร้อมมองว่า ร่างกฎหมายนี้กำลังจะสร้างรัฐซ้อนรัฐขึ้นมา โดยการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายสถานบริการเดิม โอนอำนาจจากตำรวจท้องที่ไปให้คณะกรรมการชุดพิเศษ เท่ากับเป็นการสร้างแดนสนธยาที่กฎหมายปกติเข้าไม่ถึง
พรชัยระบุด้วยว่า ไม่ใช่ว่ามีคาสิโนถูกกฎหมายแล้วจะทำให้บ่อนเถื่อนหมดไป บทเรียนจากสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา ชี้ให้เห็นแล้วว่า คนที่เข้าไม่ถึงบ่อนคาสิโนก็จะหันไปหาบ่อนใต้ดินอยู่ดี สุดท้ายเราอาจจะได้ปัญหาซ้ำซ้อนที่เลวร้ายกว่าเดิม เพราะความสำเร็จของนโยบายนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่การบังคับใช้ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ประชาชนชาวไทยรู้ดีอยู่แล้ว
ในช่วงท้าย นพ.วีระพันธุ์กล่าวสรุปการเสนอรายงานว่า การศึกษาของกรรมาธิการฯ ยังไม่จบ แค่ศึกษามาถึงตรงนี้ก็พบแล้วว่า ยังมีข้อพิรุธและความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง กรรมาธิการฯ ยังมีระยะเวลาเหลือ ต้องการทำให้ครบ แม้จะได้ยินว่ารัฐบาลเตรียมจะถอนร่างนี้ออกไป แต่ต้องรอดูพรุ่งนี้ (8 กรกฎาคม) ก่อน เพราะเอาอะไรแน่นอนไม่ได้
“เรายืนยันว่าจะศึกษาต่อไปให้ครบรอบด้าน เพราะในอนาคต แม้จะมีรัฐบาลใดที่นำร่าง พ.ร.บ. ในลักษณะนี้กลับมาอีก คิดว่าการศึกษาของกรรมาธิการฯ จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานของไทยในอนาคต” นพ.วีระพันธุ์ระบุ