‘Dry Texting’ เมื่อเราเบื่อจะสนทนาผ่านข้อความ จนส่งผลกับการสร้างความสัมพันธ์
เราอยู่ในโลกออนไลน์กันมาสักพัก เราเริ่มคุยกับบอต แต่ชีวิตความสัมพันธ์ของเราก็ยังดำเนินต่อไป เรายัง ‘แชต’ คุยกับผู้คน พยายามทำความรู้จักคนใหม่ๆ มีการสานสัมพันธ์ ทั้งหยอดและออกเดต
แต่การอยู่ในโลกออนไลน์มาอย่างเนิ่นนาน ก็ทำให้เราเริ่มพิมพ์ 555 ทั้งที่ไม่ได้รู้สึกขำอะไร การพูดคุยผ่านแชตเริ่มซ้ำซาก จำเจ น่าเบื่อ ไปจนถึงเงื่อนไขของโลกออนไลน์ที่ทำให้เราเชื่อมต่อกันตลอดเวลา จนเราเองเริ่มมีภาวะ ‘แชตแห้ง’ หรือ Dry Texting
แม้ลึกๆ แล้วใจเราจะอยากคุย อยากสานความสัมพันธ์ แต่บางทีมันก็ไม่รู้จะคุยอะไร และการหาเรื่องคุยนี่แหละที่กลับกลายเป็นเรื่องน่าหน่ายใจ จนหลายครั้งเลยนำไปสู่การตอบที่เหมือนจะห้วน จะสั้น และดูจะเป็นการสื่อสารที่ไม่ได้ความหมาย กดอีโมจิไปตัวหนึ่ง อีกฝ่ายหรือเราเองก็อาจจะรู้สึกว่า เออ ตอบแบบนี้คือไม่อยากคุยไหม หรือบางทีก็ทำให้กลายเป็นคนน่าเบื่อ
อาการแชตแห้ง คุยแห้ง อาจเป็นภาวะที่มีความซับซ้อน และเท่าที่เราสำรวจจากคนรอบๆ ตัว หลายคนที่ไม่ได้เบื่อกันและกัน แต่กลับเริ่มเบื่อการแชต ทั้งเพราะอาจหมดมุกจะคุย จะจีบ หรืออาจเป็นเพราะพื้นที่การแชตและโลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่ที่เหนื่อยจนเกินจะเชื่อมต่อกัน
Dry Texting ตอบที่เหมือนไม่ตอบ
“อืม”
“5555”
“😊”
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราอาจจะเจอ หรือเราเองที่อาจจะกำลังกดส่ง เพื่อตอบแชตกับคนที่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกเบื่อจะคุย หรือบางทีก็เป็นเราที่เบื่อตัวเองกับการที่ส่งแชตคำเดิมๆ เช่น สวัสดี, กินอะไรรึยัง, ทำไรอยู่
นานๆ เข้าไอ้อาการแชตแบบแห้งๆ นี้ จึงเริ่มกลายเป็นความจำเจ จากความจำเจก็เริ่มหาย นานๆ เข้าก็คุยกันที หรือร้ายกว่านั้นคือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มแชตกันแบบสั้นๆ เพราะไม่รู้จะพูดอะไรกัน หลายครั้งในการสานสัมพันธ์ อีกฝ่ายเลยตีความแชตที่แห้งๆ นั้นว่าเป็นความไม่สนใจ เป็นการเพิกเฉย และอาจมองว่าเป็นคนน่าเบื่อหน่าย ทำให้ความสัมพันธ์ไม่คืบหน้า
อันที่จริงศิลปะของการแชต ถือเป็นอีกหนึ่งศิลปะของการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบทสนทนาอีกรูปแบบที่เรามีอุปกรณ์ มีแป้นพิมพ์ มีแอปพลิเคชั่น มีโปรแกรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งยุคหนึ่งมันก็ตื่นเต้นดีที่เราเชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็ว มีภาพ มีลูกเล่นสารพัด แต่ทำไมพักหลังๆ เรากลับเริ่มหมดมุกจะเล่น หมดเรื่องจะคุย
ความแห้งของการแชต ถ้าจะตีความให้ลึกอาจสะท้านความสัมพันธ์ได้อย่างน่ากลัว ความ ‘แห้ง’ นั้นหมายถึง ความแห้งแล้ง ขาดอารมณ์ความรู้สึก ขาดมิติของความห่วงใย การตอบส่วนใหญ่ของการแชตแห้ง คือการตอบสั้นๆ ซึ่งถ้าเผลอเมื่อไหร่ ความสัมพันธ์ก็อาจร้าวลึกไปใหญ่โตได้
ตรงนี้เป็นอีกครั้งของคำสาปการแชต เมื่อการแชตทำให้เราไม่ได้ยินเนื้อเสียง เราไม่รู้ว่าอีกฝ่ายทำอะไรอยู่ บริบทของการตอบมานั้นเป็นอย่างไร รวมไปถึงเงื่อนไขจุกจิกอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้คนคนนั้นเป็นคนตอบเรามาอย่างรวบรัด
เหตุผลที่เป็นแบบนี้ในบางครั้งอาจเรียบง่าย เช่น พิมพ์ไม่เก่ง ไปจนถึงการที่ชาวเน็ตแบบเราเริ่มชินชากับโลกออนไลน์ พื้นที่การแชตเริ่มถูกรุกรานโดยพื้นที่ของการทำงาน ปัญหาของแพลตฟอร์มที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง หรืออาจเป็นวัยที่เราเริ่มเจอกับความเหนื่อย ตั้งแต่เวลาเริ่มไม่ตรงกันในการแชต ไปจนถึงทักษะที่เราอาจจะเริ่ม ‘ชิตแชต’ หรือ small talk ไม่ค่อยเก่งกันอีกต่อไป
จีบอย่างไรไม่ให้แชตแห้ง
ภาวะอยากมีใคร แต่ไม่ตอบแชต น่าจะเป็นอีกเรื่องระบาดในหลายพื้นที่ ข้อเขียนนี้พูดถึงปัญหาของการแชต รูปแบบการสื่อสารที่สำคัญที่สุดและพื้นฐานที่สุดในโลกปัจจุบัน ซึ่งลึกๆ เราอาจจะเบื่อการแชต และเผลอส่งแชตแห้งๆ ไปจนถึงไม่รู้จะหาเรื่องหาคำอะไรมาคุย
แต่ก็ต้องเป็นเรื่องเตือนใจว่า ถ้าเราอยากมีใคร ไม่อยากเหงา การสานสัมพันธ์กับผู้คนนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็น การส่งแชตเป็นสิ่งที่เราต้องใส่ใจและต้องระวัง จนมีข้อเขียนบอกว่า บางทีการแชตแห้งอาจทำให้ผู้คนตีความเป็นการไม่สนใจได้โดยง่าย ดังนั้น หลายงานเขียนจึงแนะนำการจัดการการสื่อสารผ่านการแชต ที่แม้ว่าอาจจะมีแนวโน้มแห้ง แต่ทำอย่างไรเราถึงจะส่งความรู้สึก ความสนใจของเราผ่านไปยังใครอีกคน ผ่านการแชตในโลกที่แสนวุ่นวายไปให้ได้
เบื้องต้นเราต้องพยายามอย่าแชตแห้งไปนัก ถ้าเราสนใจใครสักคน เราอาจต้องพยายามคุยกับคนคนนั้น พิมพ์ให้มากขึ้นหน่อย หาความสนใจในตัวอีกฝ่าย พยายามวางกรอบในการพูดคุย หาความสนใจบางอย่างร่วมกัน หาเวลา หาเนื้อหามาพูดคุยกันเท่าที่เวลาจะเอื้ออำนวย แม้เราอาจจะเบื่อ แต่ถ้าอยากมีรัก ก็ต้องพยายามกันหน่อย
