BIZ: ทำไมตั๋วคอนเสิร์ตสมัยนี้ ถึงราคา ‘แพงมาก’ และน่าจะ ‘แพงขึ้น’ ไปเรื่อยๆ
ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2025 แฟนเพลงชาวไทยก็ได้ตื่นเต้นกับการประกาศทัวร์ SEA ของวง ‘My Chemical Romance’ ก่อนจะอึ้งไปกับค่าตั๋วคอนเสิร์ตที่เริ่มต้นที่ 2,500 บาท และไปจบที่ 12,000 บาท โดยหลายคนก็อาจจะมองไปประเทศอื่นในภูมิภาคว่าจริงๆ ตั๋วคอนเสิร์ตของเขา ‘ถูกกว่า’ เรานิดหน่อย (เช่นมาเลเซีย)
แต่เอาจริงๆ ปรากฏการณ์ ‘ตั๋วคอนเสิร์ตแพง’ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเราควรจะมองเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก เพราะนี่ก็คืออุตสาหกรรมที่สินค้าของมันขายไปทั่วโลก
ในอเมริกา คนจะโทษว่าราคาตั๋วคอนเสิร์ตแพงเพราะ ‘การผูกขาด’ ของผู้จัดคอนเสิร์ต Live Nation และผู้จัดจำหน่ายตั๋วคอนเสิร์
อย่าง Ticketmaster ที่ควบรวมบริษัทกันเมื่อ 10 ปีก่อน ในปี 2010 แต่ความเป็นจริง หลายฝ่ายก็เห็นว่าแม้ว่าการผูกขาดมันจะมีส่วนในปรากฏการณ์ตั๋วคอนเสิร์ตแพง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมดที่นำเรามาถึงจุดนี้ คนในอุตสาหกรรมดนตรีค่อนข้างจะเห็นตรงกันว่า ที่จริงพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงมันมาจาก ‘สถานะของคอนเสิร์ต’ เองด้วย
ในอดีต ตลอดช่วงสงครามเย็นในครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 คอนเสิร์ตหรือ ‘ทัวร์’ จะถูกจัดขึ้นเพื่อ ‘โปรโมตการขายอัลบั้ม’ เป็นหลัก เพราะรายได้ในอุตสาหกรรมดนตรีเกิดจากการผลิตงานดนตรีมาขาย ดังนั้นในยุคโน้นนักดนตรีไม่ได้สนใจรายได้จากคอนเสิร์ตเท่าไร เพราะเกียรติยศจริงๆ ในวัฒนธรรมป๊อปมันเกิดจากการได้ชื่อว่าอัลบั้มขายได้กี่ล้านแผ่น มากกว่าเล่นคอนเสิร์ตใหญ่ขนาดไหน และตั๋วแพงเท่าไร
แรงจูงใจของนักดนตรีสมัยนิยิมช่วงนั้น คือการขยายฐานคนฟังเพลงให้กว้างที่สุดเพื่อให้อัลบั้มขายได้มากที่สุด คอนเสิร์ตมีไปเพื่อทำให้คนรู้จักมากขึ้นและซื้ออัลบั้มมากขึ้น และถ้าใครโตมาในช่วงนั้นก็อาจโชคดีได้ทันดูวงดนตรียักษ์ใหญ่ไปเล่นดนตรีในผับบาร์เล็กๆ แบบค่าตั๋วถูกๆ เพื่อโปรโมตอัลบั้มกันอยู่บ้าง
แต่ในศตวรรษที่ 21 เมื่ออินเทอร์เน็ตแพร่หลาย ผู้คนเลิก ‘ซื้ออัลบั้ม’ อุตสาหกรรมดนตรีแทบจะกลับตาลปัตร ส่วนที่เคยมีอำนาจที่สุดอย่างอุตสาหกรรมบันทึกเสียงมีอำนาจน้อยลงมาก และส่วนที่ขยายตัวมากคืออุตสาหกรรมดนตรีสด
อุตสาหกรรมดนตรีสดขยาย เพราะแม้แต่นักดนตรีรุ่นใหญ่ที่สมัยก่อนวันๆ ไม่เคยต้องทำอะไรนอกจาก ‘รอส่วนแบ่งยอดขายอัลบั้ม’ ก็ต้องออกทัวร์ทั่วโลกเพื่อหารายได้ และนี่ทำให้คอนเสิร์ตได้เปลี่ยนเป้าหมายจากการเพียงแค่โปรโมตอัลบั้ม ไปเป็นการ ‘ทดแทนรายได้จากการขายอัลบั้ม’
พูดง่ายๆ คือ มันไม่มีใครยอมรับค่าตัวน้อยๆ เพื่อให้อัลบั้มขายดีขึ้นอีกแล้ว ทุกคนต้องการหาเงินจากการออกทัวร์ และนี่เองที่ทำให้ราคาตั๋วคอนเสิร์ตไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ตลอดศตวรรษที่ 21
