SOCIETY: ย้อนรอยจดหมายของไอน์สไตน์ จากปลายปากกาที่ปลุกระเบิดปรมาณู สู่จดหมายที่ไอน์สไตน์เรียกว่า ‘ความผิดพลาดอันยิ่งใหญ่เพียงหนึ่งเดียวในชีวิต’
“Albert, When I came to you with those calculations, we thought we might start a chain reaction that would destroy the entire world.” “I believe we did.”
นี่คือประโยคสุดท้ายอันเจ็บปวดจากภาพยนตร์ ‘Oppenheimer’ ที่เพิ่งเข้าฉายทาง Netflix ไปหมาดๆ เป็นฉากที่ เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ กล่าวกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เพื่อยอมรับว่าเขาได้สร้างระเบิดปรมาณูสำเร็จ และเชื่ออย่างแน่วแน่ว่ามันได้เริ่มต้นการทำลายล้างโลกไปแล้วจริงๆ นี่คือหนึ่งในฉากที่ทรงพลังที่สุดของทั้งเรื่อง ไม่ใช่แค่เพราะบทพูด แต่ด้วยสีหน้า แววตา และความเงียบที่อัดแน่นด้วยความรู้สึกของตัวละครทั้งสอง
หากใครเคยดูคงทราบดีว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ชีวประวัติของ ‘เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์’ (J. Robert Oppenheimer) นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎีผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ชิ้นแรกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแมนฮัตตัน ก่อนจะถูกใช้คร่าชีวิตผู้คนนับแสนในญี่ปุ่น ความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขา กลับกลายเป็นเงาแห่งความรู้สึกผิดที่ไม่มีวันลบเลือน
ทว่าความรู้สึกผิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ออปเพนไฮเมอร์ เพราะแม้ว่าไอน์สไตน์จะไม่ได้มีส่วนร่วมในการคิดค้นระเบิดปรมณูนี้โดยตรง แต่ในปี 1952 ไอน์สไตน์ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สะท้อนความรู้สึกสำนึกผิดและความขัดแย้งภายในใจของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับคำถามทางศีลธรรมอันหนักหน่วง
จดหมายฉบับดังกล่าวมีชื่อว่า ‘On My Participation in the Atom Bomb Project’ ซึ่งไอน์สไตน์ใช้เป็นเวทีในการอธิบายถึงบทบาทของตนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และความรู้สึกที่เขามีต่อการถือกำเนิดของอาวุธนิวเคลียร์ เขาเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อตอบกลับ ‘คัตสึ ฮาระ’ บรรณาธิการนิตยสารไคโซ (Kaizo) ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของไอน์สไตน์และยังเป็นผู้มาจากประเทศที่เพิ่งตกเป็นเหยื่อของระเบิดปรมาณูโดยตรง
แม้ไอน์สไตน์จะไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในโครงการแมนฮัตตันที่สร้างระเบิดปรมาณูขึ้น แต่เขาคือบุคคลสำคัญที่จุดประกายความตื่นตัวของรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ตระหนักถึงภัยคุกคามจากนาซีเยอรมนีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ จดหมายที่มีอิทธิพลสูงสุดฉบับหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 1939 โดยไอน์สไตน์ลงนามร่วมกับลีโอ ซีลาร์ด (Leo Szilard) นักฟิสิกส์ชาวฮังการี ซึ่งเป็นผู้ร่างจดหมายที่มีเนื้อหาเตือนประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ เกี่ยวกับผลการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันในยูเรเนียม ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่พลังงานจำนวนมหาศาลจะเกิดขึ้นจากปฏิกิริยานี้ ที่หากนำพลังงานนี้มาใช้ก็อาจนำไปสู่การสร้างระเบิดที่ทรงพลังเกินกว่าที่โลกเคยรู้จัก โดยไอน์สไตน์เชื่อว่าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์และพรรคนาซีอาจกำลังเข้าใกล้การพัฒนาอาวุธปรมาณูจากปฏิกิริยานี้
จดหมายดังกล่าวถูกส่งผ่านอเล็กซานเดอร์ ซากส์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดี นำไปสู่การจัดตั้ง ‘Advisory Committee on Uranium’ และในที่สุดก็คือการก่อตั้งโครงการลับสุดยอด ที่รู้จักกันในชื่อ ‘โครงการแมนฮัตตัน’ อันนำไปสู่การพัฒนาระเบิดปรมาณูที่ถูกใช้กับฮิโรชิมาและนางาซากิในปี 1945 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 100,000 ราย ในช่วงท้ายชีวิต ไอน์สไตน์เรียกจดหมายฉบับนี้ที่เขียนถึงรูสเวลต์ว่าเป็นความผิดพลาดอันยิ่งใหญ่เพียงหนึ่งเดียวของเขา
ในปี 1952 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ซึ่งเป็นผลจากระเบิดที่ลงสู่แดนอาทิตย์อุทัยทั้งสองลูกนั้น คัตสึ ฮาระก็ได้ส่งจดหมายหลายฉบับถึงไอน์สไตน์ หนึ่งในนั้นฮาระได้ถามไอน์สไตน์อย่างตรงไปตรงมาว่า “เหตุใดท่านจึงให้ความร่วมมือในการผลิตระเบิดปรมาณู ทั้งที่ตระหนักดีถึงพลังทำลายล้างอันมหาศาลของมัน?”