ทั้งนี้ยังมีบางข้อสังเกตบอกว่า เราเองในโลกที่โดดเดี่ยวขึ้น หรือการที่เราเริ่มคุยกับบอตที่ตอบอย่างรวดเร็ว ทำให้เราอาจมีทักษะในการพูดคุยและหาเรื่องคุยได้น้อยลง เพราะต้องพึ่งความพูดเก่งของเจ้าแชตบอตมาพูดคุยให้สนุก แตกประเด็น หาเรื่องคุยไปเรื่อยๆ ได้มากขึ้น
แต่ในบางข้อคิดเห็นก็พูดถึงเรื่อง เช่น อารมณ์ขัน การลองปล่อยตัวตนของเราอย่างพอเหมาะ การวางสไตล์การพูดคุยผ่านชุดคำบางอย่าง การกดอีโมจิบางตัว การหาวิธีพิมพ์ที่เป็นกิมมิก หามุกตลก หามีมมาทำให้อีกฝ่ายสนุกกับการได้แชตคุยกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือการกลับมาทำให้การแชตสนุกตื่นเต้นอีกครั้งนั่นเอง
หรือเราจะกลายเป็นน่าเบื่อ
นี่อาจเป็นหนึ่งในปัญหาของคนวัยทำงานด้วย เราอาจเหนื่อยเกินจะคุยเล่น หรือเราอาจถูกงานครอบงำตัวเอง คุยทีไรนอกจากคำถามพื้นๆ ก็กลายเป็นคุยเรื่องงาน จากคนที่เคยเซ็กซี่ มีความสนใจต่างๆ มากมาย ก็กลายเป็นคนชืดๆ ซ้ำซาก น่าเบื่อ
ตรงนี้เองก็เป็นเรื่องของตัวเราเองด้วย เราอาจต้องกลับมาหาความสนใจบางอย่าง หรือง่ายที่สุดคือการไปเจอกันตัวเป็นๆ หาความสนใจ หาสิ่งต่างๆ ที่จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันไปพร้อมๆ กัน ดังนั้น กิจกรรมต่างๆ เช่น การอ่านหนังสือ ไปสวน ไปเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง หรือเรื่องราวอื่นๆ อาจกลับมาเป็นประเด็นที่จะทำให้คน 2 คนได้มีอะไรบางอย่างร่วมกัน
และที่สำคัญคือ การเจอหน้ากัน ได้เห็นความสนใจ เห็นตัวตนร่วมกัน รวมไปถึงการยอมรับไปเลยว่า ตัวตนของเราภายใต้ตัวอักษรในกล่องแชตเป็นคนละคนกัน เราเป็นคนที่มีสีสัน มีเลือดมีเนื้อ และมีความอบอุ่นห่วงใยที่พร้อมจะมีให้กันนะ
สุดท้ายนี้ ในโลกที่เร็ว ที่พร้อม ขณะเดียวกันก็โดดเดี่ยว ด้วยชีวิตที่เต็มไปด้วยงาน ด้วยวงจรวนเวียน เราในฐานะมนุษย์ก็ต้องบอกตัวเองว่า ถ้าเราอยากจะมีใครสักคน อย่างน้อยการพยายามตอบแชต การใส่ใจในการคุย การหาเวลาตั้งแต่การแชต ไปจนถึงการหาเวลา หาเรื่อง หาร้าน หาสถานที่ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามกันหน่อย
ในทางกลับกัน ถ้าเราเจอแชตแห้งๆ ที่เราเข้าใจอีกฝ่าย เราก็ต้องให้อภัยกันบ้าง หรือเราอาจจะชวนให้อีกฝ่ายช่วยกันทำให้แชตน่าคุยขึ้นสักหน่อย
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Manita Boonyong
Editorial Staff: Taksaporn Koohakan