กัญชาต้องมีใบสั่งแพทย์ เตรียมอบรมรองรับร้านกัญชา 1.8 หมื่นแห่ง
8 กรกฎาคม 2568 นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง "กัญชาทางการแพทย์"
นายธนกฤต กล่าวว่า จากกรณีเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ยื่นข้อเสนอถึงสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข โดยหลักการย้ำว่า กัญชา ยังไม่เป็นยาเสพติด แต่มาตรการควบคุมต้องมี เนื่องจากผลกระทบก็มี เพราะมีผู้ร้องเรียน อย่างการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า หรือราว 1.5 ล้านคน โดยสถานการณ์การใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากประกาศกัญชาไม่เป็นยาเสพติด สิ่งเหล่านี้เกิดความไม่สบายใจในสังคมจึงต้องเกิดมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมและออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขโดยกำหนดให้กัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่มีแพทย์คอยควบคุม และมีการประกาศในเรื่องของการให้กัญชามีแหล่งผลิตที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน
นายธนกฤต กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้จึงมีสองมาตรการที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยมีประกาศในปี 2565 หลังจากนั้นเพื่อการควบคุมให้ได้มาตรฐานจึงมีประกาศสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2568 เพื่อการใช้กัญชาทางการแพทย์ โดยการสั่งจ่ายยาจากแพทย์ 7 วิชาชีพตามประกาศ รวมถึงควบคุมแหล่งผลิตที่มีมาตรฐานการปลูก เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค
นอกจากนั้นกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ออกประกาศแบบสั่งจ่ายสมุนไพร(กัญชา) ที่เรียกว่า ภ.ท.33 เพื่อให้ร้านขายกัญชาขายตามใบสั่งแพทย์ เพื่อให้มีการตรวจสอบที่มากัญชาและการจำหน่ายออกไปได้จัดทำแบบฟอร์มให้ร้านค้าอยู่ในเงื่อนไขของกรมเพื่อให้ตรวจสอบที่มาและการจำหน่ายและผู้ที่เกี่ยวข้องได้
ทั้งนี้ กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ไม่มีนโยบายให้ร้านค้าที่เปิดอยู่แล้ว 18,000 แห่งได้รับผลกระทบหรือเกิดความไม่สบายใจ ซึ่งทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจะทำความเข้าใจกับร้านค้า ตลอดจนถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมสร้างความเข้าใจด้วย โดยท่านอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ จะทำหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เข้าใจถึงแนวปฏิบัติต่อผู้ครอบครองกัญชาว่าแบบใดที่ถูก และที่ผิดเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
ด้าน นพ.สมฤกษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้กรมกำลังเตรียมอยู่ 2 เรื่อง คือ กัญชาต้องมีมาตรฐานเพียงพอและแพทย์ที่จะสั่งจ่ายต้องมีจำนวนเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันมีแปลงปลูกที่ต้องผ่านมาตรฐาน Thailand Canabis GACP จำนวน 69 แปลง โดยเป็นช่อดอกแห้ง 71,850 กิโลกรัมต่อปีและส่งออก 24,000 กิโลกรัมต่อปี
