แม้วตัดงบกองทัพ ขุดคลองถมทะเล
"ทักษิณ" ควง "นายกฯ อิ๊งค์" ออกงานเสวนา โชว์ไอเดียพลิกเกม ศก.สู่อนาคต ชี้ดีลภาษีทรัมป์ไม่มีจบไม่พอใจดีลต่อ แนะตั้ง AMC แก้หนี้ครัวเรือน สังคายนาระบบราชการ เก็บ Fee ลดจ่ายใต้โต๊ะ ลั่นถึงเวลาปรับลดงบทหาร ปรับพฤติกรรมเก็บซากยุทโธปกรณ์ไว้เบิกค่าน้ำมัน แนะถมทะเลดึงเงินเอกชน-ตปท.ลงทุนในไทย “รมช.คลัง" เสียงแข็งไม่ลดภาษีนำเข้า 0% แลกลดภาษีทรัมป์ ลั่นทีมไทยแลนด์เดิมเกมแบบสมดุลเอื้อประโยชน์ ปท. "สภาฯ" วุ่น! ปชน.-ภท.โวย "วันนอร์" ตัดจบกระทู้สดภาษีทรัมป์ หลัง "พิชัย" อ้างภารกิจหนีตอบคำถาม "สถ." โต้จัดงบกระจุกจังหวัดฐานเสียงน้ำเงิน ลั่น อบจ.-อบต.บุรีรัมย์-สุรินทร์ ไม่มีใครได้งบถึง 700 ล้าน
ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 17 ก.ค.2568 เวลา 17.00 น. มีการจัดงานเสวนา "ปลดล็อกอนาคตประเทศไทยสู้วิกฤตโลก" (Unlocking Thailand’s Future) จัดโดย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.วัฒนธรรม, นายปิฎก สุขสวัสดิ์ สามี, น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์, นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ สามี และนายพายัพ ชินวัตร น้องชายนายทักษิณ เดินทางมาเข้าร่วมงาน รวมทั้งมีรัฐมนตรีและผู้บริหารภาคเอกชนเข้าร่วมงาน
เวลา 19.45 น. นายทักษิณขึ้นปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ปลดล็อกอนาคตประเทศไทยสู้วิกฤตโลกและพลิกเกมเศรษฐกิจไทยสู่อนาคต" กล่าวตอนหนึ่งถึงเรื่องภาษีสหรัฐอเมริกาว่า เรื่องภาษีทรัมป์ทีมไทยแลนด์กำลังเจรจาอยู่ โดยได้ยื่นข้อเสนอใหม่ๆ ซึ่งนายกฯ นั่งกำกับไม่ให้เราเสียเปรียบ ไม่ให้เราถูกเบียดเบียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้าเกษตร อย่างที่ตนเคยบอกว่ามี 3 ก้อน ก้อนหนึ่งคือเราเอาของเข้ามาจากจีน แล้วประกอบและส่งไป เป็นผลิตในประเทศไทย อีกสองคือส่งไปในอเมริกา โดยเทคโนโลยีและบริษัทอเมริกัน มาตั้งในประเทศไทย สองตัวนี้จะไม่กระทบอะไรกับเรามาก
"ที่กระทบมากคือตัวที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่เราส่งไป เช่น สินค้าเกษตร สินค้า SMEs หรือพวกอัญมณี ซึ่งเรากำลังแก้ไข และให้แนวทางกันว่าถ้าเราจะนำเข้าสินค้าจากอเมริกาแล้วมาแข่งขันกับสินค้าที่เรานำเข้าจากประเทศอื่น ก็เป็นเรื่องที่ดี เรายอมรับให้เข้ามาแข่งกันเอง เช่น เนื้อ ที่จะมีการแข่งขันกับออสเตรเลีย หรือมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ ก็ไม่เป็นอะไร หลายอย่างที่เราเปิดได้เราก็เปิด สิ่งที่เราเปิดวันนี้เราก็คุยกัน น่าจะเป็นข้อเสนอ ที่นำไปสู่การตกลงใจกันได้ แต่ให้จำไว้ว่า คำว่าดีลไม่มีจบ ถ้ายังไม่พอใจก็ดีลกันต่อ นี่เป็นลักษณะการเจรจาธุรกิจ คำว่าประเทศ เขาใช้คำว่า Economic ก็คล้ายๆ ธุรกิจ ที่ต้องเจรจากันต่อเนื่องตลอดไป เพราะฉะนั้นเราหยุดตรงนี้ไม่ได้" นายทักษิณกล่าว
