‘ลำไยไทย’ ขุมทรัพย์สีทองของภาคเหนือกับความท้าทายระบายผลผลิต
‘ลำไยไทย’ เป็นหนึ่งในผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แพร่ และน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญ
แม้ว่า ‘ลำไย’ จะเป็นแหล่งรายได้หลักของเกษตรกรจำนวนมากในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ละปีสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับเกษตรกรได้มหาศาล แต่ลำไยยังคงเผชิญกับความท้าทายเรื่องความผันผวนของราคาที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐ และเอกชนต้องร่วมกันหามาตรการมาช่วยบริหารจัดการและส่งเสริมตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลำไยยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของไทย
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่าฤดูกาลลำไยปี 2568 เริ่มต้นขึ้นท่ามกลางผลผลิตที่พุ่งสูง โดยพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ และน่าน มีผลผลิตลำไยรวมกันสูงกว่า 1.06 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีปริมาณ 947,140 ตัน หรือคิดเป็นกว่า 117 ล้านกิโลกรัม สาเหตุหลักมาจากสภาพอากาศที่เย็นยาวนาน ซึ่งเอื้อต่อการติดดอกและให้ผลผลิตที่ดี
กรมการค้าภายใน จึงเดินหน้าแผนบริหารจัดการผลไม้แบบครบวงจร ด้วยการออกมาตรการเร่งด่วน รวม 8 มาตรการ 25 แผนงาน ครอบคลุมตั้งแต่การกระจายผลผลิตในประเทศ การแปรรูปสินค้า ไปจนถึงการขยายตลาดส่งออกต่างประเทศ โดยตั้งเป้าระบายผลผลิตให้ได้ถึง 950,000 ตัน ในฤดูกาลนี้
8 มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไย
1. ส่งออกลำไยสดช่อ – รวบรวมผลผลิตลำไยสดเพื่อส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ
2. จัดแคมเปญ Thai Fruits Festival 2025 – กระตุ้นการบริโภคผลไม้ไทยในประเทศ
3. จับมือห้างค้าส่ง-ค้าปลีก เช่น แมคโคร โลตัส บิ๊กซี ฯลฯ รับซื้อลำไยจากเกษตรกรโดยตรง
4. ส่งเสริมระบบ Pre-order และ CSR ภาคเอกชน – กระตุ้นให้ภาคธุรกิจร่วมซื้อผลผลิตลำไยแบบต่อเนื่อง
5. สนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์มาตรฐาน ร่วมกับไปรษณีย์ไทย เพื่อกระจายลำไยอย่างมีประสิทธิภาพ
6. จับคู่ธุรกิจ (MOU) ระหว่างผู้ประกอบการลำไยอบแห้งกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่
7. แจกเป็นของสมนาคุณในปั๊มน้ำมัน – เพิ่มช่องทางกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค
8. ขยายตลาดใหม่ ๆ เช่น การขายน้ำผลไม้สมูทตี้ผ่าน “ตู้เต่าบิน” และแปรรูปเป็นเมนูอาหาร/เครื่องดื่มบนสายการบินไทยแอร์เอเชีย
นอกจากนี้ ลำไยเป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดจีนที่เป็นผู้นำเข้าลำไยไทยอันดับ 1 รวมถึงตลาดอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และบางส่วนของสหรัฐอเมริกาและยุโรป การส่งออกมีทั้งในรูปแบบลำไยสด ลำไยอบแห้ง ลำไยกระป๋อง และลำไยแช่แข็ง ซึ่งช่วยนำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมาก
ลำไย คือหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้าง รายได้มหาศาลจากการส่งออก ไปยังตลาดโลก โดยเฉพาะจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งนำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศหลายหมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังเป็น แหล่งจ้างงาน จำนวนมาก ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการแปรรูป ช่วย กระจายรายได้สู่ภูมิภาค และกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น
สำหรับ เกษตรกรไทย ‘ลำไย’ คือแหล่งรายได้หลัก ที่สำคัญยิ่ง แม้จะมีความผันผวนของราคา แต่ก็เป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงในระยะยาวได้ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงดูครอบครัวและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น การปลูกลำไยยังกระตุ้นให้เกิด การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร และส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาด ทำให้ลำไยยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและจำเป็นต่อภาคการเกษตรไทย
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง