กรมสุขภาพจิตส่งทีม MCATT เร่งเยียวยาจิตใจประชาชนชายแดนไทย-กัมพูชา
กรมสุขภาพจิต ดำเนินการตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ระดมทีม MCATT ลงพื้นที่จังหวัดชายแดน ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ และ ตราดเพื่อดูแลสุขภาพจิตผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบตามชายแดนไทย-กัมพูชา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะวิกฤต คัดกรองฟื้นฟู และส่งต่อผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงเสพข่าวอย่างสร้างสรรค์ ไม่ส่งต่อความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติของอีกฝ่าย
สธ. เร่งระดมทีมแพทย์ส่งหน่วยเคลื่อนที่ ช่วยประชาชนชายแดนไทย-กัมพูชา
เตรียมตัวให้พร้อมก่อน "บริจาคโลหิต" ให้ปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับ
พร้อมขอให้ชุมชนใช้หลักวัคซีนใจในชุมชน เพื่อผ่านสถานการณ์ไปพร้อมกันรวมถึงเปิดสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาความวิตกกังวลและสร้างกำลังใจแก่ประชาชนในพื้นที่
นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้จัดเตรียมทีม MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) จากกรณีเหตุความไม่สงบตามชายแดนไทย-กัมพูชา ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ และตราด ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย ซึ่งจากการรายงานพบว่า ณ ได้มีการอพยพผู้ป่วยและพลเรือนไปยังศูนย์พักพิง โดยกรมสุขภาพจิตจึงได้เร่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะวิกฤต พร้อมระดมทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ ลงพื้นที่ปฏิบัติงานอย่างเร่งด่วน โดยได้จัดตั้งทีมปฏิบัติการจำนวน 97 ทีม เพื่อปฐมพยาบาลทางใจ และส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวชเข้าสู่ระบบบริการอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งดำเนินการสื่อสารความเสี่ยงแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ ลดความวิตกกังวล และสร้างขวัญกำลังใจในการเผชิญสถานการณ์ดังกล่าว โดยในตอนนี้สิ่งที่กรมสุขภาพจิตห่วงใยในสถานการณ์สงครามหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ ขอให้แยกแยะ
ให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลหรือฝ่ายความมั่นคงของประเทศ ไม่ควรปล่อยให้ความรู้สึกเกลียดชังขยายไปสู่ประชาชนหรือเชื้อชาติของอีกฝ่ายเพราะจะก่อให้เกิดบาดแผลทางใจและสร้างผลกระทบที่ยาวนานต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนในสองประเทศ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อไปในอนาคต ขอให้ประชาชนเสพข่าวอย่างมีวิจารณญาณและไม่ตัดสินบุคคลหรือกลุ่มคนใดจากความขัดแย้งทางการเมืองหรือความมั่นคง ซึ่งกรมสุขภาพจิต ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้มารับบริการในสถานพยาบาล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ควรได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาเจนีวา ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และอนุสัญญาเจนีวาอย่างร้ายแรง ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม (War Crime) โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เพียงทำลายชีวิตและทรัพย์สิน แต่ยังส่งผลกระทบต่อความรู้สึกปลอดภัยในใจของประชาชนทุกคน และขอเป็นกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนี้ทุกภาคส่วน
นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่ออีกว่า กรมสุขภาพจิตตระหนักดีว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่เพียงส่งผลต่อร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทางจิตใจต่อผู้รอดชีวิต ครอบครัวผู้สูญเสีย และชุมชนโดยรอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า หรือ Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีประวัติความเจ็บป่วยทางจิต ในส่วนของชุมชนของพื้นที่เสี่ยงขอให้ใช้หลักวัคซีนใจในชุมชน เนื่องจากบางคนอาจจะยังมีอาการทางจิตใจที่ต่อเนื่องและซ่อนอยู่ โดยขอให้ชุมชนช่วยกันในการ
แก้ไขปัญหา และดูแลด้านจิตสังคมให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งจากในกลุ่มผู้ประสบเหตุจากสถานการณ์ และครอบครัวผู้สูญเสีย เพื่อให้มีพลังใจและพร้อมที่จะต่อสู้และก้าวผ่านวิกฤตไปได้ ซึ่งหลักการวัคซีนใจในชุมชนองค์ประกอบสำคัญ คือ
- Safe (ปลอดภัย) จัดที่พักปลอดภัยโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ วางแผนฟื้นฟูชุมชนเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย
- Calm (ใจสงบ) จัดกิจกรรมเพื่อลดความกลัวและตื่นตระหนก สร้างพื้นที่พูดคุยปรับอารมณ์ ไม่เสพข่าวซ้ำ
- Hope (พบความหวัง) รับฟังให้กำลังใจซึ่งกันและกันช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีในชุมชน
- Care (เติมพลังความห่วงใย) ร่วมใส่ใจดูแลคนใกล้ตัว และเฝ้าระวังผู้เปราะบางในชุมชน สร้างกลุ่มไลน์ เพจ เพื่อแจ้งเหตุและช่วยเหลือกัน
นอกจากนี้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ โดยการชวนผู้นำมาร่วมกันดูแลและหาจุดแข็งในชุมชน เช่น การสื่อสารผ่านหอกระจายข่าวหรือการนำผู้นำชุมชนมาช่วยกันดูแล ใช้สายสัมพันธ์ที่มีอยู่ในชุมชนให้คนในชุมชนช่วยกันได้ง่าย และช่วยกันดูแลปัญหา
ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตจึงได้เปิดสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้บริการคำปรึกษา รับฟังและประเมินสภาพจิตใจ โดยผู้เชี่ยวชาญ พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลตนเองและครอบครัวเบื้องต้น ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตจึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วน ร่วมมือลดความตึงเครียดและสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมแห่งสันติสุข เพื่อให้ประชาชนชาวไทยสามารถดำรงชีวิตได้อย่าง มั่นคง ปลอดภัย ทั้งกายและใจ