ศึก Tariff War ของไทย.. จะไปอย่างไรต่อ?
ประเด็นฮ็อตของสัปดาห์นี้ คงจะหนีไม่พ้นสงครามภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ประจวบเหมาะกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนาว่าด้วยวิกฤตภาษีทรัมป์ ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงขอนำเนื้อหาบางส่วนมาถ่ายทอดในคอลัมน์นี้
บทความนี้ จะขอพูดถึงความเป็นไปได้ของหน้าตาการเจรจา Tariff Rate ดังกล่าว รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนตลาดหุ้นในบ้านเรา
โดยที่สหรัฐได้ประกาศออกไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศส่วนใหญ่ Tariff rate ยังคงเดิม โดยมีที่ลดลงได้แก่ กัมพูชา จาก 49% เหลือ 36% ส่วนที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ญี่ปุ่นและมาเลเซียที่เพิ่มจาก 24% เป็น 25% ทว่ายังมีอีกกลุ่มหนึ่งอันประกอบด้วย ยุโรป อินเดีย และ ไต้หวัน ที่มีโอกาสจะประกาศดีลการค้าในช่วงระหว่างวันนี้ถึง 1 สิงหาคม
ผมขอประเมินภาพรวมของสถานการณ์บ้านเรา ท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ ดังนี้
หนึ่ง ผมมองในแง่ที่ดีว่าไทยไม่ได้ตามหลังชาติอื่นในอาเซียน สำหรับการเจรจารอบนี้ ยกเว้นเวียดนาม ซึ่งถูกบีบด้วยสถานการณ์บังคับเนื่องจากส่งออกไปสหรัฐถึงราว 47% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ทำให้ต้องรีบเจรจาลดภาษีการค้าโดยด่วนแล้วมาจบที่ 20% โดยที่ต้องยกเว้นภาษีการนำเข้าทั้งหมดให้สหรัฐ นอกจากนี้ มาเลเซียก็ถูกเพิ่มอัตราภาษีการค้าจาก 24% เป็น 25% อีกต่างหาก ทำให้มองว่าบ้านเราน่าจะยัง On Par กับชาติอื่นในอาเซียนสำหรับการประกาศ Tariff Rate ใหม่ ภายใน 1 สิงหาคมนี้ โดยหากมีการประกาศสำหรับชาติอาเซียน เราก็น่าจะอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
สอง โอกาสที่ไทยจะได้รับอัตราภาษีใหม่ น่าจะอยู่ที่ 20-25% โดยโอกาสที่จะได้ 20-22% น่าจะราวร้อยละ 90 อย่างไรก็ดี เราอาจจะได้รับอัตรา 25% ทว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นน่าจะราวร้อยละ 10 โดยหัวใจสำคัญของการจะได้มาซึ่งอัตราภาษีใหม่ที่ 20% คือการเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้กับสหรัฐ ซึ่งในประเด็นนี้ อินเดียก็มีปัญหาคล้ายคลึงกับบ้านเราที่ต้องพยายามปกป้องผลประโยชน์ต่อเกษตรกรของตนเอง ทำให้เราต้องรอผลลัพธ์การเจรจาระหว่างสหรัฐกับอินเดียที่คาดว่าน่าจะออกมาภายในสัปดาห์หน้า เพื่อที่จะใช้แนวทางการเปิดตลาดภาคเกษตรกรรมของอินเดีย เป็นต้นแบบต่อการเจรจาสินค้าเกษตรของบ้านเรากับสหรัฐ โดยอย่างน้อยเราควรต้องได้เงื่อนไขที่ไม่ด้อยกว่าของอินเดียที่ได้รับมา
สาม ความเสี่ยงที่การเจรจาจะไม่ลงตัวในการซื้อผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานจากสหรัฐสำหรับการเจรจาของไทยกับสหรัฐ น่าจะถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณพิชัย ชุณหวชิร มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานเป็นลำดับต้น ๆ ของเมืองไทย รวมถึงด้านหมวดสินค้าภาคอุตสาหกรรมด้วย
นอกจากนี้ เจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ และ สก็อตต์ เบสเสนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ น่าจะถือได้ว่าเป็นทีมที่แม้จะดูเขี้ยวลากดินด้านการเจรจา ทว่าก็พอจะมีความสมเหตุสมผลและค่อนข้างมีวินัยในการเจรจาในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ผมมองว่าตัวตัดสินว่าเราจะได้อัตราภาษีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐจะเข้มกับอินเดีย สำหรับผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรมากน้อยแค่ไหน
สี่ ผมประเมินว่าผลกระทบต่อภาคการส่งออกต่อเศรษฐกิจของบ้านเรา เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐต่อมูลค่าการส่งออกทั้งหมดที่ 18%โดยประเมินว่าหากเราได้ Tariff Rate จากทางการสหรัฐที่ 20% ในท้ายที่สุด น่าจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีไทยอยู่ประมาณ 1.1% โดยอาจจะสูงหรือต่ำจากระดับนี้ ขึ้นอยู่กับว่าสภาวะเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ทางการเมืองของบ้านเราจะดีหรือไม่ดีมากแค่ไหน
ด้านตลาดหุ้นไทย ผมประเมินโดยใช้วิธีการ Simulation จากข้อมูลที่ได้จาก Market Reaction เมื่อวันที่ 2 และ 9 เมษายน หรือ Liberation Day ที่ผ่านมา ปรากฏว่า หากเราได้รับ Tariff Rate 20% ในวันที่ 1 สิงหาคม ประเมินว่า SET ในวันถัดไป น่าจะทรง ๆ หากได้รับ 21-25% ประเมินว่า SET ในวันถัดไป น่าจะลดลง -1.74% และ หากได้รับ 36% ประเมินว่า SET ในวันถัดไป น่าจะลดลง -2.12%
นอกจากนี้ หากทรัมป์ตัดสินใจลด Tariff Rate ให้กับทุกประเทศ ในวันที่ 1 สิงหาคมมาอยู่ในระดับ 10-20% ประเมินว่า SET ในวันถัดไป น่าจะเพิ่มขึ้น +2.80% ในทางกลับกัน หากทรัมป์ไม่ยอมลด Tariff Rate ให้กับประเทศใด ๆ เลยหนำซ้ำยังประกาศเงื่อนไขที่แย่ลงอีกในวันที่ 1 สิงหาคม ประเมินว่า SET ในวันถัดไป น่าจะลดลง -4.54%
ท้ายสุด Tariff War น่าจะอยู่กับเราไปตลอดที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำสหรัฐ โดยจะกลับมาให้เจรจากันเป็นระยะๆ จึงถือเป็นความเสี่ยงและโอกาสสำหรับการลงทุน รวมถึงตลาดหุ้นในบ้านเราด้วย
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ, CFP
MacroView, macroviewblog.com