เช็ก 25 Password ยอดฮิตที่โดนแฮกได้ง่าย ! พร้อมวิธีตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย
คนส่วนใหญ่มักเคยใช้รหัสผ่าน (Password) ที่อ่อนแอหรือเดาง่ายมาก่อน แต่คุณรู้ไหมว่าพาสเวิร์ดนั้นอาจจะเดาได้ง่ายจนสร้างปัญหาที่ตามมาได้เช่นกัน โดยเฉพาะการโดนแฮกเข้ามาใช้บัญชีด้วยเจตนาไม่ดี ซึ่งอาจจะยึดบัญชีคุณไปดื้อ ๆ เพื่อจุดประสงค์บางประการ ที่เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน หรือหนักสุดก็อาจเข้าไปขโมยเงินทั้งบัญชีของคุณให้หายวับไปกับตาเลยก็ได้
จากฐานข้อมูลที่วิเคราะห์โดย NordPass แสดงให้เห็น 25 อันดับรหัสผ่านที่คนทั่วโลกนิยมใช้ในปี 2025 และเป็นกลุ่มรหัสผ่านที่ง่ายต่อการคาดเดาเสี่ยงโดนแฮกอีกด้วย ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มตัวเลขเรียงกัน, กลุ่มตัวเลขตัวเดียวกัน, กลุ่มอักษรความหมายตรงตัว หรือกลุ่มคำศัพท์ง่าย ๆ เป็นต้น
25 รหัสผ่านยอดฮิตที่คนทั่วโลกนิยมใช้
อันดับ Password จำนวนที่ใช้งาน (ครั้ง) 1 123456 3,018,050 2 123456789 1,625,135 3 12345678 884,740 4 password 692,151 5 qwerty123 642,638 6 qwerty1 583,630 7 111111 459,730 8 12345 395,573 9 secret 363,491 10 123123 351,576 11 1234567890 324,349 12 1234567 307,719 13 000000 250,043 14 qwerty 244,879 15 abc123 217,230 16 password1 211,932 17 iloveyou 197,880 18 11111111 195,237 19 dragon 144,670 20 monkey 139,150 21 123123123 119,004 22 123321 106,267 23 qwertyuiop 101,048 24 00000000 99,292 25 Password 95,515
รหัสผ่านแบบตัวเลขครองแชมป์ใช้งานมากที่สุด
รหัสผ่านอันดับ 1 คือ “123456” ซึ่งถูกใช้งานมากกว่า 3 ล้านครั้ง จากฐานข้อมูลที่วิเคราะห์โดย NordPass ในความเป็นจริงแล้ว รหัสผ่าน 6 อันดับแรกจาก 10 อันดับแรก ล้วนเป็นเพียงชุดตัวเลขล้วน ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้ยังคงนิยมตั้งรหัสผ่านที่สามารถคาดเดาได้ง่าย
รหัสผ่านประเภทนี้ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ง่ายที่สุดสำหรับแฮกเกอร์ โดยสามารถใช้การโจมตีแบบ Brute-Force (การเจาะข้อมูลโดยพยายามใช้ทุกชุดค่าผสมที่เป็นไปได้) เพื่อถอดรหัสได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น
นิยมใช้รองลงมาคือรูปแบบคีย์บอร์ดและคำธรรมดา
นอกจากตัวเลขแล้ว ผู้ใช้มักตั้งรหัสผ่านโดยใช้ลำดับปุ่มคีย์บอร์ด เช่น “qwerty” หรือคำที่พบได้บ่อยอย่าง “password” และ “secret” ซึ่งแม้จะจำง่าย แต่ก็ง่ายต่อการถูกแฮกเช่นกัน
แม้กระทั่งการใส่ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ เช่น “Password” หรือการเพิ่มตัวเลขท้ายคำ เช่น “password1” ก็ไม่ได้ช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้นเท่าไหร่
เคล็ดลับในการตั้งรหัสผ่านที่ปลอดภัย
องค์ประกอบสำคัญของรหัสผ่านที่แข็งแรง
- ควรมีความยาวอย่างน้อย 20 ตัวอักษร – ความยาวยิ่งมาก ยิ่งเพิ่มระดับความปลอดภัย
- ผสมตัวอักษรและสัญลักษณ์พิเศษ – เช่น @, #, $, %, * หรือ ^ เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับรหัสผ่าน
- ใช้ทั้งตัวพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก – เช่น T กับ t ถือว่าเป็นคนละตัวกันในระบบ
- ใส่ตัวเลขแบบไม่เรียงกัน – อย่าใช้ลำดับง่าย ๆ อย่าง 123 หรือ 2024
- หลีกเลี่ยงคำที่มีอยู่ในพจนานุกรม – โปรแกรมแฮกสามารถเดาคำพบบ่อยได้ในไม่กี่วินาที
สิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในรหัสผ่าน
- อย่าใช้ข้อมูลส่วนตัว เช่น วันเกิด เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หรือชื่อสัตว์เลี้ยง
- อย่าตั้งรหัสผ่านซ้ำกันในหลายบัญชี หากบัญชีหนึ่งถูกแฮก อาจลามไปยังบัญชีอื่นได้
- อย่าใช้รหัสผ่านยอดนิยม เช่น 123456, password, qwerty เพราะเดาง่ายมาก
ฟีเจอร์ในเว็บเบราว์เซอร์ เช่น Google Chrome และ Safari มีตัวช่วยสร้างรหัสผ่านอัตโนมัติที่ปลอดภัย พร้อมฟังก์ชันบันทึกและเตือนหากรหัสผ่านรั่วไหล หรือสามารถใช้งานเครื่องมือที่ช่วยสร้างและจัดการรหัสผ่านได้ เช่น NordPass, 1Password, Bitwarden, Dashlane, Google Password Manager เป็นต้น เพื่อช่วยสร้างรหัสผ่านที่แข็งแรงแบบสุ่ม และเก็บไว้ให้คุณอย่างปลอดภัย ไม่ต้องจำเองทั้งหมด
คำแนะนำเพิ่มเติมในการตั้งค่ารหัสผ่าน
เพื่อให้ปลอดภัยที่สุด รหัสผ่านควรเปลี่ยนทุก 6-12 เดือน โดยเฉพาะสำหรับบัญชีสำคัญอย่างอีเมล, บัญชีธนาคาร และระบบงาน นอกจากนี้ควรเปิดใช้ระบบยืนยันตัวตน 2 ขั้นตอน (2FA) เช่น รับรหัสผ่านจาก SMS, Email หรือแอปฯ Authenticator สำหรับเพิ่มชั้นความปลอดภัยให้ยากต่อการแฮก แต่ผู้ตั้งรหัสผ่านควรจดหรือบันทึกรหัสผ่านไว้ในพื้นที่ส่วนตัวด้วย หากเกิดกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถจำจดรหัสผ่านที่ตั้งเองได้