องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเรียกร้องรัฐบาลจัด “เจ้าภาพ” สำรวจอาคารรัฐทิ้งร้างทั่วประเทศ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเรียกร้องรัฐบาลจัด “เจ้าภาพ” สำรวจอาคารรัฐทิ้งร้างทั่วประเทศ หลังพบความสูญเสียสูงหลักแสนล้านบาท พร้อมเสนอ 4 แนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
วันที่ 18 ก.ค. 2568 นายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย ประเมินตัวเลขงบประมาณที่สูญเสียจากปัญหาอาคารรัฐทิ้งร้างสร้างไม่เสร็จทั่วประเทศสูงถึงหลักแสนล้านบาท โดยระบุว่าข้อมูลที่พบมีเพียงตัวเลขบางส่วนจากการสำรวจโดยสำนักผู้ตรวจราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งผู้บริหารป.ป.ช.เคยระบุว่า จังหวัดเล็กๆ อย่าง “ตรัง” มีอาคารทิ้งร้างคิดเป็นมูลค่า 2.8 พันล้านบาท (5 ก.พ. 2568) โดยตัวอาคารมูลค่าสูงสุด 400 กว่าล้านบาท หากใช้ตัวเลขเพียงครึ่งเดียวของจังหวัดตรังคือ 1.4 พันล้านบาทคูณด้วย 76 จังหวัด ตัวเลขที่ได้จะประมาณ 1 แสนล้านบาท นี่คือที่มาของสมมติฐานตัวเลขความสูญเสียงบประมาณจากปัญหาอาคารราชการทิ้งร้างทั่วประเทศ
ความเสียหายกระจายทุกจังหวัด
นายมานะกล่าวต่อไปว่า อาจมีคนเห็นแย้งว่า ทั่วประเทศต้องมีอาคารใหญ่ระดับพันล้านจำนวนมากที่สร้างไม่เสร็จ วงเงินรวมจึงจะแตะระดับแสนล้านบาทได้ แต่ต้องไม่ลืมว่ามีความเสียหายที่กระจายซ่อนอยู่ในทุกจังหวัดและหลุดสำรวจ โดยเฉพาะโครงการทิ้งร้างทั้งใหญ่และเล็กจำนวนมากที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างเอง และโครงการที่หน่วยงานจากส่วนกลาง รวมทั้งหน่วยทหารสร้างแล้วยกให้ อปท. หรือโรงเรียนต่างๆ รับไปดูแล เช่น ศูนย์เด็กเล็ก สนามกีฬา ศูนย์ท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ โรงผลิตน้ำดื่ม ฯลฯ
พบภาคใต้ ทิ้งงานสูง
นายมานะ ระบุด้วยว่า อีกหนึ่งคำถามที่ชวนคิด คือ กรณีอาคาร กสทช. มูลค่า 2.64 พันล้านบาท แม้ปล่อยทิ้งมาหลายปีแล้ว แต่อีก 2-5 ปีข้างหน้า เมื่อเคลียร์ปัญหาฟ้องร้องกับผู้รับเหมาเดิม จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมแล้วเริ่มต้นประมูลหาผู้รับเหมารายใหม่ทำงานต่อให้เสร็จ อย่างนี้ควรนับรวมในตัวเลขแสนล้านนี้ด้วยหรือไม่ ไม่เพียงเท่านั้น ข้อมูลที่ได้รับฟังจากผู้นำชุมชนในพื้นที่และผู้บริหาร ป.ป.ช. ทำให้ทราบว่าปัญหาเช่นนี้พบมากใน 3 จังหวัดภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ดังที่ทราบว่า ที่สงขลาก็มีพิพิธภัณฑ์หอยสังข์มูลค่า 1.4 พันล้านบาท เพราะมีงบความมั่นคง งบอัดฉีดจากหน่วยต่างๆ จำนวนมาก การจัดซื้อจัดจ้างมักใช้วิธีพิเศษ ยังไม่รวมถึง กทม. ที่พบปัญหาเช่นกัน “ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ รวมทั้งอาคารสำนักงานสตง. ที่ก่อสร้างค้างคาอยู่นับ 10 จังหวัด”
ไร้เจ้าภาพบริหารจัดการ
ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวด้วยว่า การที่ไม่มีใครรู้ตัวเลขความเสียหายที่แท้จริง เกิดจากปัจจัยสำคัญคือ“หน่วยงานที่ไปลงทุนก่อสร้าง” ไม่รับรู้ว่าอาคารถูกทิ้งร้างหรือใช้งานต่อเพราะได้โอนไปให้หน่วยงานอื่นแล้ว ขณะที่ “หน่วยงานรับมอบอาคารสิ่งปลูกสร้าง” ก็ไม่เอาเป็นภาระหรือไม่รู้จะจัดการอย่างไร ที่แย่กว่านั้น คือ ไม่เคยมีกฎระเบียบหรือมาตรการให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยกำกับดูแลต้องเก็บรวบรวมข้อมูล
