พาราสาวะถี
ผลพวงจากการหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีของ แพทองธาร ชินวัตรเต็มไปด้วยข้อถกเถียงสารพัด ที่สังคมให้ความสนใจมากที่สุด คงหนีไม่พ้นกรณีความเป็นรักษาราชการแทนนายกฯ หรือผู้นำรักษาการจะมีอำนาจยุบสภาได้หรือไม่ล่าสุด กลายเป็นเรื่องร้อนขึ้นมาทันทีเมื่อ ปกรณ์ นิลประพันธ์เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวยาวเหยียด อธิบายว่า นายกฯ รักษาการไม่สามารถยุบสภาได้
นั่นทำให้มีการนำไปขยายผลทันทีว่าเลขาฯ กฤษฎีกาหัก วิษณุ เครืองามเนติบริกรชั้นครูที่เคยให้ความเห็นก่อนหน้าว่า นายกฯ รักษาการสามารถยุบสภาได้ หากไปย้อนดูข่าวที่เจ้าตัวให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ระหว่างถูกนักข่าวถามถึงปมที่ เศรษฐา ทวีสินถูกยื่นถอดถอน หากพ้นจากความเป็นนายกฯ แล้วต้องมีนายกฯ รักษาการ อำนาจจะเป็นอย่างไร คำตอบของคำถามที่ว่าสามารถยุบสภาได้หรือไม่คือ ปัญหานี้เกิดทุกยุคทุกสมัย ตนเห็นว่าสามารถสั่งยุบสภาได้ และระหว่างรักษาการก็ถือว่ามีอำนาจเต็ม
แต่วิษณุก็มีคำอธิบายต่อว่า กรณีที่นายกฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งต้องมีการเลือกผู้นำคนใหม่ ที่จะต้องมาจากบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองที่ได้เสนอชื่อก่อนการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองนั้นต้องมีสส.ไม่น้อยกว่า 25 คน ถ้ามาดูสิ่งที่เลขาฯ กฤษฎีกาอธิบายจะเห็นได้ว่า เป็นการยืนยันถึงอำนาจของนายกฯ ทั้งเรื่องการยุบสภา และแต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นสิ่งที่สภามอบความไว้วางใจให้ การเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีและการยุบสภา เป็นอำนาจเฉพาะตำแหน่งนายกฯเท่านั้น เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศที่ปกครองในระบอบรัฐสภาแบบ Westminster เป็นไปตาม “หลักความไว้วางใจ”
ประเทศไทยจะเห็นได้ชัดในประกาศแต่งตั้งนายกฯ ซึ่งมีความสรุปว่า ประธานสภา…. กราบบังคมทูลว่าสภาลงมติไว้วางใจให้นาย/นางสาว… เป็นนายกรัฐมนตรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ส่วนกรณีประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ก็ชัดเจนว่าบัดนี้นาย/นางสาว… นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลดังต่อไปนี้เป็นรัฐมนตรี
จะเห็นได้ชัดว่าเป็นความไว้วางใจมาเป็นทอดๆ และพระมหากษัตริย์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ ตามที่สภาเสนอและประธานสภานำความกราบบังคมทูล หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ตามที่นายกฯ กราบบังคมทูลว่าสมควรไว้วางใจ โดยนัยนี้เองรองนายกฯ ที่ทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกฯ จึงไม่มีอำนาจเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี หรือเสนอให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเพราะเป็นเพียงรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งได้รับความไว้วางใจจากนายกฯ เฉกเช่นเดียวกับรัฐมนตรีคนอื่น ไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร จึงจะแต่งตั้งหรือปลดรัฐมนตรีคนอื่นไม่ได้
ขณะที่เรื่องการยุบสภา เลขาฯ กฤษฎีกาก็อธิบายชัดซึ่งก็เป็นเหตุเป็นผล เนื่องจากกรณีของแพทองธาร การที่รักษาราชการแทนนายกฯ จะเสนอให้ยุบสภา ถ้ายังมีผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ (ที่รอกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ) อยู่ ยิ่งไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้ได้รับความไว้วางใจจากสภาให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร หากเป็นเพียงผู้ซึ่งนายกฯถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ว่า เป็นผู้สมควรไว้วางใจให้แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเท่านั้น การยุบสภาจึงเป็นอำนาจเฉพาะของนายกฯ เท่านั้น