แต่ถามว่ามันมีแค่นั้นไหม? คำตอบคือไม่ใช่ ในอุตสาหกรรมคอนเสิร์ตที่ทุกคนแข่งขันกันแย่งเงินจากกระเป๋าแฟนเพลง ราคาตั๋วที่ทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีแต่แฟนเดนตายเท่านั้นที่จะตามดูทุกคอนเสิร์ตไหว และสิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติจริงๆ คือขนาดคนบ้าดูคอนเสิร์ตก็ยังต้องกัดฟันเลือกไปดูแค่คอนเสิร์ตที่อยากดูจริงๆ เพราะไม่มีเงินจะซื้อตั๋วคอนเสิร์ตดูทุกเดือนหรือทุกอาทิตย์ แบบในยุคที่ตั๋วคอนเสิร์ตราคาถูกๆ อีกแล้ว
ผลของการแข่งขันนี้ ทำให้ผู้จัดคอนเสิร์ตตระหนักว่า ถ้าไม่จัดคอนเสิร์ตแบบอลังการแบบคุ้มค่าตั๋วจริง คนจะไม่มาดู และความอลังการนี้มันก็จะทำให้ยิ่งมีการถ่ายคลิปไปโพสต์กระตุ้นให้คนอยากดูกันไปอีก ตามตรรกะของยุคที่กระแสโซเชียลมีเดียกำหนดได้แทบทุกอย่าง
ดังนั้นการขยายโปรดักชันจนใหญ่โตแบบที่ไม่ทำกันในยุคก่อนแน่ๆ ถือเป็นเรื่องปกติ และของพวกนี้ล้วนมีต้นทุน และถามว่าต้นทุนไปอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนแบกรับ คำตอบก็คืออยู่ในราคาตั๋วคอนเสิร์ตนั่นเอง
ในอเมริกา หลังจาก Live Nation กับ Ticketmaster รวมตัวกัน การใช้ราคาตั๋วคอนเสิร์ตแบบตามราคาตลาด (dynamic pricing) คือเรื่องปกติ โดยหลักมันคือการใช้อัลกอริทึมปรับราคาตั๋วขึ้นลงตามความต้องการของคนดู ดังนั้นเราก็จะไม่เห็นราคาตั๋วคอนเสิร์ตในอเมริกา เพราะระบบนี้ทำให้คนที่ยืนข้างๆ กันในคอนเสิร์ตอาจจะจ่ายค่าตั๋วในราคาต่างกันคนละโลกก็ได้ คนที่รีบซื้อวันแรกๆ ที่คนแห่ไปซื้อกันเยอะๆ ก็จะเจอราคาที่แพง ส่วนถ้าตั๋วขายไม่หมด คนที่ซื้อก่อนวันที่เขาปิดขายตั๋วไม่กี่วัน ก็อาจได้ราคาถูกมากก็เป็นได้
แต่กลับกันในประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบราคาตั๋วคอนเสิร์ตแบบคงที่ เราจะเห็นได้เลยว่าราคาตั๋วคอนเสิร์ตมันเพิ่มขึ้นจริง ซึ่งถ้าคิดเร็วๆ เทียบกันให้เห็นเลย ราคาตั๋วคอนเสิร์ตวงร็อกอเมริกันรุ่นใหม่ที่ทัวร์ SEA เหมือนกันอย่าง ‘Avenged Sevenfold’ ในปี 2015 เริ่มต้นที่ 1,500 บาทเท่านั้น ในยุคที่วงรุ่งเรืองด้วยซ้ำ แต่มาวันนี้ราคาตั๋วของวงร็อกดาวค้างฟ้าแบบ My Chemical Romance เริ่มต้นที่ 2,500 บาท (ทั้งคู่เล่นที่ Impact Arena เหมือนกัน)
แล้วปัญหานี้จะถูกแก้ไขได้อย่างไร?
ถ้าเป็นฝั่งอเมริกา เขาจะมองว่าถ้ารัฐบาลกลางจริงจังในการใช้กฎหมาย ‘ต้านการผูกขาด’ มากกว่านี้ แล้วทำการแยกบริษัท LiveNation กับ Ticketmaster ออกจากกันสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งนั่นก็ต้องเป็นไปพร้อมกับการจัดการพวกอุตสาหกรรมขายตั๋วคอนเสิร์ตมือสอง หรือพวกเอาตั๋วคอนเสิร์ตมาขายแบบเก็งกำไรด้วย
แต่ใดๆ ก็ตาม ทางออกแบบนี้ก็อาจยังไม่จบ เพราะสิ่งที่ทุกคนมองเห็นแต่เพียงปัญหาตรงนี้ลืมไปก็คือ ไม่ว่าจะวงดนตรีและทุกคนในอุตสาหกรรมดนตรีสดก็ล้วนต้องกินข้าว และในยุคที่ข้าวยากหมากแพงอย่างทุกวันนี้ นี่คือธุรกิจที่สามารถขึ้นค่าบริการได้อยู่ โดยสถิติชี้ชัดเจนว่าบรรดาอุตสาหกรรมการแสดงสด เป็นอุตสาหกรรมที่สามารถขึ้นราคาตั๋วมาได้ยาวนาน ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ราคามันก็ขึ้นมาตลอด
ดังนั้น ถ้าจะพิจารณาจากทั้งที่มาที่ไปของปัญหาและสถิติแล้ว ก็บอกได้เลยว่า ไม่ว่าจะที่ไหนในโลก ราคาตั๋วคอนเสิร์ตก็ไม่น่าจะลดลงเร็วๆ นี้เป็นแน่ กลับกันคือน่าจะมีแต่เพิ่มขึ้นมากกว่า