SOCIETY: อะไรคือเส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง พฤติกรรมและนิสัยการกินที่ ‘ผิดปกติ’ กับที่ ‘เป็นปัญหาสุขภาพ’ ต้องรักษา
ทุกวันนี้อาหารการกินเป็นเรื่องใหญ่ การกินอาหารของมนุษย์ไม่ได้ถูกกำหนดด้วยสังคมและตลาดอีกต่อไป แต่เริ่มถูกกำหนดด้วย ‘ลัทธิความเชื่อ’ ด้านการกิน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและมี ‘รูปร่างดี’ ตามแบบสมัยนิยม
หลายครั้ง ‘ข้อกำหนด’ ในการกินของหลายคนจึงเกิดคำถามว่า สิ่งที่เขาพูดมานั้นเราควรจะนับว่ามันเป็น ‘โรค’ หรือเป็น ‘ปัญหาสุขภาพจิต’ หรือไม่ ในการจริงจังเรื่องการกินหรือไม่กินสิ่งต่างๆ ขนาดนั้น
ประเด็นนี้ทำให้สื่อที่ชอบไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญอย่าง The Conversation ไปสัมภาษณ์นักวิจัยที่ทำเรื่องนี้ แล้วเขาให้คำตอบที่น่าสนใจ
เขาบอกว่าเราต้องแยก ‘นิสัยการกินที่ไม่ปกติ’ (Disordered eating) กับ ‘พฤติกรรมการกินที่นับเป็นโรค’ (Eating disorder) ออกจากกัน โดยจริงๆ แล้วแค่นิสัยการกินที่ผิดปกติถ้าเกิดไม่บ่อย ก็ยังไม่นับเป็น ‘โรค’ หรือ ‘ปัญหาสุขภาพจิต’ ไม่ว่านั่นจะเป็นการอดอาหารแบบตั้งใจ การไม่กินอาหารบางอย่าง การกินจุอย่างบ้าคลั่ง การกินยาถ่ายหรือยาลดน้ำหนัก หรือกระทั่งการ ‘ล้วงคออ้วก’
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ถ้าแค่ทำเป็นครั้งคราว ไม่ได้ทำเป็นนิสัยหรือเป็นประจำ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นโรคหรือปัญหาสุขภาพจิตแต่อย่างใด
อธิบายง่ายๆ ก็คือมันจะเป็นระดับปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ จิตแพทย์ (psychiatrist) จะเป็นคนวินิจฉัยเอง เขาจะมีแบบประเมินและเกณฑ์ของเขา คนทั่วไปยังไม่ถือว่าวินิจฉัยตัวเองได้ ดังนั้นการบอกว่าคนอื่นเป็น ‘โรคด้านการกิน’ ก็ไม่ได้ต่างจากการบอกว่าตัวเองเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ ทั้งหมดถือว่ายังไม่ชอบธรรม จนกว่าคำวินิจฉัยนั้นจะมาจากผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ซึ่งเขาก็จะมีเกณฑ์ของโรคต่างๆ เช่น โรคกลัวอ้วน โรคล้วงคอ โรคกินไม่หยุด และโรคเลือกอาหาร เป็นต้น ซึ่งแต่ละอย่างก็จะมีวิธีบำบัดต่างกันไป
ดังนั้นเรื่องพวกนี้ก็เหมือนปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ที่การไปวินิจฉัยเองมันสุ่มเสี่ยงจะเคลมผิดๆ ทั้งสำหรับตัวเองและคนอื่น และในทำนองเดียวกัน ปัญหาพวกนี้บางทีถึงมันเกิดขึ้นจริง แต่ถ้ามันหายเองได้ ก็อาจไม่ต้องถึงมือแพทย์หรือนักบำบัดแต่อย่างใด
ดังนั้นถ้ากลับมาประเด็นแรกที่กล่าวไป ถ้าว่ากันอย่างจริงจัง ลัทธิการกินอาหารต่างๆ ทุกวันนี้ที่เกิดขึ้นภายใต้ความเชื่อบางอย่าง โดยรวมแล้วเขาก็ยังไม่นับเป็นโรค ไม่ได้ต่างจากที่เขาไม่นับว่าศาสนิกชนของบางศาสนาไม่กินเนื้อสัตว์บางอย่าง ไม่นับเป็นโรค เป็นต้น