‘ดร.ธรณ์’ ชี้แผ่นดินไหวถี่ในอันดามัน อาจสะท้อนความเคลื่อนไหวของภูเขาไฟใต้น้ำ
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยข้อมูลลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว"Thon Thamrongnawasawat" ถึงกรณีเฝ้าระวังแผ่นดินไหวถี่ในทะเลอันดามัน บริเวณห่างจากพังงา 470-480 กม. จุดนี้อยู่ในแนวภูเขาไฟเดียวกับเกาะ Barren ที่ยังปะทุเป็นระยะ หากเกิดการระเบิดรุนแรง อาจทำให้เกิดสึนามิได้ เพราะน้ำบริเวณนั้นลึกมาก แม้ยังไม่มีสัญญาณเตือนว่าจะระเบิดแน่ แต่การไหวถี่อาจบ่งชี้ถึงการเคลื่อนตัวของแมกมา ต้องติดตามต่อเนื่อง ส่วนแผ่นดินไหวในเมียนมา เป็นแผ่นดินไหวบนบก ไม่เกี่ยวข้องกับสึนามิ แต่แรงสั่นอาจกระทบบางพื้นที่ในไทยโดยตรง ฝั่งอ่าวไทยยังมีความเสี่ยงสึนามิน้อยมาก เพราะอยู่ไกลจากแหล่งแผ่นดินไหวหลัก ประชาชนไม่ควรตระหนก แต่ควรเฝ้าระวัง ติดตามข่าวจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ และมีแผนรับมือหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
โดย ดร.ธรณ์ ระบุข้อความว่า "แผ่นดินไหวเป็นระยะที่ภูเขาไฟใต้น้ำในทะเลอันดามัน จึงอยากมาอธิบายให้เพื่อนธรณ์ทราบแบบสรุปครับ สึนามิเกิดจากแผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดในทะเล อาจเกิดจากภูเขาถล่มในฟยอร์ด แต่ไม่มีในบ้านเรา แผ่นดินไหวในเมียนมา เกิดบนแผ่นดินไกลทะเล ไม่เกี่ยวกับสึนามิ แต่เราอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวโดยตรง สึนามิในอ่าวไทยเกิดยาก ถ้าเกิดจะมีขนาดเล็กมาก รู้ล่วงหน้านาน เพราะอยู่ห่างจุดเกิดแผ่นดินไหว/ภูเขาไฟระเบิด (อินโด/ฟิลิปปินส์) เมื่อพูดถึงสึนามิ ที่ต้องระวัง คือ ฝั่งทะเลอันดามันจุดเกิดมี 2 แห่ง ในอินโด จุดเดิมที่เคยเกิด และแนวเกาะอันดามัน/นิโคบาร์ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟใต้น้ำ"
"ประเทศอินเดียมีเกาะภูเขาไฟแห่งเดียวในแถวนี้ คือ เกาะ Barren แต่แผ่นดินไหวถี่ๆ ในช่วงนี้ไม่ใช่ที่เกาะนั้น แต่อยู่ใต้ลงมา เป็นแนวภูเขาไฟเดียวกัน แต่จมอยู่ใต้น้ำทะเลแถวนี้ลึก 2,000+ เมตร มีภูเขาไฟระเบิดจนโผล่เหนือน้ำแห่งเดียว คือ เกาะ barren ที่ยัง active อยู่ มีการระเบิดเป็นระยะ ล่าสุดคือปี 2022 จึงมีความเป็นไปได้ ที่ภูเขาไฟใต้น้ำในแนวเดียวกันจะระเบิด แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อไหร่เมื่อมีแผ่นดินไหวถี่ๆ ในบริเวณนั้น แรงเกิน 4 ขึ้นไป อาจเกิดการเคลื่อนของแมกมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะระเบิดแน่ ต้องตามดูต่อไป"
อีกทั้ง "สึนามิเกิดจากภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดมีหลายครั้ง หนล่าสุด คือ ที่ Tonga Hunga Tonga-Hunga Haʻapai eruption เกิดในปี 2022 กลางมหาสมุทรแปซิฟิก คลื่นสึนามิใหญ่มากสูง 20 เมตร บางจุดรายงานว่ามากกว่านั้น แต่เคราะห์ดีที่เกิดห่างไกลในมหาสมุทรแปซิฟิก จึงมีผู้เสียชีวิตไม่มากภูเขาไฟใต้น้ำในอันดามัน จุดที่เกิดการไหวถี่ๆ ห่างจากพังงา 470-480 กม. กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว หากเกิดการระเบิดที่จุดนั้น อาจเกิดสึนามิระดับน่าห่วงได้ เพราะน้ำค่อนข้างลึก หากระเบิดแรงจะมีมวลน้ำจำนวนมาก ถูกผลักออกมาให้กลายเป็นคลื่น เนื่องจากอยู่ใกล้ไทยมากกว่าจุดที่เคยเกิดแผ่นดินไหว และสึนามิในปี 46 คลื่นจึงอาจเข้าถึงฝั่งเร็วกว่าหนนั้น คราวก่อนประมาณ 2 ชม."
"จุดเกิดต่างกัน การเกิดต่างกัน แผ่นดินไหว/ภูเขาไฟระเบิด แนวคลื่นอาจต่างกัน จุดที่ไม่เคยโดนหรือโดนน้อย ก็ต้องระวังไว้มีการซ้อมเตือนภัย/ซ้อมอพยพ เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ต้องตกใจว่าจะเกิดแน่ ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดหรือไม่ ญี่ปุ่นมีข่าวว่าจะเกิดๆ มาหลายเดือนแล้ว ก็ยังไม่เกิดแบบภัยพิบัติ เพื่อนธรณ์จึงไม่ต้องตระหนก แต่ถ้ายังมีการไหวถี่ๆ แบบนี้ก็คงต้องเฝ้าระวังไว้บ้าง พูดคุยซักซ้อมกับคนในครอบครัวว่าหากฉุกเฉินทำไง ดูเส้นทางหนีภัยใกล้ตัว ฯลฯ คราวก่อนตึก 3 ชั้นอาจไม่พ้น เทียบกับตองกาแล้ว แนะนำตึก 7-8 ชั้นขึ้นไป ถ้าหาไม่ได้ก็ไปตามเส้นทางอพยพ ลูกหลานที่อยู่โรงเรียน ต้องพูดคุยกับคุณครูให้ชัดเจน"
อย่างไรก็ตาม "โรงเรียนควรมีแนวทางฉุกเฉินบอกผู้ปกครอง ไม่ใช่ขับรถไปติดกองกันหน้าโรงเรียนสุดท้าย อย่าเชื่อข่าวลือใดๆ ให้ตกใจสั่นประสาท ติดตามข้อมูลจากหน่วยงาน/นักวิชาการที่เชื่อถือได้ มีแบ๊กกราวด์ทำงานด้านนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหนก็ไม่รู้ จู่ๆ ก็เก่งทันที ถ้าคนเราเก่งได้เร็วขนาดนั้น ผมกับผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ คงไม่ต้องทั้งเรียนทั้งวิจัยกันให้เหนื่อยมาหลายสิบปี นอนกลิ้งอยู่บ้าน รอเวลาฟ้าประทานความเก่งมาให้กลายเป็นเลเวล 999 ดีกว่า"
ขอบคุณข้อมูล : Thon Thamrongnawasawat