แนะ “เลิก - รื้อ - รัดกุม”
ดังนั้น ทางออกของวันนี้จึงต้องมีหน่วยที่มีศักยภาพและเป็นกลาง รับเป็นเจ้าภาพลงสำรวจพื้นที่ บันทึกจำนวน ที่ตั้ง สภาพปัจจุบันและมูลค่าที่แท้จริง เก็บข้อมูลอาคารสร้างไม่เสร็จนานเกิน 3-5 ปี ส่วนอาคารทิ้งร้างต้องระบุชื่อองค์กรเจ้าของเงินลงทุนและองค์กรเจ้าของปัจจุบัน แล้วนำเรื่องสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ร่วมกัน ด้วยความรับผิดชอบ และเปิดเผยต่อประชาชน ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากกลไกรัฐผู้มีอำนาจหลายฝ่าย เช่น สำนักงบประมาณ กมธ. พิจารณางบประมาณฯ รัฐสภา รัฐบาล ฯลฯ หาแนวทางการป้องกันปัญหาระยะยาว “เลิก - รื้อ - รัดกุม” ประกอบด้วย แนะ
(1) เลิกค่านิยมแบบส่วนกลางลงทุนก่อสร้างแล้วยกให้หน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบโดยที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมตัดสินใจว่าต้องการหรือไม่ พูดให้ชัดก็คือ ถ้าอยากเห็นท้องถิ่นพัฒนา รัฐบาลต้องกระจายงบกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ
(2) รื้อแบบแผนการอนุมัติโครงการก่อสร้าง การจัดทำและอนุมัติงบประมาณ การกำหนดราคากลางเพื่อการจัดซื้อฯ ที่เหมาะสม มีแนวทางจัดหาผู้รับเหมาฯ ที่มีศักยภาพจริง เป็นต้น ทั้งกรณีที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน เงินนอกงบประมาณหรือรายได้ของหน่วยงานเอง
(3) รัดกุมในการลงทุนให้มีรูปแบบเหมาะสม เพียงพอ ไม่แข่งกันฟุ่มเฟือย สร้างภาระหนักในบำรุงรักษา ซึ่งกำลังเป็นค่านิยมใหม่ ในการก่อสร้างอาคารที่ทำการของหน่วยงานรัฐช่วง 10 กว่าปีมานี้ เช่นเดียวกับตึก สตง. ที่ถล่มลงและอีกหลายแห่งที่ใช้งานอยู่หรือกำลังออกแบบก่อสร้าง สำหรับแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
เสนอ 4 แนวทางแก้ไข
ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เสนอว่า (1) หาผู้รับเหมารายใหม่มาทำต่อให้จบ แม้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-100 ตามสภาพโครงการที่ถูกทิ้งร้าง และมูลค่าก่อสร้างที่ทำได้จริงในปัจจุบัน (2) เปิดให้หน่วยงานอื่นมาใช้ประโยชน์ หรือเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งานอาคารตามความต้องการของชุมชน (3) เปิดให้เอกชนเช่าใช้สถานที่ระยะยาว (4) ห้ามมิให้หน่วยงานที่มีสิ่งปลูกสร้างถูกขึ้นบัญชีตามข้อ 1 นี้ ทำโครงการก่อสร้างใหม่อีกจนกว่าจะสะสางของเก่าเสร็จสิ้น
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเรียกร้องรัฐบาลจัด “เจ้าภาพ” สำรวจอาคารรัฐทิ้งร้างทั่วประเทศ
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
- องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเรียกร้องรัฐบาลจัด “เจ้าภาพ” สำรวจอาคารรัฐทิ้งร้างทั่วประเทศ
- ACT หนุน "คบเด็กสร้างชาติ" ดึงคนรุ่นใหม่ ร่วมพัฒนาเครื่องมือตรวจโกง
- “พิธา” รับฟัง-เสนอนโยบาย 8 พรรคร่วม ปธ.ACT รับ น่าอาย ไทยอยู่อันดับท้ายๆ
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath