‘กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์’ ปรับเกมสู้เศรษฐกิจโลก ปั้น 4 กลยุทธ์โตยั่งยืน ฝ่าพายุดอลลาร์อ่อน-เศรษฐกิจซบ
ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยและโลกยังเผชิญความผันผวนจากนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โดยกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ (Global Markets Group) ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมั่นคง
ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนและเสริมศักยภาพลูกค้าไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
[ เติบโตด้วยกลยุทธ์ 4 แกนหลัก ]
ในปี 2568 กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ มุ่งเน้นการเติบโตผ่าน 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่:
1. ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ด้าน ESG: ด้วยความตระหนักถึงบทบาทของสถาบันการเงินในการขับเคลื่อนโลกสู่ความยั่งยืน กรุงศรีได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับมิติ ESG อาทิ ESG-linked FX และ ESG-linked Interest Rate Derivatives
โดยในปี 2567 มูลค่าธุรกรรมรวมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ ESG อยู่ที่ราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
2. ส่งเสริมการใช้สกุลเงินเกิดใหม่ (Emerging Currencies): ในยุคที่โลกการค้าเปลี่ยนไป การมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมสกุลเงินต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็น
ปีที่ผ่านมา กรุงศรีรองรับการใช้ AED และ MXN เพิ่มขึ้น ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องเติบโตถึง 10% สะท้อนถึงความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายขึ้น
3. ขยายธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล: ด้วยพฤติกรรมผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนแปลง FX@Krungsri มีอัตราเติบโตของจำนวนธุรกรรมสูงถึง 138% ในปี 2567 และเติบโตต่อเนื่องอีก 26% ในไตรมาสแรกปี 2568
นอกจากนี้ การพัฒนา FX API ยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าระบบใหญ่สามารถเชื่อมต่อกับระบบธนาคารได้โดยตรง ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการบริหารเงินตราอย่างครบวงจร
4. พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่: กรุงศรีไม่หยุดอยู่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์ดั้งเดิม เช่น FX หรือ Interest Rate Derivatives แต่ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง Bond Forward ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงด้านตลาดและสภาพคล่องให้ลูกค้าได้อีกด้วย
[ ไตรมาสแรกยอดธุรกรรมโต 10% ]
ผลจากการดำเนินกลยุทธ์ทั้ง 4 ข้อ กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ รายงานว่าในไตรมาสแรกของปี 2568 ธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารเติบโต 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ สูงกว่าอัตราการเติบโตของการนำเข้าส่งออก (5.2%) และจีดีพี (3.1%) อย่างชัดเจน
‘ฮิโรทากะ คุโรกิ’ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ กล่าวว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ
กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่ตอบโจทย์และสอดคล้องกับยุคสมัย
[ มุมมองตลาดครึ่งหลังปี 2568 ]
‘รุ่ง สงวนเรือง’ ผู้อํานวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ กล่าวว่า เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์
โดยในไตรมาส 2 เพียงไตรมาสเดียว ดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลให้สกุลเงินอื่นแข็งค่าตาม รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่าราว 4.5%
แม้เงินทุนต่างชาติยังไม่ไหลเข้าสุทธิในไทย แต่การถือครองตราสารหนี้ระยะยาวสะท้อนความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย
ถึงแม้จะมีแรงขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยบ้าง อันเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค
[ เตือนความเสี่ยงการคลังสหรัฐฯ ]
หนึ่งในปัจจัยที่กดดันค่าเงินดอลลาร์อย่างมีนัยสำคัญ คือ ความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ที่แตะระดับ 7% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตมาก
ขณะเดียวกัน การแข่งขันของตราสารหนี้จากญี่ปุ่นและยุโรปที่ให้ความมั่นคงใกล้เคียงกัน เริ่มเบียดแย่งสภาพคล่องจากตลาดสหรัฐฯ
ตลาดจึงคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับเศรษฐกิจ โดยแต่ละครั้งคาดว่าจะลด 25 เบสิสพอยท์ (bps)
ทั้งนี้การลดดอกเบี้ยอาจถูกเร่งหากเศรษฐกิจชะลอตัวเร็วกว่าคาด
[ คาดบาทแข็งค่าในช่วงครึ่งหลัง ]
แม้เงินบาทจะแข็งค่าจากดอลลาร์อ่อน แต่แรงหนุนของค่าเงินบาทยังไม่ชัดเจน เนื่องจาก:
• เศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวในครึ่งหลัง
• การค้าโลกเข้าสู่ภาวะชะลอ
• ราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นสร้างแรงผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
• นักลงทุนต่างชาติยังไม่เข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทยอย่างมีนัยสำคัญ
กรุงศรีประเมินว่า ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.75 – 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยมีแนวโน้มแข็งค่าในช่วงท้ายปี หาก Fed ลดดอกเบี้ยมากกว่าคาด
[ แสงสลัวที่ปลายอุโมงค์ ]
แม้การท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อน แต่แนวโน้มเริ่มชะลอตัว ผนวกกับปัจจัยการเมืองภายใน และผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ จะกดดันเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลง สินค้านำเข้าจากจีนทะลักเข้าสู่ตลาดไทย ขณะที่หนี้ครัวเรือนและโครงสร้างสังคมสูงวัยยังคงเป็นโจทย์ระยะยาว
คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประคองเศรษฐกิจโดยคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% ในช่วงต้นครึ่งหลัง ก่อนจะพิจารณาลดลงอีก 0.25% หากภาพเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้อง
[ ยั่งยืนด้วยมุมมองระยะยาว ]
ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกและประเทศที่ยังเผชิญความไม่แน่นอน กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าด้วยยุทธศาสตร์ที่ตอบโจทย์อนาคต
ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุน ESG การเปิดรับสกุลเงินใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล หรือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ
ในระยะต่อไป ธนาคารจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการเป็นคู่คิดทางการเงินที่ช่วยให้ลูกค้าก้าวข้ามความไม่แน่นอน และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน…