'อายิโนะโมะโต๊ะ' จับตาบริบทโลกรายเดือน พร้อมสปีดรับแรงกระแทก
“อายิโนะโมะโต๊ะ” เป็นบิ๊กธุรกิจญี่ปุ่นที่ก่อตั้งกว่าร้อยปี สร้างการเติบโตขยายตลาดไปหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทย บริษัทปักหมุด สร้างฐานธุรกิจ ผลิตสินค้ายาวนานเกินครึ่งศตวรรษ หรือมากกว่า 50 ปี มีสินค้าที่ก้าวเป็น “ผู้นำตลาด” อย่างแข็งแกร่งหลากหลายหมวด เช่น ผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะส่วนแบ่งตลาดกว่า 90% เครื่องปรุงรส รสดีส่วนแบ่งตลาดกว่า 80% และกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มเบอร์ดี้ ส่วนแบ่งตลาด 50% เป็นต้น
ปี 2567 “อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย)” สร้างผลงานโดดเด่นด้วยรายได้รวมกว่า 32,663 ล้านบาท เติบโต 2.46% จากปีก่อน และมี “กำไรสุทธิ” กว่า 9,380 ล้านบาท “หดตัวลง” 6.55% ทว่า (ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ความน่าสนใจของผลประกอบการดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทขึ้นแท่นอันดับ 6 ของกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตอาหารในประเทศไทย ประจำปี 2567 ขยับจากอันดับ 8 ในปี 2566
“ผลประกอบการเราเติบโตตามเป้าหมาย ส่วนการขยับขึ้นเป็นอันดับ 6 ในกลุ่มธุรกิจอาหาร เพราะทุกสินค้ามีการเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเรือธง ไม่ว่าจะเป็นผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะ เครื่องปรุงรส รสดี ที่อยู่ในตลาดใหญ่และเป็นพอร์ตโฟลิโอใหญ่ เมื่อเติบโตเล็กน้อย จะมีผลต่อภาพรวม ส่วนสินค้ากลุ่มเล็ก เช่น อาหารแช่แข็ง สินค้าสุขภาพ ที่ยังเป็นสัดส่วนเล็ก แต่มีการเติบโตสูง ทั้ง 2 กลุ่มเติบโตควบคู่กันจึงอิมแพ็คต่อรายได้อย่างดี” มร.อิชิโระ ซะกะกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ให้มุมมอง
ธุรกิจผ่านครึ่งทางปี 2568 แต่ตามปีงบประมาณของบริษัทเพิ่งพ้นไตรมาส 1 แต่ภาพรวมผลการดำเนินงานยังดีในหลากหลายกลุ่มสินค้า ไม่ว่าจะเป็นผงชูรส เครื่องปรุงรส กาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม(RTD) สินค้าสุขภาพ อาหารแช่แข็ง ฯ และครึ่งปีหลังบริษัทยังคาดว่าการเติบโตยังมีต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าเจาะกลุ่มธุรกิจ(B2B) ร้านอาหาร ร้านริมทางหรือสตรีทฟู้ดต่างๆ เพราะผู้บริโภคยังคง “ทานอาหาร 3 มื้อ” แม้จะเห็นบางย่านการค้าซบเซาก็ตาม
สำหรับแผนธุรกิจปี 2568 บริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารธุรกิจภายใต้ประมาณการตามสถานการณ์ปัจจุบัน(rolling forecast) ทุกเดือน จากปกติองค์กรจะดำเนินการประมาณ 1-2 ครั้งต่อปี และพร้อมจะสปีดปรับตัวทันท่วงทีด้วย
“ตอนนี้สถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอด ทุกวัน อายิโนะโมะโต๊ะ ไม่แค่ประเทศไทย แต่ทั่วโลกมีการทำ rolling forcast รายเดือน ที่อื่นอาจทำเป็นรายปีหรือรายครึ่งปี และเราพร้อมแอ๊คชันทุกอย่างให้เร็ว มีความยืดหยุ่น”
จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่ผ่านมากระทบต่อการขนส่งวัตถุดิบจากต่างประเทศมายังไทยบ้าง สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟ และราคาวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้น ทำให้บริษัทมีหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ โดยตอนนี้ราคายังสูงแต่ค่อนข้างนิ่งขึ้น ยังเดินหน้าจัดเก็บวัตถุดิบ(secure)เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่สงครามการค้า ภาษีทรัมป์ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า เช่น ผงชูรส เนื่องจากไม่ได้ส่งออกไปยังตลาดดังกล่าว
ด้านแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจ “อายิโนะโมะโต๊ะ” ยังเดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่การเป็นองค์กรที่จะช่วยให้ผู้คน “อยู่ดี กินดี” หรือ Eat Well, Live Well. จากเดิมภาพจำหรือการรับรู้ของผู้บริโภคในฐานะเป็นผู้ผลิตอาหาร เจ้าแห่งผงชูรส เครื่องปรุงรส
“เรามุ่งมั่นจะทรานส์ฟอร์มสู่การเป็นองค์กรที่ช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดี กินดี ด้วยความเชี่ยวชาญ AminoScience เราพยายามทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าเราไม่ใช่แค่บริษัทผลิตผงชูรส เครื่องปรุงรสแล้ว”