อดีตนายกฯ กล่าวว่า ตนพยายามอย่างยิ่งที่จะจัดตั้ง AMC (Asset Management Company) หรือบริษัทจัดการสินทรัพย์ของภาคประชาชน เพราะหนี้ครัวเรือนสูงเหลือเกิน แต่คลังยังไม่รับลูกเท่าไหร่ แต่ตนเชื่อว่าเที่ยวนี้มันจำเป็น วันนี้นี่ครัวเรือนสูงอาจจะต่อเนื่องมาตั้งแต่โควิด-19 และคนไทยก็ไปเสียเงิน จากการเล่นหวยเล่นพนันออนไลน์ ซึ่งวันนี้หนี้สินอยู่ที่ 92% ของ GDP วันนี้ถ้าเราซื้อหนี้ภาคประชาชนออกมาจัดตั้ง AMC ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับ AMC ที่มีอยู่
"AMC จำเป็นอย่างยิ่ง ต้องเอาจริงจัง ถ้าไม่ทำคนไทยหายใจไม่ได้ กำลังซื้อจะไม่กลับมา และไม่มีทางที่จะดิ้นรนทำมาหากิน ในเรื่องใหม่ๆ ได้ นอกจากนี้ ที่ดูไบไม่มีภาษี แต่เขามีคำว่า Fee คือการเก็บค่าธรรมเนียมบริการใช้บริการของภาครัฐ และนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นสวัสดิการของข้าราชการ ซึ่งจะทำให้การบริการดีขึ้น และไม่มีใต้โต๊ะ" อดีตนายกฯ กล่าว
เล็งตัดงบทหารขุดคลองถมทะเล
นายทักษิณกล่าวว่า เรื่องงบประมาณทหารน่าจะถึงเวลาที่ต้องหาทางลดและปรับ เพราะต่อไปจะเป็นสงครามไซเบอร์ ต้องปรับเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่เช่นนั้นเราจะล้าหลังและล้าสมัย รวมถึงสิ้นเปลือง ซึ่งหลายอย่างเราเก็บซากไว้เพื่อเบิกค่าน้ำมัน เราต้องแก้ไขในจุดนี้
"ระบบสวัสดิการของข้าราชการจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าใช้มหาวิทยาลัยเข้าไปดูแต่ละกระทรวงว่าจะปรับอะไรได้บ้าง ดีกว่าเอานักการเมืองเข้าไปดู เขาจะหาว่านักการเมืองไปกลั่นแกล้ง พร้อมย้ำว่า ต้องลดค่าใช้จ่ายภาคประชาชนและภาครัฐ" นายทักษิณกล่าว
อดีตนายกฯ กล่าวว่า เรื่องเกี่ยวกับการขุดคลองถมทะเล ตนอยากสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศในหลายๆ มุม โดยตนพยายามพูดหลายรอบว่าเราอยากสร้างนิเวศทำมาหากินใหม่ๆ ให้กับกลุ่มนั้นบ้าง กลุ่มนี้บ้าง วันนี้เราตั้งงบประมาณขุดคลอง ลอกคลอง ขุดร่องน้ำ และแม่น้ำ เมื่อขุดแล้ววางไว้บนตลิ่งพอฝนตกก็ชะลงไปใหม่ หากเราอนุญาตให้แก้กฎหมาย กฎระเบียบ ให้ประชาชนขุดดิน ขุดทรายในคลองเอาไปขายหรือถมดินได้เลย แต่มีกติกาว่าต้องรักษาตลิ่งไม่ให้พังจะทำให้เกิดนิเวศน์ใหม่ รถขนดินเยอะขึ้น มีเรือท้องแบนสำหรับใส่ทรายใส่ดิน และจะทำให้ร่องน้ำกว้างขวางขึ้น ลึกขึ้น น้ำไม่ท่วม ขณะเดียวกันประชาชนได้เงินใช้ เรื่องนี้ทำยากมาก เพราะระบบราชการและกฎหมายไม่เอื้ออำนวย
"วันนี้กำลังก้าวหน้าไปเยอะ คือเรื่องถมทะเล โดยเราอยากป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ฉะนั้นทุกประเทศมีการถมทะเล (land reclaim) ของเรายังไม่ค่อยทำ แต่มีทำแถวมาบตาพุด แต่หากเราทำตรงนี้จะได้ที่ดินขึ้นมาอีกหลายแสนไร่ เพราะเราจะมีเรื่องทรัพย์อิงสิทธิ 99 ปีอยู่แล้ว ก็จะทำให้คนกล้าลงทุนเอาดินไปถมทะเล แต่เราจะต้องมีผังให้ชัดว่า แต่ละเกาะให้ทำอะไร วันนี้เราต้องหาการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะเงินภาคเอกชนและเงินต่างประเทศ เข้ามาช่วยลงทุนให้ไทย เพราะวันนี้รัฐกู้อีกไม่ไหว เนื่องจากเต็มยันเพดานแล้ว ก็เลยต้องให้จีดีพีโตขึ้น เพื่อให้มันลดลงมา ถึงจะเอาเงินไปใช้จ่ายได้ แต่จีดีพีจะลด ก็ต้องมีรายได้ มีเงินใหม่ๆ เข้ามา โดยเรื่องถมทะเลนี้ตนเชื่อว่าหลายประเทศสนใจ แต่หากสมมติว่าถมทะเลกับการลอกคลองไปด้วยกันได้ แม่น้ำเจ้าพระยาจะหายตื้นเขินแล้วไปถมทะเลอยู่ใกล้ๆ ตรงนั้น ก็จะทำให้ราคาถูกลง" นายทักษิณกล่าว
ขณะที่ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.การคลัง) กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาภาษีนำเข้ากับสหรัฐว่า รัฐบาลยืนยันจะต้องทำให้ดีที่สุด โดยมีความเป็นไปได้ที่ไทยอาจจะไม่ได้ลดอัตราภาษีนำเข้าที่ 0% ให้กับสหรัฐแบบ 100% เหมือนหลายประเทศที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากรัฐบาลต้องมองภาพใน 2 มิติ ไม่ได้มองแค่ภาพของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่งออกอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั้งประเทศด้วย
นายเผ่าภูมิกล่าวว่า ทีมเจรจาของไทยมีการชั่งน้ำหนักผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเจรจากับสหรัฐที่มีต่อเศรษฐกิจของไทย โดยมีการพิจารณาถึงหลักความสมดุลกับอัตราภาษี เพราะในฐานะรัฐบาลยังมีหน้าที่ต้องดูแลคนทั้งประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าแม้ภาคการส่งออกจะมีผลสำคัญต่อตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) สูงกว่าในส่วนอื่น แต่รัฐบาลก็ยังมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูแลผลกระทบทั้งสองฝั่ง จะดูแลแค่ภาคส่งออกอย่างเดียวคงไม่ได้ การดำเนินงานจึงต้องพิจารณาแนวทางที่จะต้องได้ผลที่เหมาะสมและสมดุลมากที่สุด ซึ่งมองว่าเรื่องนี้ผู้ที่ชนะไม่ใช่ผู้ที่ได้เรตภาษีต่ำที่สุด แต่เป็นคนที่สามารถรักษาสมดุลได้มากที่สุดมากกว่า
“ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ สิ่งที่เราจะไปลดภาษีลงนั้นต้องแลกมาด้วยสิ่งที่เราจะต้องเปิดมากขึ้น นั่นหมายถึงจะมีผู้เดือดร้อนมากขึ้น ฉะนั้นโจทย์สำคัญคือการสร้างความสมดุล หาจุดสมดุล ต้องชั่งน้ำหนักทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งฝั่งผู้ส่งออกและฝั่งประชาชนในประเทศ ซึ่งประกอบด้วยผู้ส่งออก พี่น้องเกษตรกร ผู้เลี้ยงปศุสัตว์ เอสเอ็มอีรายย่อย ต้องพิจารณาผลกระทบทุกภาคส่วนให้ครบ" นายเผ่าภูมิกล่าว
รมช.การคลังยอมรับว่า การลดภาษีให้ 0% นี้อยู่ในกระบวนการ แต่มองว่าเราจะต้องมีส่วนที่กันไว้สำหรับประชาชนในประเทศ ผู้ที่ผลิตสินค้าในประเทศ ถ้าหากเราเปิดอะไรที่มากเกินสมควร ก็จะทำให้มีสินค้าเข้ามาแข่งขัน ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้นก็อาจจะต้องมีบางส่วนที่เราสามารถกันไว้สำหรับสินค้ายุทธศาสตร์ของประเทศ
“ถามว่าไทยจะทำแบบเวียดนามได้ไหม คำตอบคือทำได้ เราสามารถยื่นข้อเสนอเป็น total asset ได้เลย และเชื่อว่าหากเรายื่นแบบนั้นเราจะได้เรตภาษีที่ต่ำกว่าเวียดนามแน่นอน แต่ถามว่าคุ้มไหม ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักกัน และหากไปดูข้อเท็จจริง เราจะพบว่าเวียดนามโดนภาษี 40% เยอะกว่า 20% เพราะเวียดนามเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการผลิตในประเทศไม่สูง มีการนำเข้ามา และมาเพิ่มมูลค่าในประเทศเพื่อส่งออก ดังนั้น RVC ของเวียดนามจึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะโดน 40% สูงกว่า 20% เทียบกับไทยที่เป็นระบบเศรษฐกิจที่โตมานาน มีสัดส่วนการผลิตในประเทศและผลิตในภูมิภาคสูง เพราะฉะนั้นหากใช้เกณฑ์เดียวกัน เรตเดียวกัน แปลว่าไทยได้เปรียบมากกว่า ดังนั้นเวลาจะพูดถึงเวียดนามว่าได้ภาษี 20% อย่างเดียวไม่แฟร์ เพราะเขามี 2 เรต” รมช.การคลังระบุ
โวยวันนอร์ตัดจบกระทู้ทรัมป์
ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายชลัฐ รัชกิจประการ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ถามนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.การคลัง เรื่องภาษีทรัมป์ แต่นายพิชัยมีหนังสือแจ้งว่าติดภารกิจที่สำคัญไม่สามารถมาตอบกระทู้ถามได้ จึงขอเลื่อนการตอบกระทู้ครั้งนี้ออกไป
นายชลัฐกล่าวว่า การที่นายพิชัยติดภารกิจและขอเลื่อน ต้องบอกตามตรงว่าคงไม่ได้ และตนขอใช้สิทธิอภิปราย 15 นาทีเท่าเดิม เพราะเรื่องนี้เป็นความสำคัญจริงๆ อีก 2 สัปดาห์ภาษีทรัมป์จะบังคับใช้แล้ว แต่นายพิชัยยังติดภารกิจ
"ผมไม่แน่ใจว่าท่านให้เกียรติสภาแห่งนี้หรือไม่ ที่ต้องมาสื่อสารกับประชาชน ท่านประธานจะให้สิทธินี้หรือไม่" นายชลัฐกล่าว
นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า เนื่องจาก รมว.การคลังติดภารกิจสำคัญ และเลขานุการ รมว.การคลังได้แจ้งมาว่าเป็นภารกิจที่ไม่อาจจะเลื่อนได้ ก็ขอมาตอบกระทู้สดในภายหลัง ซึ่งตนเข้าใจว่าเรื่องที่จะถามเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจและเป็นปัญหาบ้านเมือง ควรจะได้ตอบในวันที่มีกระทู้สด ถ้าตอบในภายหลัง ก็อาจจะไม่ทันกับสถานการณ์ แต่เนื่องจากข้อบังคับที่มีอยู่ ข้อที่ 151 ระบุว่าถ้ารัฐมนตรีติดภารกิจจะขอเลื่อนไปได้
"ขอให้นายชลัฐแจ้งมาว่าที่จำเป็นต้องถามเดือดร้อนอย่างไร ดังนั้นอนุญาตให้นายชลัฐพูดได้เล็กน้อย แต่ไม่ได้เป็นการถามให้รัฐมนตรีตอบ เพราะกระทู้สดถ้าเลื่อนก็ต้องเลื่อนไปเลย และถ้ายังเป็นที่สนใจผู้ถามจะถามใหม่ในคราวหน้า ก็มาเข้าคิวเหมือนที่ปฏิบัติกัน" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
นายชลัฐกล่าวว่า รมว.การคลังสามารถมอบใครก็ได้ให้มาตอบ เพราะประชาชนจะไม่มีกินอยู่แล้ว ทำไมแค่นี้ท่านมอบคนอื่นมาตอบแทนไม่ได้ เมื่อไหร่จะสื่อสารกับประชาชนว่าประเทศจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ขอถามหน่อย ตอนที่ท่านพิชัยออกสื่อว่าเป็นบรรยากาศที่ดีนั้นดีอย่างไร เพราะสุดท้ายเราก็ต้องเสียภาษี 36% เหมือนเดิม ท่านบอกว่าเปิดรายละเอียดการเจรจาไม่ได้ แล้วคนจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องเดินไปทางไหน ต้องทำอย่างไร ทุกวันนี้ประชาชนทั้งประเทศตาบอดไปหมดแล้ว ทำอะไรไม่เป็นเลย
"ท่านพิชัยไม่ต้องมาตอบผมวันนี้ก็ได้ แต่ผมขออย่างเดียว ขอให้ท่านพิชัยพูดความจริงกับประชาชนเสียที และแถลงว่าสิ่งที่ไปเจรจาเรื่องภาษีทรัมป์มีอะไรบ้าง ในทีมเจรจาของท่านไม่มีฝ่ายความมั่นคง ผมจึงไม่แน่ใจว่าการที่นายกฯ ยอมรับว่ามีดีลลับและต้องสูญเสียอธิปไตยของเรา หรือสูญเสียอะไรไปอีก” นายชลัฐระบุ
