รู้จัก "สารหน่วงไฟสีชมพู" สยบไฟป่าลอสแองเจลิส ที่รัฐบาลกัมพูชาบิดเบือนเป็นอาวุธเคมีกองทัพไทย
ภาพนี้ เป็นภาพของสำนักข่าว Reuters ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 6 เดือนก่อน ในช่วงเกิดไฟป่ารุนแรงทั่วนครลอสแอนเจลิส เมืองแห่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์สหรัฐฯ คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 24 ราย
ตอนนั้น เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทั่วทั้งประเทศระดมกำลังเพื่อควบคุมไฟป่า ใช้ทุกกลยุทธ์ เพื่อยุติความพิโรธของเปลวเพลิง รวมถึงการนำสารหน่วงไฟมาใช้ และตอนนี้ ได้แปรเปลี่ยนให้นครลอสแอนเจลิสกลายเป็นสีชมพู
มาวันนี้ รัฐบาลกัมพูชาบอกว่า สารหน่วงไฟสีชมพูที่ใช้ช่วยชีวิตคน กลายเป็นอาวุธเคมีของฝ่ายไทย
สารหน่วงไฟสีชมพูคืออะไร ?
สารสีชมพูที่เราเห็น มีชื่อเรียกว่า สารหน่วงไฟสีชมพู หรือ ‘ฟอส-เช็ก’ เป็นสารหน่วงไฟที่ช่วยให้นักดับเพลิงสามารถช่วยควบคุมไฟป่าที่โหมกระหน่ำได้ ด้วยการช่วยชะลอการแพร่กระจายของไฟป่า ซึ่งจะถูกปล่อยลงมาจากเครื่องบิน
กลยุทธ์การควบคุมไฟป่านี้ของทีมดับเพลิง แปรเปลี่ยนบ้าน, รถยนต์, ถนน, ต้นไม้ และทุกสิ่งอย่างที่อยู่ด้านล่างให้กลายเป็นสีชมพู
สารหน่วงไฟสีชมพู ทำมาจากน้ำที่ผสมกับผง ‘ฟอส-เช็ก’ ซึ่งผลิตโดยบริษัท Perimeter Solutions โดยบริษัทแห่งนี้ได้ผลิตผงฟอส-เช็กมาแล้วหลายรุ่น แต่ทางกรมป่าไม้แห่งสหรัฐฯ เลือกใช้ฟอส-เช็ก รุ่น MVP-Fx ในปัจจุบัน
สารหน่วงไฟสีชมพูทำงานอย่างไร ?
สารหน่วงไฟสีชมพูจะช่วยดับไฟป่า ทำให้การแพร่กระจายของไฟป่าช้าลง โดยขั้นตอนแรก จะต้องนำเอาสารหน่วงไฟไปผสมกับน้ำ เพื่อทำให้เกิดโฟม หรือ สารละลายที่ง่ายต่อการฉีดไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
เมื่อฉีดลงไปยังในพื้นที่ที่ต้องการแล้ว สารหน่วงไฟจะเคลือบและระบายความร้อนกับวัตถุทุกอย่างที่ติดไฟในสภาพแวดล้อมนั้น ๆ ได้ เช่น หญ้า พุ่มไม้ และต้นไม้ หรือแม้กระทั่งสิ่งของอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีให้เกิดไฟ
กระบวนการนี้จะช่วยทำให้ไฟหมดออกซิเจน และทำให้การเผาไหม้ช้าลง เพราะเกลืออนินทรีย์ที่อยู่ในสารหน่วงไฟ เปลี่ยนวิถีการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง
ทั้งนี้ ผนังเซลล์พืชประกอบด้วย เซลลูโลส โดยปกติจะสลายหายไป เมื่อโดนความร้อน และผลิตเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้นให้กับไฟ อย่างไรก็ตาม Perimeter Solutions ระบุว่า สารหน่วงไฟจะเปลี่ยนการสลายของเซลลูโลส และสร้างคาร์บอนที่ไม่ติดไป ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดเปลวไฟ
“กระบวนการนี้จะลดเชื้อเพลิงในการเกิดไฟ ลดความเข้มข้นของไฟ และการแพร่กระจายของไฟ” Perimeter Solutions ระบุลงในเอกสารข้อมูลของตัว MVP-Fx
นอกจากนี้ สีชมพูสดใส จะช่วยให้นักบินและนักดับเพลิงมองเห็นสารหน่วงไฟได้ชัดเจนตั้งแต่บนพื้น จนถึงอากาศ โดยสีนี้จะค่อย ๆ จางหายไป เมื่อโดนแสงแดด
ขณะเดียวกัน สำนักข่าว New York Times รายงานว่า เป็นเรื่องยากที่จะวัดประสิทธิภาพของสารหน่วงไฟ เพราะว่าเป็นเพียงหนึ่งกลยุทธ์ของการดับไฟป่า โดยกลยุทธ์การดับไฟป่าอื่น ๆ ได้แก่ สร้างแนวกั้นไฟ และฉีดน้ำ ทั้งบนดินและอากาศ
แต่ปัญหาของการใช้น้ำเพียงอย่างเดียวในการดับไฟป่า คือ มันจะระเหยไปทันที ในทางตรงกันข้าม สารหน่วงไฟ ที่มีส่วนผสมของปุ๋ย และอื่น ๆ จะไม่ระเหยไป เมื่อน้ำที่ผสมอยู่หมดไป ทำให้ไฟลามได้ช้าเป็นเวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือ นานกว่านั้น และเมื่อไฟป่าลามช้า มันก็จะช่วยให้นักดับเพลิงมีเวลาในการลงพื้นที่
สารหน่วงไฟสีชมพูอันตรายหรือไม่ ?
มีข้อกังวลหลายด้านเกี่ยวกับการใช้งานของสารหน่วงไฟ ผลการศึกษาในปี 2024 ซึ่งตีพิมพ์ผ่านวารสาร Environmental Science and Technology Letters พบว่า สารหน่วงไฟในระยะยาวมีส่วนผสมของโลหะที่เป็นพิษ ได้แก่ ตะกั่ว, สารหนู และแทลเลียม
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย คาดการณ์ว่า ตั้งแต่ปี 2009-2021 สารหน่วงไฟได้เพิ่มโลหะที่เป็นพิษเข้าสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่า 400 ตัน หรือประมาณ 380,000 กิโลกรัม
ผลการศึกษานี้ ยังได้ศึกษาสารหน่วงไฟ รุ่น LC95W ซึ่งเป็นรุ่นเก่าที่ทางกรมป่าไม้สหรัฐฯ เลิกใช้ไปเมื่อไม่นานมานี้
ตัวแทนจากทางกรมป่าไม้สหรัฐฯ กล่าวกับ สำนักข่าว NPR ว่า ในปี 2025 ทางหน่วยงานจะยกเลิกใช้ LC95 ทั่วประเทศ และจะหันไปใช้ MVP-Fx แทน ซึ่งจากข้อมูลที่ระบุบนเอกสาร เผยว่า MVP-Fx มีค่าความเป็นพิษน้อยกว่ารุ่นก่อน และตอนนี้ ทางรัฐแคลิฟอร์เนียได้ใช้รุ่นนี้ในการควบคุมไฟป่า
โฆษกของ Perimeter Solotions กล่าวกับสำนักข่าว New York Times ว่า สารหน่วงไฟใข้สำหรับการดับเพลิงทางอากาศ ผ่านการทดสอบอย่างเข้มข้น เพื่อยืนยันว่า เป็นไปตามมาตรฐานที่เข้มงวด เพื่อให้ปลอดภัยต่อสัตว์น้ำ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
อย่างไรก็ตาม Perimeter Solutions ระบุบนข้อมูลเอกสารความปลอดภัยของ MVP-Fx ว่า ผลิตภัณฑ์นี้อาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงในระยะยาวต่อสภาพแวดล้อมทางน้ำ
ทั้งนี้ สารหน่วงไฟชนิดนี้ ถูกห้ามใช้ในบางพื้นที่ รวมถึงทางน้ำ และที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ถึงกระนั้น ก็มีข้อยกเว้นบางอย่าง หากว่าชีวิตมนุษย์ หรือ ความปลอดภัยทางสาธารณะถูกคุกคาม การใช้สารหน่วงไฟก็อาจจะสามารถให้ใช้ในพื้นที่ที่ถูกห้ามใช้ได้ เมื่อคำนึงถึงภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากไฟ
สารหน่วงไฟสีชมพูประกอบด้วยสารอะไรบ้าง ?
