ภาษีทรัมป์ สะเทือนธุรกิจอเมริกันในไทย จับตาชะลอลงทุน-ย้ายฐานผลิต
จากที่ล่าสุดสหรัฐอเมริกาได้บรรลุผลการเจรจา และปิดดีลการค้าแล้วกับหลายประเทศในเรื่องภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เช่น ญี่ปุ่นได้รับอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐที่ 15% (จากเดิม 25%) เวียดนาม 20% (จากเดิม 46%) อินโดนีเซีย 19% (จากเดิม 32%) ฟิลิปปินส์ 19% (จากเดิม 20%) โดยที่ประเทศเหล่านี้ต้องแลกมาด้วยการเปิดตลาดให้กับสินค้าจากสหรัฐในอัตราภาษี 0% เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ส่วนกรณีของญี่ปุ่นต้องแลกด้วยการเปิดตลาดข้าว รถยนต์นั่ง และรถบรรทุกให้กับสหรัฐ และประกาศการลงทุนในสหรัฐมูลค่ากว่า 5.5 แสนล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยอยู่ระหว่างการเจรจาและการนำเสนอข้อเสนอใหม่ที่โดนใจสหรัฐเพื่อแลกกับสหรัฐจะลดอัตราภาษีให้สินค้าไทย โดยมุ่งหวังอัตราภาษีจะอยู่ในระดับเดียวกับประเทศในอาเซียนหรือต่ำกว่า เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในสหรัฐ ที่เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย
อย่างไรก็ดีอีกด้านหนึ่งหากไทยได้รับอัตราภาษีสุดท้ายในอัตราสูงกว่าประเทศคู่แข่งขัน มีคำถามว่าจะส่งผลกระทบกับบริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีฐานการผลิตหรือฐานธุรกิจในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร
แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรม ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในเรื่องนี้ว่า มีหลายฝ่ายมุ่งหวังว่าบริษัทสัญชาติอเมริกันในไทยจะช่วยให้ข้อมูลหรือช่วยเจรจากับทางการของสหรัฐในการลดภาษีให้ไทย ซึ่งในเรื่องนี้คิดได้แต่คงไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก และแนวคิดแบบนี้จะคล้ายกับในประเทศอื่น ๆ ที่มีการลงทุนจากสหรัฐและมีความมุ่งหวังเช่นเดียวกัน เพราะหากไทย หรือประเทศใดได้รับอัตราภาษีจากสหรัฐสูง ก็จะส่งผลกระทบต่อบริษัทสัญชาติอเมริกันที่มาตั้งฐานเช่นกัน
อย่างไรก็ดีในการพิจารณาของทีมเจรจาสหรัฐ รวมถึงการพิจารณาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะให้อัตราภาษีประเทศใด ในอัตราเท่าใดจะดูจากองค์รวมคือ การขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีต่อประเทศนั้นเป็นหลัก รวมถึงการเปิดตลาดให้สินค้าจากสหรัฐมากน้อยเพียงใด จะลดภาษีเป็น 0% ให้กับสินค้าจากสหรัฐได้หรือไม่ หรือจะซื้อสินค้าจากสหรัฐเพิ่มได้มากน้อยเพียงใด มูลค่าเท่าใด เป็นต้น นอกจากนี้ยังดูอิทธิพลของประเทศจีนที่มีผลต่อทั้งทางด้านการค้า และการลงทุนในประเทศไทย และในประเทศอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นบริษัทอเมริกันในไทยคงไม่กล้าออกตัวมากในเรื่องนี้
ส่วนผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับบริษัทหรือธุรกิจของสหรัฐในไทย หากไทยได้รับอัตราภาษีจากสหรัฐในอัตราสูงกว่าประเทศคู่แข่งขัน บริษัทเหล่านี้อาจจะมีทั้งการลดกำลังการผลิต ชะลอการลงทุนในไทย หรืออาจจะมีการย้าย หรือขยายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นไปได้หมด เพราะอยู่เมืองไทยผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐเสียภาษีนำเข้าสูง แต่ไปผลิตในเวียดนามส่งไปสหรัฐได้อัตราภาษี 20% ดังนั้นอาจต้องไปผลิตในประเทศอื่นที่ได้ภาษีจากสหรัฐในอัตราที่ต่ำกว่าไทย เพราะคือทางรอดของบริษัท
“ขณะเดียวกันหากบริษัทอเมริกันไปขอร้องโดนัลด์ ทรัมป์ให้ลดภาษีให้ประเทศไทย หรือลดภาษีให้กับประเทศต่าง ๆ ที่เขาไปลงทุน อาจจะโดนสวนกลับมาว่า ให้เขาปิดบริษัทในไทยหรือในอาเซียน และให้ย้ายฐานกลับไปลงทุนในอเมริกาแทน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการดึงการลงทุนกลับประเทศ”
อย่างไรก็ตามบริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐโดยส่วนใหญ่นอกจากมีโรงงานหรือธุรกิจอยู่ในประเทศไทยแล้ว ก็ยังมีธุรกิจหรือโรงงานอยู่ในอีกหลายประเทศของอาเซียน ไทยไม่ใช่ฐานผลิตประเทศเดียว หากเขาได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐในครั้งนี้ ก็อาจจะหยุดแผนการขยายกำลังการผลิตในไทย แต่จะไปขยายการผลิตในประเทศอื่นเพิ่มเติมเพื่อส่งออกไปสหรัฐแทน เพื่อให้บริษัทอยู่รอดและยังมีกำไร
อนึ่ง บริษัทขนาดใหญ่จากสหรัฐ ที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน อาทิ เวสเทิร์น ดิจิตอล, ซีเกท เทคโนโลยี, ฟอร์ด มอเตอร์, เจนเนอรัล มอเตอร์สฯ, ดาว เคมิคอล, คาร์กิลล์, ไทสัน ฟู้ด เป็นต้น