เมื่อนายชลัฐกล่าวถึงตรงนี้ นายวันมูหะมัดนอร์รีบตัดบทให้เข้าสู่กระทู้ถามสดเรื่องต่อไปทันที โดยบอกให้เวลาอภิปรายเล็กน้อยพอแล้ว ส่วนรัฐมนตรีตนอยากจะให้มาทั้งกระทู้สดและกระทู้ทั่วไป ทางสภาได้เตรียมห้องทำงานเพิ่มจาก 1 ห้อง เป็น 2 ห้อง สำหรับรัฐมนตรีแล้ว สามารถมาทำงานที่สภาได้ ถ้าไม่พอทางสภาก็จะพยายามจัดให้เพื่อให้รัฐมนตรีมาทำงานในวันพุธ พฤหัสฯ อย่างน้อยสักครึ่งวัน เมื่อมีภารกิจก็ไปทำ เพราะสภากับรัฐบาลต้องทำงานร่วมกัน สส.ต้องถามกระทู้รัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน รวมถึง สส.พรรคภูมิใจไทย ทั้ง น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง ได้รุมท้วงติงการทำหน้าที่ของประธาน ที่มักตัดบทขัดจังหวะคนอภิปราย ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประธานขัดจังหวะ พร้อมทั้งพยายามต่อรองเพิ่มเวลาให้นายชลัฐอภิปรายต่อว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างไรที่รัฐมนตรีต้องมาตอบ
นายวันมูหะมัดนอร์ชี้แจงว่า ดูเหมือนนายชลัฐจบประเด็นแล้ว ก็อยากเปิดโอกาสให้อภิปราย แต่รัฐมนตรีไม่มี และได้ให้นายชลัฐพูดแล้ว และขอให้เข้าสู่กระทู้ถามสดเรื่องที่ 2 แล้ว เพิ่มเวลาอภิปรายให้ไม่ได้ ก่อนดำเนินการประชุมต่อไป
วันเดียวกัน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ออกเอกสารชี้แจงกรณีการดำเนินโครงการและขอรับจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาทของ อปท. ที่ได้รับการพิจารณาในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมและมีการกระจุกตัวอย่างไม่เป็นธรรม โดยสาระสำคัญยืนยันการจัดสรรงบ อปท.เหมาะสมตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนดแล้ว
"สถ.ได้พิจารณาคำขอที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่สำนักงบประมาณกำหนด รวมถึงพิจารณาความครบถ้วนสมบูรณ์ของการบันทึกข้อมูลแบบคำขอในระบบ New e-Budgeting ความพร้อมของแบบรูปรายการและสถานที่ดำเนินการ จึงได้พิจารณากลั่นกรองเสนอคำขอโครงการของ อปท. ให้ มท. รวมทั้งสิ้น 1,876 แห่ง จำนวน 4,826 โครงการ งบประมาณ 34,690,532,600 บาท โดยภาพรวมของข้อเสนอโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจาก รมว.มท.มีจังหวัด ที่มีคำของบประมาณเกิน 500 ล้านบาท มีจำนวนทั้งสิ้น 25 จังหวัด จังหวัดที่มีคำขอมากที่สุดคือ จ.สุรินทร์ จำนวน 100 อปท. 252 โครงการ งบประมาณ 2,050,686,100 บาท และจังหวัดที่มีคำขอน้อยที่สุดคือ จ.ภูเก็ต จำนวน 1 อปท. 1 โครงการ งบประมาณ 3,527,800 บาท ค่าเฉลี่ยการกระจายตัวทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 456 ล้านบาท" เอกสารชี้แจงระบุ
นอกจากนี้ ยังมีการชี้แจงกรณีระบุพื้นที่ จ.บุรีรัมย์และ จ.สุรินทร์ได้เพิ่มขึ้น จากที่เคยได้เป็นร้อยๆ ล้านบาท บางแห่งได้ถึง 700 ล้านบาทว่า จากการตรวจสอบพบว่าไม่มี อบต.หรือ อบจ.ใดได้รับงบประมาณถึง 700 ล้านบาทแต่อย่างใด.