การอธิบายเช่นนี้ของเลขาฯ กฤษฎีกา อาจเรียกได้ว่าเป็นการปิดประตูยุบสภาเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ ถ้ากรณีที่แพทองธารต้องพ้นจากตำแหน่ง ต้องเข้าใจว่าไม่ว่าจะพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุผลใดก็คือ ผลคือคณะรัฐมนตรีจะพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และรัฐธรรมนูญบัญญัติรองรับไว้ว่า เมื่อครม.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้ดำเนินการเพื่อให้มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ความหมายจึงชัดเจนว่า สภาต้องดำเนินการเพื่อให้มีการเลือกคณะรัฐมนตรีใหม่ขึ้น
เป็นการชี้ให้เห็นว่า การพ้นไปจากตำแหน่งของนายกฯ และมีผลให้รัฐมนตรีต้องหลุดจากเก้าอี้กันทั้งคณะ สภายังต้องอยู่ต่อไปเพื่อดำเนินการเลือกนายกฯ ให้มาตั้งรัฐบาลบริหารประเทศกันต่อเป็นบทบังคับที่ต้องดำเนินการ สภาจึงไม่อาจถูกยุบได้ในห้วงเวลานี้ และถึงอยากจะทำก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีความชอบธรรมที่จะทำ แจกแจงกันขนาดนี้ถือว่าเข้าทางฝ่ายที่ไม่ต้องการยุบสภา ถ้าผลของแพทองธารมาเป็นลบก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯ จากบัญชีแคนดิเดตของพรรคการเมืองที่มีอยู่
เมื่อถึงเวลานั้นก็จะเป็นบทพิสูจน์ หรือจังหวะวัดใจ หากยังเป็นรัฐบาลผสมขั้วเดิมตัวเลือกก็จะเป็น ชัยเกษม นิติสิริจากเพื่อไทย กับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคของรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งรายหลังดูจากปมปัญหาที่ถูกร้องเรียนแล้วคงจะเป็นเรื่องยากที่จะได้รับการสนับสนุน ถ้าเป็น อนุทิน ชาญวีรกูลจากภูมิใจไทย ก็จะเข้าสูตรที่พรรคประชาชนเสนอคือ พร้อมโหวตให้เป็นนายกฯ ภายใต้เงื่อนไขต้องเป็นรัฐบาลชั่วคราว รอเวลายุบสภา และผลักดันร่างกฎหมายประชามติเพื่อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ตั้งโจทย์กันไว้ นำเสนอแนวทางที่เหมือนจะเป็นความหวังดีกันทั้งนั้น แต่พิจารณาลงลึกไปในรายละเอียด ประกอบกับท่าทีของแต่ละพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคสีน้ำเงินกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายประชามติ เห็นได้ชัดตั้งแต่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่าต้องการที่จะทำหรือไม่ แนวทางที่พรรคสีส้มนำเสนอนั้นคงเป็นไปได้ยากหากยึดตามความเห็นของเลขาฯ กฤษฎีกา แนวโน้มหากแพทองธารต้องพ้นจากตำแหน่ง คงเป็นไปในทิศทางรัฐบาลชุดเดิมไปต่อโดยชูชัยเกษมเป็นผู้นำทัพ
แต่เป็นการเดินไปต่อที่คงไม่อยู่กันครบเทอม ถูลู่ถูกังกันให้ได้นานที่สุดจนแน่ใจได้ว่าอยู่ในจังหวะเวลาที่สามารถต่อกรกับคู่แข่งสำคัญจากพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนได้ จึงจะเกิดการยุบสภา ต้องเข้าใจว่า ถ้าไม่มีอะไรพลิกผันแบบหกคะเมนตีลังกา การเลือกตั้งยังไงพรรคสีส้มต้องมาเป็นอันดับ 1 แน่นอนแต่จะทำยังไงให้เป็นชัยชนะที่ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยมีช่องที่ทำให้พรรคอันดับสองอย่างเพื่อไทยสามารถรวบรวมเสียงแล้วจัดตั้งรัฐบาลได้อีกคำรบ นี่คือโจทย์หรือคำสั่งที่แม้แต่ภูมิใจไทยก็ได้รับมาร่วมกัน
อรชุน