"จุลพันธ์" เผยดีลภาษี อำนาจต่อรองไทยไม่ด้อยกว่าเวียดนาม มั่นใจออกมาดี
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรววงคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่กระบวนการเจรจาเรื่องมาตรการทางภาษีกับสหรัฐฯ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้อาจไม่จบง่าย ๆ เชื่อว่าอาจจะยังไม่ได้ข้อสรุป 100% และอาจจะต้องมีการเปิดเวทีเพื่อให้มีการพูดคุยกันต่อ รวมถึงเชื่ออีกว่าสหรัฐฯ จะเข้าใจ และจะมีการเลื่อนกรอบระยะเวลาที่จะมีผลกระทบออกไปอีก
ส่วนอัตราภาษีสรุปสุดท้ายจะออกมาอยู่ที่อัตราเท่าใดนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา แต่เชื่อมั่นว่าจะมีผลลัพธ์ที่ดี
ทั้งนี้ เมื่อคืนที่ผ่านมา (3 กรกฎาคม 2568) ทีมไทยแลนด์ ภายใต้การนำของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการสำคัญในการหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เพื่อขอเจรจาลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไทย ลงจากเดิมที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าจะเรียกเก็บในอัตรา 36% โดยที่ผ่านมา ไทยยื่นข้อเสนอไปแล้วและมีสัญญาณตอบรับที่ดีจากสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอฟังว่า ผลเจรจาเมื่อคืนที่ผ่านมาจะมีข่าวดีหรือไม่
อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ ถึงผลการเจรจาล่าสุดระหว่างทีมไทยแลนด์ กับ USTR
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่มองในกรณีเลวร้ายว่าสหรัฐฯ จะกลับไปเก็บภาษีนำเข้าจากไทยที่อัตรา 36% อยู่แล้ว โดยในฐานะผู้ปฏิบัติไทยได้มีการหารือและพูดคุยกับฝ่ายสหรัฐฯ ในหลายระดับมาโดยตลอด และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา ประเทศไทยเรารู้โจทย์ชัดเจนว่าสหรัฐฯ ต้องการอะไรบ้าง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวมถึงภาคเอกชน ต่างหารือกันอย่างเข้มข้น และรู้ว่าไทยจะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
โดยรัฐมนตรีช่วยคลัง ระบุว่า ทราบมาว่าไทยสหรัฐฯได้มีการพูดคุยแล้ว และเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ถามว่าเราเคยหวังว่าจะอยู่ในระดับที่ดีที่สุด หรือจุดที่ก่อนจะมีการเก็บภาษีที่ 10% หรือไม่ ก็ต้องยอมรับความจริงว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่มีทางกลับไปที่จุดเดิมได้อยู่แล้ว ทุกคนในโลกรู้ดี และสุดท้ายก็ต้องเดินข้ามไปสู่สมดุลหรือบาลานซ์ใหม่ที่จะเกิดจากการเจรจา แต่หากถามว่าเราจะอยู่ในตะกร้าไหน ก็พร้อมยอมรับลึก ๆ ว่าเราก็หวังว่าเราจะอยู่ในตระกร้า 10% แต่เมื่อเห็นผลการเจรจาของเวียดนามออกมา ตัวเลขค่อนข้างน่าเป็นห่วง
แต่หากมองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศค่อนข้างแตกต่าง ไทยมีสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มายาวนาน แม้เรื่องนี้จะใช้ชั่งน้ำหนักในการเจรจามากไม่ได้ แต่ก็เป็นความหวังหนึ่ง และเราก็ยังเชื่อมั่นว่า อำนาจในการเจรจาต่อรองของเราไม่ได้น้อยไปกว่าเวียดนาม และเชื่อว่าโจทย์ทั้งหมดของสหรัฐฯ นั้น ทีมไทยแลนด์รู้ดี และเตรียมตัวมาอย่างดี เพื่อให้การพูดคุยมีผลสำเร็จ และกระทบกับประชาชนกลุ่มเปราะบางน้อยที่สุด
พร้อมระบุว่า รัฐบาลรจัดสรรเม็ดเงินราว 1 หมื่นล้านบาท จากวงเงินงบประมาณ 1.15 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือและรองรับภาคเอกชนจากผลกระทบที่อาจจะเกิดจากปัญหาสงครามการค้า และภาษีสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่าเม็ดเงินในส่วนนี้จะช่วยภาคเอกชนในการประคับประคองการจ้างงาน และภาคการผลิตได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คิดให้แล้ว! ทรัมป์จ่อร่อนจดหมาย เคาะตัวเลขรีดภาษี 100 ประเทศคู่ค้า ก่อนเส้นตาย 90 วัน
- ทำไมสหรัฐฯ เลือกปิดดีลภาษีทรัมป์ (Trump Tariff) กับ "เวียดนาม" ก่อนไทยในอาเซียน ?
- รัฐมนตรีพาณิชย์ กางแผน แก้สินค้าเกษตรตกต่ำ - ปราบนอมินี - รับมือภาษีทรัมป์
- เวียดนามแซงไทย บรรลุดีลภาษีทรัมป์ หั่นจาก 46% เหลือ 20% แล้วภาษีสินค้าสวมสิทธิคืออะไร?
- ‘พิชัย’พบสมาคมผู้ส่งออก"ธัญพืชสหรัฐฯ" ถกการค้า