3 แนวทาง การรถไฟฯ สู้ข้อพิพาท ‘เขากระโดง’ ทวงสิทธิที่ดิน 995 ฉบับ
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยระบุว่า รฟท.ยังคงยืนยันต่อสู้เพื่อทวงคืน"ที่ดินเขากระโดง" ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของชาติ โดยจะไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียวในการแก้ไขปัญหาที่ดินอันซับซ้อนนี้ ซึ่งปัจจุบัน รฟท.มี 3 แนวทางในการต่อสู้ข้อพิพาท ประกอบด้วย
แนวทางที่ 1 การดำเนินการผ่านกระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดิน เพื่อให้เร่งทบทวนคำสั่ง
เนื่องจากก่อนหน้านี้กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งให้ยุติเรื่องการสอบสวน การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อนในเขตที่ดินของ รฟท. โดย รฟท.พร้อมให้ข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติมในคดีนี้เพื่อประกอบการพิจารณา เพราะทราบว่าขณะนี้กระทรวงมหาดไทยกำลังพิจารณาที่จะกลับมาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง และหากพบว่ามีการดำเนินการที่ผิดพลาดก่อนหน้านี้ กรมที่ดินอาจยินยอมที่จะยกเลิกคำสั่งดังกล่าวด้วยตนเอง ซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ดินเขากระโดง
แนวทางที่ 2 ใช้โมเดล "พังงาท่านุ่น" เพื่อฟ้องศาลปกครองขอเพิกถอนเอกสารสิทธิ์
โดย รฟท. ต้องการให้ศาลปกครองพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของที่ดิน 995 แปลงในเขากระโดง ซึ่งพบว่ามีลักษณะเดียวกับกรณี "พังงาท่านุ่น" ที่ศาลเคยมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของผู้บุกรุกหลายร้อยไร่ให้กลับมาเป็นของ รฟท. แล้วเมื่อปีที่ผ่านมา โดยกรณีพังงาท่านุ่นมีลักษณะคล้ายคลึงกับเขากระโดงที่มีเอกสารสิทธิ์หลากหลาย ทั้งแบบมีโฉนดที่ดิน และศาลได้สั่งยุบเอกสารสิทธิ์ทั้งหมด คืนที่ดินให้กับ รฟท.
แนวทางที่ 3 ขออัยการสูงสุดเป็นทนายแผ่นดิน ฟ้องคดีแทน รฟท. เพื่อฟ้องร้องเป็นรายแปลงรวม 995 ฉบับ
เนื่องจากข้อจำกัดด้านบุคลากรและทรัพยากรในการฟ้องร้องคดีที่ต้องใช้จำนวนมาก รฟท. จึงได้ส่งหนังสือขอให้อัยการสูงสุด ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน ดำเนินการฟ้องร้องคดี 995 แปลงแทน รฟท. ซึ่งแนวทางนี้ได้ดำเนินการยื่นหนังสือไปแล้ว ปัจจุบันยังคงรอคำตอบจากอัยการสูงสุด แต่หากไม่เป็นผล รฟท. อาจต้องพิจารณาฟ้องร้องเอง โดยจะจัดลำดับความสำคัญของที่ดินและทยอยฟ้องเป็นล็อตๆ ไป