เพื่อสานเป้าหมายดังกล่าว ปี 2568 จะเห็นการเสริมทัพสินค้าหลากหลายขึ้นทั้งกลุ่มอาหารพร้อมทาน(RTE : Ready To Eat) อาหารแช่แข็ง จะมีเมนูและรสชาติต้นตำรับจากญี่ปุ่นมาเสิร์ฟผู้บริโภคชาวไทย เครื่องดื่มอย่าง กาแฟเบอร์ดี้ รูปแบบกระป๋องพร้อมดื่ม มีการปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัย มุ่งเติมพอร์ตน้ำตาล 0% ตอบสนองผู้บริโภครักสุขภาพ
การสับสนุนด้านโภชนาการให้กับวงการกีฬา ทัพนักกีฬาและคนไทย ด้วยการสานต่อโครงการ Thailand Victory Project เป็นปีที่ 7 ผ่านการสนับสนุนกีฬาซีเกมส์ 2025 โดยต่อยอดความเชี่ยวชาญในการดูแลโภชนาการกีฬาและจุดแข็งด้าน “AminoScience” จากญี่ปุ่นสู่ไทย มาประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนมื้ออาหารแห่งชัยชนะ (Winning Meals® Kachimeshi) เตรียมเปิดตัว Ajinomoto Victory Canteen ซึ่งเป็นการปรับลุคใหม่ให้กับห้องอาหารของนักกีฬา นำเสนอโภชนาการที่ดี และพื้นที่กิจกรรมสำหรับพัฒนาศักยภาพและปลดล็อกพลังแห่งชัยชนะของทัพนักกีฬาไทย ซึ่งโปรเจคส่งเสริมด้านกีฬาผ่าน Winning Meals® Kachimeshi อายิโนะโมะโต๊ะในประเทศญี่ปุ่นดำเนินการมายาวนาน 20 ปี
นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยี FarmAI ช่วยลดคาร์บอนสร้างความยั่งยืน ตั้งเป้าลดใช้คาร์บอน พร้อมเพิ่มปริมาณการตรวจสอบกลับ (traceability) จากโครงการ “Thai Farmer Better Life Partner” ขึ้นเป็น 45,000 ตัน หรือประมาณ 30% โดยมีแอปพลิเคชัน FarmAI เป็นเครื่องมือใหม่ที่จะเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพในการตรวจสอบกลับการดำเนินงานในระบบ ecosystem พร้อมเดินหน้าโมเดล Ajinomoto FD Green one-stop service ด้วยการสร้างเครือข่ายเพื่อการเกษตรกับพาร์ตเนอร์อย่างครบวงจร ซึ่งโปรเจคดังกล่าวจะทำให้ “อายิโนะโมะโต๊ะ” มีผลผลิตทางการเกษตรอย่างมันสำปะหลังเพียงพอต่อการผลิตสินค้า เกษตรกรได้ประโยชย์จากผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ไปใช้ รวมถึงมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น
“ประเทศไทยมีการผลิตแป้งมันสำปะหลังราว 5,000 ล้านตันต่อปี ส่งออก 80% และใช้ในประเทศ 20% ซึ่งในประเทศ อายิโนะโมะโต๊ะ เป็นผู้ใช้รายใหญ่สุด เพราะถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตผงชูรส การทำโครงการร่วมกับเกษตรกรทำให้เรามีความมั่นคงด้านวัตถุดิบ และยังต่อดีเกษตรกรด้วย”
อย่างไรก็ตาม อายิโนะโมะโต๊ะ ยังมุ่งเติบโต โดยประเทศไทยเป็น “ฐานธุรกิจที่สำคัญ” ในภูมิภาคอาเซียน ส่วนรายได้สำคัญอย่างมีนัยยะต่อบริษัทแม่ด้วย ขณะที่ “ มร.อิชิโระ” ยังเป็นผู้บริหารอาวุโสของอายิโนะโมะโต๊ะในตลาดอาเซียนด้วย
“ตลาดประเทศไทยมีความสำคัญอย่างมีนัยยะในอาเซียน และบริษัทแม่จริงๆ”
ท่ามกลางเศรษฐกิจ กำลังซื้อท้าทาย “อายิโนะโมะโต๊ะ” ยังเดินแผนธุรกิจตามที่วางไว้ ทั้งการลงทุนต่างๆ ไม่มีการชะลอแต่อย่างใด
“เศรษฐกิจมีการถดถอยบ้าง แต่ธุรกิจเรายังเติบโตตามเป้าหมาย จึงไม่มีการเลื่อน หรือชะลอการลงทุน แต่เราไม่สามารถให้ข้อมูลตัวเลขการลงทุนได้”
ปี 2567 โจทย์ใหญ่ธุรกิจมีมากมายทั้งภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งขึ้น ทั้งน้ำมัน เมล็ดกาแฟ วัตถถุดิบอื่นๆ สถานการณ์สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน ค่าเงินผันผวน โลกมุ่งสู่ความยั่งยืน(ESG) แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่เห็นด้วย เหล่านี้ต้องติดตาม ส่วนในประเทศ เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน “จับจ่ายใช้สอยน้อยลง” รัดเข็มขัด มองหาสินค้าที่มีความคุ้มค่า ราคาสมเหตุผล เจนเนอเรชันซี(GenZ)ให้ความสนใจกับสินค้ายั่งยืน เป็นต้น
ทว่า ปัจจุบันความท้าทายใหญ่“มร.อิชิโระ” กลับมองเรื่องของโลกและประเทศไทยกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ซึ่งจะมีผลต่อการบริโภคอาหาร พื้นที่ในกระเพาะรับอาหารน้อยลง จะกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตอาหารอย่างมาก
“เราคือบริษัทผู้ผลิตอาหาร จะมีผลกระทบโดยตรง เมื่อสังคมสูงวัย อายุมากขึ้น การบริโภคน้อยลง เราจะทำอย่างไรเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว”