สืบทอดอย่างมีกลยุทธ์ ธุรกิจครอบครัวยุคใหม่ต้องไปให้รอด
การก้าวขึ้นมารับช่วงบริหารธุรกิจครอบครัว ไม่ใช่แค่การรับไม้ต่อจากรุ่นพ่อแม่เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสืบทอดมรดกทั้งทางธุรกิจ อารมณ์ ความผูกพัน และความหวังของคนในครอบครัวเอาไว้ด้วย ผู้สืบทอดจึงต้องแบกรับทั้งความสำเร็จในอดีตและภารกิจในการพาองค์กรไปข้างหน้าในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย St. Gallen และ WU Vienna พบว่า 85% ของทายาทรุ่นใหม่รู้สึกถึงแรงกดดันนี้อย่างชัดเจน หลายคนต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างความภักดีต่อรากเหง้า กับความตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมให้ดียิ่งขึ้น บางครั้งการริเริ่มสิ่งใหม่ก็ถูกมองว่าเป็นการละทิ้งมรดก
ในขณะที่การยึดติดกับอดีตมากเกินไปก็อาจฉุดรั้งไม่ให้ธุรกิจก้าวไปไหน แล้วทายาทจะสานต่อมรดกนี้ให้มั่นคงและยั่งยืนได้อย่างไร งานวิจัยชิ้นเดียวกันชี้ให้เห็นว่า ทายาทที่ประสบความสำเร็จ มักมี 4 กลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้สามารถสร้างทางของตัวเองได้ โดยไม่หลุดจากรากฐานเดิม
1. ค้นหาแก่นแท้ของธุรกิจ (Identify the Essence) มรดกไม่ได้หมายถึงแค่ผลิตภัณฑ์หรือบริการดั้งเดิม แต่คือ ค่านิยมหลัก จุดแข็งที่ยั่งยืน และจิตวิญญาณขององค์กร ลองถามตัวเองว่า อะไรคือความเชื่อที่บรรพบุรุษยึดถือ อะไรที่ทำให้ลูกค้ารักแบรนด์นี้มาทุกยุคทุกสมัย เช่น ธุรกิจโรงแรมเก่าแก่ที่ดูล้าสมัย อาจพบว่าแก่นแท้ของตนไม่ใช่รูปแบบบริการแบบเดิมๆ แต่คือความอบอุ่นแบบครอบครัว และการใส่ใจในประสบการณ์ส่วนตัวของแขก ซึ่งสามารถคงไว้ได้แม้จะปรับวิธีการให้ทันสมัย
2. ใช้แก่นแท้เป็นกรอบตัดสินใจ (Essence-Based Decision Framework) เมื่อรู้แล้วว่าแก่นแท้คืออะไร ให้ใช้สิ่งนั้นเป็น เข็มทิศในการตัดสินใจทุกเรื่อง ถามตัวเองเสมอว่าการเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับค่านิยมหลักหรือไม่ เสริมจุดแข็งหรือทำลาย รักษาจิตวิญญาณองค์กรหรือเปล่า กรอบความคิดนี้ยังช่วยอธิบายเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงให้ครอบครัวและพนักงานเข้าใจว่าการทำสิ่งใหม่นี้ เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ ไม่ใช่การทิ้งอดีต
3. สื่อสารอย่างตั้งใจและต่อเนื่อง (Communicate Deliberately and Continuously) การเปลี่ยนแปลงในธุรกิจครอบครัวนั้นเปราะบาง เพราะเกี่ยวข้องกับทั้งความสัมพันธ์และอารมณ์ความรู้สึก การสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ควรเริ่มจากการให้เกียรติสิ่งที่รุ่นก่อนสร้างไว้ เชื่อมโยงอดีตกับอนาคตให้เห็นภาพว่า การตัดสินใจในวันนี้ยืนอยู่บนรากฐานที่เคยมีมา และอย่าลืมว่าการสื่อสารที่ดีไม่ใช่แค่พูดเก่งแต่ต้องฟังให้เป็นด้วย ควรเปิดโอกาสให้คนในครอบครัวและพนักงานได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างจริงจัง
4. เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม (Seek Active Engagement – But Not Consensus) การเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมคือกุญแจสำคัญ แต่ต้องชัดเจนในบทบาทและขอบเขต เช่น ให้ครอบครัวมีสิทธิ์ร่วมกำหนดทิศทางหรืออนุมัติโครงการสำคัญ
ในขณะที่การตัดสินใจในเรื่องปฏิบัติการประจำวันให้เป็นหน้าที่ของทีมผู้บริหาร ซึ่งการมีธรรมนูญครอบครัวที่เขียนบทบาทหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน จะช่วยป้องกันความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน โดยไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันทั้งหมด แค่มีพื้นที่ให้เสียงต่างๆ ได้ถูกรับฟังก็เพียงพอแล้ว
มรดกทางธุรกิจไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ทุกอย่างแบบเป๊ะตามต้นฉบับ และก็ไม่ควรถูกลบล้างจนหมดเช่นกัน เพราะสิ่งเหล่านี้คือรากฐานสำคัญ ที่คนรุ่นใหม่สามารถนำมาต่อยอดในแนวทางของตนเองได้อย่างมั่นใจ การสืบทอดธุรกิจให้มั่นคงและยั่งยืน จึงไม่ใช่แค่การรักษาของเดิมไว้เท่านั้น
แต่คือการเข้าใจแก่นแท้ของสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้ แล้วนำมาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอนาคตให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าธุรกิจจะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องไม่หลงลืมจิตวิญญาณของ “ธุรกิจครอบครัว” ซึ่งเป็นหัวใจที่ทำให้ธุรกิจนี้มีความพิเศษ และแตกต่างมาตั้งแต่ต้นนั่นเอง
ที่มา: Fink, M., Hiepler, M., & Mayr, S. (2023, June 6). How to build upon the legacy of your family business and make it your own. Harvard Business Review. Retrieved from https://hbr.org/2023/06/how-to-build-upon-the-legacy-of-your-family-business-and-make-it-your-own