ส่วนผสมที่อยู่ในสารหน่วงไฟสีชมพูส่วนใหญ่ จะเป็นปุ๋ยแอมโมเนียฟอสเฟต และส่วนประกอบอื่น ๆ อีกเล็กน้อยที่ผสมกับน้ำ
ทาง Perimete Solutions ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดส่วนประกอบอื่น ๆ ของผงรุ่น MVP-Fx แก่สาธารณชน โดยให้เหตุผลว่า เป็น “ความลับทางการค้า” และกังวลว่า ใครก็จะสามารถนำไปผลิตลอกเลียนแบบได้
อย่างไรก็ตาม ส่วนผสมหลัก 80-90% คือ โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต ซึ่งมักใช้เป็นปุ๋ย นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยไดแอมโมเนียฟอสเฟต และสารเติมแต่งชนิดอื่น ๆ
อันตรายต่อมนุษย์หรือไม่ ?
จากเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของฟอส-เช็ก รุ่น MVP-Fx ระบุไว้ว่า MVP-Fx ไม่มีสารประกอบอันตรายใด ๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็ง, อันตรายต่อพัฒนาการ หรือ การสืบพันธุ์
แม้จะไม่มีสารอันตราย แต่ก็มีคำเตือนเรื่องการใช้งานของผลิตภัณฑ์ MVP-Fx ว่า ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสที่ไม่จำเป็น ทั้งบริเวณดวงตา, ผิวหนัง และเสื้อผ้า
ทั้งนี้ Perimeter Solutions อธิบายว่า MVP-Fx มีการระคายเคืองต่อดวงตาค่อนข้างน้อยมาก และไม่ค่อยระคายเคืองต่อผิวหนัง แต่ถ้าหากสูดดมเข้าไป มันก็อาจจะเคืองต่อระบบทางเดินหายใจได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุไฟป่า คำเตือนเรื่องอันตรายของการใช้ ‘ฟอส-เช็ก’ ก็ดูกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย เพราะว่า ไฟป่าไม่ได้เพียงแต่เผาทำลายชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังผลิตควันพิษที่สามารถคงอยู่ในอากาศไปได้อีกหลายสัปดาห์ หรือ หลายเดือน
เดเนียล แมคเคอรี รองศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย กล่าวกับ NPR ว่า ประชาชนที่อยู่บริเวณเพลิงไหม้น่าจะมีความกังวลเร่งด่วนเรื่องไฟป่ามากกว่าฟอสเช็ก
“ในแง่ของข้อกังวลเร่งด่วน สิ่งสำคัญที่ผมกังวล ไม่ว่าเราจะใช้สารหน่วงไฟ หรือ ไม่ก็ตาม คือ มลพิษทางอากาศ ถ้าคุณเดินไปรอบ ๆ พื้นที่ที่มีการเผาไหม้ มันอาจจะยังคงมีหมอกควันหนามาก ฉะนั้น ควรสวมหน้ากากป้องกันระบบทางเดินหายใจ” แมคเคอรี กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สรุปยอดเสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบชายแดนไทย-กัมพูชา ล่าสุดเพิ่มเป็น 14 ราย
- กต. ออกแถลงการณ์ปฏิเสธรายงานข่าวกล่าวหากองกำลังของไทยใช้อาวุธเคมี
- มทภ.2 อัดคลิปยืนยัน! โต้เฟคนิวส์ "ผมยังอยู่ ไม่เป็นอะไร สบายดีทุกอย่าง"
- พม. เร่งช่วยดูแลกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบสถานการณ์ชายแดนไทย–กัมพูชา
- กองทัพภาคที่ 2 “แจ้งเตือน” ภัยสงครามไซเบอร์ แนะ 6 มาตรการสำคัญต้องทำเร่งด่วน