เจรจาภาษีทรัมป์ไม่มี Win Win
บทบรรณาธิการ
จดหมายฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคมของ ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ส่งตรงมาถึงรัฐบาลไทย ในฐานะ 1 ใน 12 ประเทศแรกที่สหรัฐแจ้งว่า จะเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ในอัตรา 36% รวมถึงจะเรียกเก็บภาษีสินค้าที่แอบอ้างแหล่งกำเนิดจากประเทศที่สามเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีในอัตราสูงที่ส่งเข้าสหรัฐ (Transshipped) ก็จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นไปอีก (จาก 36%) ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับทั้งรัฐบาลและผู้ประกอบการส่งออกภาคเอกชนทันที
โดยความกังวลที่เกิดขึ้นก็คือ อัตราภาษีตอบโต้ที่ไทยจะได้รับล่าสุดนั้น เป็นอัตราเดียวกับที่สหรัฐประกาศจะเรียกเก็บภาษีจากไทย เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 แต่ให้ “โอกาส” ไทย และประเทศอื่น ๆ ขยายระยะเวลาการจัดเก็บออกไปอีก 90 วัน โดยจะมีผลให้วันที่ 9 กรกฎาคม หรือก่อนที่จะถึงเส้นตายเพียง 2 วัน และล่าสุดก็ได้ขยายเวลาจัดเก็บภาษีออกไปอีก ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 หรือเหลือเวลาอีกเพียง 2 อาทิตย์ข้างหน้านี้แล้ว ท่ามกลางคำถามที่ว่า ทีมเจรจาของรัฐบาลไทย ในฐานะ “ทีมไทยแลนด์” ทำอะไรกันอยู่ในเวลา 3 เดือนที่รัฐบาลสหรัฐเปิดให้มีการเจรจาเพื่อลดอัตราภาษีตอบโต้ลง
แน่นอนที่ว่า โจทย์ข้อใหญ่ที่สุดของสหรัฐที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการให้บรรลุเป้าหมายทันทีก็คือ ทำอย่างไรให้ตัวเลขการขาดดุลการค้าสหรัฐที่มีต่อประเทศคู่ค้าต้องไปมากกว่า “ลดขาดดุล” มาเป็น “ต้องสมดุล (Balanced and Fair Trade)” ซึ่งในกรณีนี้ ประเทศไทยจัดเป็น 1 ใน 10 ประเทศอันดับต้น ๆ ที่เป็นฝ่ายได้ดุลการค้าสหรัฐสูงถึง 35,427 ล้านเหรียญในปี 2567 และไม่ใช่การได้ดุลเพียงปีเดียว แต่ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี จนสหรัฐถึงกับระบุว่า ขาดดุลการค้ากับไทยอย่างเรื้อรังมาอย่างยาวนาน
ดังนั้น สิ่งที่ ทีมไทยแลนด์ จะต้องทำ “การบ้าน” เพื่อตอบโจทย์ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ก็คือ ข้อเสนอที่จะต้องสร้างสมดุลทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐขึ้นมาให้ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราที่สูงถึง 36% หรือเป็นที่สองรองจากเวียดนามในขณะนั้น แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ใน 3 เดือนที่ผ่านมา ไทยเพิ่งได้รับโอกาสในการเจรจากับสหรัฐอยู่ในอันดับรั้งท้าย หรือ ทีมไทยแลนด์ เพิ่งได้พบ USTR เมื่อวันที่ 3 ก.ค.นี้เอง พร้อมกับการยื่นการบ้านที่เชื่อกันฝ่ายเดียวถึงความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ กับข้อเสนอในการลดภาษี ลดอุปสรรคทางการค้า เพิ่มการซื้อสินค้าสหรัฐที่เป็น Win Win ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
ทว่า สหรัฐกลับตอบรับข้อเสนอที่เป็น Win Win ในความเชื่อของฝ่ายไทย ด้วยการคงอัตราภาษีตอบโต้ไว้ที่ 36% แสดงให้เห็นว่า การเจรจาของไทยตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ได้ตอบโจทย์สหรัฐ แถมยัง “ขู่” ที่จะให้ไทย “เปิดตลาด” เลิกกำแพงทางการค้าจนกว่าสหรัฐจะพอใจ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่า จะต้องเปิดตลาดหรือลดภาษีลงไปที่เท่าไหร่ จนกลายมาเป็นความช็อกของภาคการส่งออกจะไปต่ออย่างไร หลังวันที่ 1 สิงหาคมที่จะถึงนี้
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เจรจาภาษีทรัมป์ไม่มี Win Win
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net