ขณะที่ร้านค้ามีจำนวน 18,651 ร้านค้า ส่วนปริมาณการบริโภคภายในประเทศ 47,850 กิโลกรัมต่อปี ส่วนตัวเลขแปลงที่รอการประเมินพบว่า 51 แห่งจะเสร็จไม่เกิน1-2 เดือนนับจากนี้ ซึ่งจะเติมกัญชาจากแหล่งปลูกเข้ามาอีก 125,000 กิโลกรัมต่อปีและส่งออกอีกประมาณ 41,000 กิโลกรัมต่อปี โดยจะมีแปลงปลูกทั้งหมดที่ผ่านมาตรฐานทั้งหมด 120 แห่ง จะมีประมาณ 3-4 พันแห่งที่ไม่ผ่านมาตรฐาน GACP
นอกจากนี้กำลังจัดการอบรมเพื่อเตรียมกลุ่มวิชาชีพในการสั่งจ่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ขณะนี้กำหนดให้ 2 วิชาชีพจาก 7 กลุ่มวิชาชีพ มี "แพทย์แผนปัจจุบัน" และ "แพทย์แผนไทย" โดยตั้งเป้าว่าต้องมีแพทย์แผนไทยจำนวน 2,000 คนที่ผ่านหลักสูตรและสามารถวินิจฉัยกลุ่มอาการและออกใบสั่งจ่ายกัญชาได้ ส่วนแพทย์แผนปัจจุบันกำหนดจำนวนแพทย์ 1 คน ต่อ 1 จังหวัด อย่างในกรุงเทพฯ จะมีหลายพื้นที่หลายเขตจะต้องมีแพทย์ประมาณ 30-40 คน
สำหรับการอบรมครั้งแรกในเดือน ก.ค.นี้ แบ่งเป็น อบรมวิชาชีพ เป็นแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน กำหนดวันที่ 16 ก.ค.นี้ เบื้องต้นมีแพทย์แผนไทยลงทะเบียนแล้ว 1,000 คน ส่วนแพทย์แผนปัจจุบันกำลังรอรวบรวมรายชื่อ
ส่วนผู้จำหน่ายตามร้านค้าต้องอบรมเช่นกัน ปัจจุบันร้านค้ามี 18,000 แห่ง มีผู้จำหน่ายอยู่ประมาณ 200,000 คนแต่ตั้งเป้าให้ได้ 80,000 คนจากร้านค้าทั้งหมด โดยอบรมครั้งแรก 17 ก.ค.นี้ทั้งออนไซด์และออนไลน์
ทั้งนี้ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาหลังมีการออกประกาศสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ได้ออกตรวจร้านกัญชา 1,565 ร้าน ในจำนวนนี้ถูกพักใช้ใบอนุญาต 82 ร้าน เพิกถอน 5 ร้าน ปิดกิจการ 322 ร้าน และถูกดำเนินคดี 7 ร้าน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าว
นอกจากนี้กรมการแพทย์แผนไทยฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างกฎกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการอนุญาตจำหน่ายสมุนไพรควบคุมช่อดอกกัญชา ผ่านเว็บไซต์กลางทางกฎหมาย หรือ LAW โดยจะปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 12 ก.ค 2568 ซึ่งจะเป็นการกำหนดระเบียบต่าง ๆ โดยเฉพาะร้านค้า ต้องมีแพทย์ประจำซึ่งตามขั้นตอนต่างๆ ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวจะบังคับใช้ได้ไม่เกินปีนี้
"หากกฎกระทรวงฯ ควบคุมร้านค้ามีผลบังคับใช้ภายในปีนี้เมื่อใดย่อมหมายถึงร้านค้านั้น ๆ จะต้องมีแพทย์ประจำ หรือพูดง่ายๆ จากสถานประกอบการเป็นสถานพยาบาล แต่ระหว่างนี้เมื่อยังไม่บังคับใช้ ให้ใช้เป็นใบสั่งจ่ายสมุนไพรควบคุมแทน โดยวิชาชีพที่ต้องผ่านการอบรมจากกรมฯเท่านั้น" นพ.สมฤกษ์ กล่าว
ต่อข้อซักถามที่ว่า ประชาชนจะทราบได้อย่างไรว่าจะไปหาแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนไทยที่ไหนที่จะยอมจ่ายใบสั่งจ่าย นพ.สมฤกษ์ อธิบายว่า กรมฯจะจัดอบรมซึ่งวันที่ 16 ก.ค.นี้จะได้แพทย์แผนไทยชุดแรก 1 พันคน ขณะนี้กำลังหารือว่าจะทำระบบไอที ให้ร้านค้ามาใช้ในเรื่องข้อมูลการใช้ช่อดอกกัญชา การมีใบสั่งจ่าย เป็นต้น
ทั้งนี้ ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ กรมฯจะทดสอบระบบผู้ป่วย 50 รายแรกมารับบริการ และใช้ใบสั่งจ่ายสมุนไพรควบคุม(กัญชา) หรือ ภ.ท.33 ส่วนประชาชนจะทราบได้อย่างไรว่า มีแพทย์ที่ไหนยอมออกใบสั่งจ่ายนั้น ขณะนี้กำลังพิจารณาจัดทำระบบ แต่ต้องขอให้ได้รายชื่อวิชาชีพที่ผ่านการอบรมก่อน