ลุ้นตลาดรับสร้างบ้าน Q3 ฟื้น คาดปัจจัยต้นทุนดันราคาครึ่งปีหลัง
นายอนันต์กร อมรวาที นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน หรือ Home Builder Association (HBA) เปิดเผยภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2568 ว่า แม้ยังเผชิญแรงกดดันจากเศรษฐกิจและการเมืองทั้งในและต่างประเทศ แต่สถานการณ์เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว โดยยอดขายของบริษัทสมาชิกสมาคมฯ ที่เคยติดลบ 15% ในไตรมาสแรก ปรับลดลงเหลือ 7% ในไตรมาสสอง โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการสร้างบ้านจริง (Real Demand) ในระดับราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท
กลุ่มบ้านราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนตลาดในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีผู้บริโภคที่พร้อมจ่าย มีเงินออม และต้องการที่อยู่อาศัยถาวรตัดสินใจสร้างบ้านเพิ่มขึ้น สวนทางกับกลุ่มบ้านราคามากกว่า 20 ล้านบาทที่ยังชะลอตัว
โดยมียอดติดลบถึง 15% เนื่องจากผู้ซื้อมักเป็นเจ้าของบ้านหลังที่สองหรือสาม ทำให้เลื่อนการตัดสินใจรอความชัดเจนด้านเศรษฐกิจ ส่วนบ้านราคา 10–20 ล้านบาทยังทรงตัว และยังไม่มีปัจจัยบวกเพียงพอในการกระตุ้นตลาด
และเมื่อพิจารณาในระดับภูมิภาค กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นตลาดที่หดตัวมากที่สุดราว 30% ขณะที่ภาคใต้เติบโตแรงถึง 8% นำโดยจังหวัดภูเก็ตและสงขลา ภาคตะวันออกโตเฉลี่ย 3% โดยชลบุรีเป็นจังหวัดเด่น ภาคเหนือหดตัว 12% ยกเว้นเชียงใหม่ที่ทรงตัวได้ ส่วนภาคอีสานโดยรวมติดลบถึง 20% แต่ “นครราชสีมา” กลับทำผลงานสวนทาง เติบโตได้ถึง 11%
อีกทั้ง สมาคมฯ ยังเตรียมจัดงานใหญ่ “รับสร้างบ้านและวัสดุ EXPO 2025” ระหว่างวันที่ 10–14 กันยายน 2568 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงไฮซีซัน พร้อมเดินหน้าสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคในวงกว้าง เน้นจุดเด่นของบริษัทรับสร้างบ้านที่มีมาตรฐาน โปร่งใส และบริการครบวงจร
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ยังคงจับตาปัจจัยลบที่อาจกดดันต้นทุนการก่อสร้างในช่วงปลายปี ได้แก่ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 350 เป็น 400 บาทต่อวัน รวมถึงต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่อาจปรับเพิ่มจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ภายใต้ “ภาษีทรัมป์” ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนรวมของโครงการ
ทั้งนี้ สมาคมฯ เชื่อว่าความต้องการสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริง โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านราคาต่ำกว่าสิบล้านบาท จะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง และหากไม่มีปัจจัยลบใหม่เข้ามาแทรกซ้อน มีโอกาสที่ตลาดรับสร้างบ้านในไตรมาส 3 จะกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้งหลังผ่านช่วงวิกฤตในครึ่งปีแรก