คำถามจากเพื่อนร่วมวิชาชีพดูเหมือนจะกระทบใจไอน์สไตน์อย่างมาก และเขาตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “ข้าพเจ้าตระหนักดีถึงอันตรายอันน่าสะพรึงกลัวที่มีต่อมนุษยชาติทั้งมวล หากการทดลองเหล่านี้ประสบความสำเร็จ”
“แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นหนทางอื่นใดเลย” เขาเขียนต่อ พร้อมระบุว่า ความเป็นไปได้ที่เยอรมนีจะสร้างอาวุธปรมาณูได้ก่อนนั้น เป็นเรื่องร้ายแรงเกินกว่าจะเพิกเฉย
ในจดหมายฉบับนี้ไอน์สไตน์ยังได้แสดงการสนับสนุนต่อการยกเลิกสงครามอย่างถึงรากถึงโคน และยกย่องมหาตมะ คานธี ว่าเป็นอัจฉริยะทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุค พร้อมชื่นชมขบวนการประท้วงอย่างสันติของคานธีว่าเป็นต้นแบบที่โลกควรยึดถือเพื่อหลุดพ้นจากอำนาจนิยมและการกดขี่
“การฆ่าในช่วงสงคราม สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ไม่ได้แตกต่างจากการฆาตกรรมโดยทั่วไปเลยแม้แต่น้อย” คือประโยคหนึ่งในจดหมายที่ไอน์สไตน์เขียนเพื่อแสดงถึงความไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม
จดหมายฉบับนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารญี่ปุ่นในปีเดียวกัน โดยใช้ต้นฉบับภาษาเยอรมันและคำแปลภาษาญี่ปุ่น ต่อมาในปี 1953 เฮอร์เบิร์ต เยห์เล นักฟิสิกส์ทฤษฎี ได้แปลจดหมายฉบับนี้เป็นภาษาอังกฤษ โดยมีไอน์สไตน์ให้ความเห็นและตรวจแก้ไขด้วยตนเอง ต้นฉบับภาษาอังกฤษมีลายเซ็นของไอน์สไตน์ พร้อมด้วยการแก้คำผิดด้วยดินสอและถูกตีพิมพ์ในจดหมายข่าวของ Society for Social Responsibility in Science ซึ่งเยห์เลเป็นบรรณาธิการอยู่ในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม จดหมายฉบับนี้ได้กลายเป็นสมบัติทางจริยธรรมของวงวิทยาศาสตร์ และเพิ่งถูกนำออกประมูลโดย Bonhams เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2025 ที่ผ่านมาแม้ราคาสุดท้ายจะไม่ได้ถูกเปิดเผย แต่คาดการณ์ว่ามูลค่าของมันอาจสูงถึง 150,000 ดอลลาร์
หากย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด นั่นคือในฤดูร้อนปี 1939 ขณะที่ไอน์สไตน์พักผ่อนอยู่ริมทะเลที่ลองไอส์แลนด์ เขาไม่เคยจินตนาการเลยว่า การลงนามในจดหมายฉบับหนึ่งจะกลายเป็นแรงผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไม่มีวันย้อนกลับได้ จดหมายนั้นมิได้เขียนด้วยความกระหายสงคราม แต่ด้วยความหวาดกลัวว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะตกไปอยู่ในมือของระบอบเผด็จการ
จดหมายฉบับปี 1952 ของไอน์สไตน์จึงไม่ใช่แค่บันทึกความคิดในบั้นปลายชีวิต แต่คือเครื่องเตือนใจว่า วิทยาศาสตร์ไม่อาจแยกขาดจากความรับผิดชอบทางศีลธรรม และนักวิทยาศาสตร์ไม่อาจละสายตาจากผลลัพธ์ของสิ่งที่ตนคิดค้นขึ้นมา โลกอาจไม่แตกในวันที่ระเบิดลูกแรกทำงานสำเร็จ แต่บางสิ่งในใจมนุษย์อาจพังทลายไปในวันนั้น และนั่นคือสิ่งที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์พยายามจะบอกเรา ผ่านจดหมายฉบับนี้