‘ซัมมิตนาโต้กรุงเฮก’แสดงให้เห็นว่า‘ยุโรป’กับ‘สหรัฐฯ’ไม่ได้มีศัตรูร่วมกันอีกต่อไป รวมทั้งสะท้อนว่า‘ยุโรป’ยอมหงอ‘ทรัมป์’ขนาดไหน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ https://asiatimes.com/2025/06/nato-summit-shows-europe-and-us-no-longer-have-a-common-enemy/)
NATO summit shows Europe and US no longer have a common enemy
by Andrew Corbett
27/06/2025
ระหว่างการประชุมซัมมิตองค์การนาโต้ที่กรุงเฮก เลขาธิการ มาร์ก รึตเตอร์ ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ รวมไปถึงการแสดงความเคารพนบนอบและการประจบประแจงอย่างออกนอกหน้า เพื่อดึงดูดให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่แตกแถว ขณะความสนใจของสหรัฐฯในการพิทักษ์ปกป้องยุโรปกำลังลดน้อยลงไปทุกที
มาร์ก รึตเตอร์ (Mark Rutte) อดีตนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ที่เป็นเลขาธิการใหญ่ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) คนปัจจุบัน มีภารกิจซึ่งไม่น่าอิจฉาริษยาเลย ณ การประชุมซัมมิตขององค์การ ซึ่งจัดขึ้นในกรุงเฮก ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในเมื่อเขาต้องทำงานในสภาพที่ทัศนะของฝ่ายอเมริกันและของฝ่ายยุโรปเกี่ยวกับภัยคุกคามความมั่นคงในปัจจุบันมีความผิดแผกแตกต่างไปคนละทิศคนละทาง อย่างไรก็ดี หลังจาก รึตเตอ ใช้ความพยายามอย่างมากมายเป็นพิเศษ [1] ในการแสดงความเคารพนบนอบ และการประจบประแจงอย่างออกนอกหน้าต่อ โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อรับประกันให้ได้ผลลัพธ์อันทรงสำคัญยิ่งยวดสำหรับกลุ่มพันธมิตรทางด้านความมั่นคงกลุ่มนี้แล้ว เขาก็ดูเหมือนทำงานเป็นผลสำเร็จ อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับในขณะนี้
แต่สิ่งที่การประชุมซัมมิตครั้งนี้ ตลอดจนการประชุมเตรียมการก่อนหน้านี้ ได้ทำให้เกิดความกระจ่างชัดเจนเพิ่มมากขึ้นแล้วก็คือว่า สหรัฐฯกับยุโรปไม่ได้มีความรับรู้ความเข้าใจอีกต่อไปแล้วว่าพวกเขามีศัตรูหนึ่งเดียวร่วมกัน นาโต้นั้นจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1949 ในฐานะที่เป็นกลุ่มพันธมิตรเพื่อการป้องกันซึ่งมุ่งต่อต้านภัยคุกคามอันเป็นที่รับรู้รับทราบร่วมกันว่ามาจากสหภาพโซเวียต สิ่งนี้เป็นตัวนิยามจำกัดความกลุ่มพันธมิตรนี้ในตลอดสมัยสงครามเย็นจวบจนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลายลงไปในปี 1991
ตั้งแต่ที่รัสเซียรุกรานยูเครน และผนวกไครเมียในปี 2014 นาโต้ก็โฟกัสที่มอสโกว่าเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อสันติภาพระหว่างประเทศ ทว่าเวลานี้จีนที่แสดงท่าทีพร้อมท้าตีท้าต่อยมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังเรียกร้องความสนอกสนใจจากสหรัฐฯมากกว่า [2]
มีความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์บางอย่างซึ่งเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงเสียแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแถลงการณ์ของที่ประชุมซัมมิตนาโต้ทุกๆ ครั้ง [3] ตั้งแต่ที่รัสเซียรุกรานยูเครนในปี 2022 มีการใช้ถ้อยคำในรูปแบบทำนองเดียวกัน ดังนี้ “เรายึดมุ่นอยู่กับกฎหมายระหว่างประเทศ และอยู่กับวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ และมีพันธกรณีที่จะต้องสนับสนุนค้ำชูระเบียบระหว่างประเทศซึ่งยึดโยงอยู่กับระเบียบกฎเกณฑ์”
ปรากฏว่าแถลงการณ์ที่เผยแพร่ระหว่างการประชุมซัมมิตที่กรุงเฮก [4] เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา การเอ่ยอ้างอิงถึงทั้งสองจุดนี้กลับสูญหายไปอย่างเป็นปริศนา อันที่จริงแล้ว แถลงการณ์ของที่ประชุมกรุงเฮกเป็นการฉีกแนวออกจากแถลงการณ์ในระยะหลังๆ มาอย่างชัดเจน โดยนอกจากมีความยาวแค่ 5 ย่อหน้าซึ่งถือว่าห้วนสั้นอย่างเหี้ยมเกรียมแล้ว ข้อความทั้งหมดยังมุ่งเพียงเพื่อวาดภาพให้เห็นว่ากลุ่มพันธมิตรนี้มีสมรรถนะทางทหารและก็มีการลงทุนในทางเศรษฐกิจเพื่อประคับประคองสมรรถนะดังกล่าว โดยไม่มีการอ้างอิงใดๆ ถึงการรักษากฎหมายและระเบียบระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดอีกแล้ว
เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นผลจากการนัดแนะตกลงกันอย่างระมัดระวังตั้งแต่การตระเตรียมการประชุมซัมมิตคราวนี้ ในทำนองเดียวกัน การที่ระยะเวลาของซัมมิตก็หดสั้นลงกว่าปกติอย่างจงใจ [5] ก็ดูจะเกิดขึ้นจากการวางแผนเพื่อควบคุมจำกัดการแทรกแซงทะลุกลางปล้องอย่างไม่สามารถคาดทำนายล่วงหน้าได้ของทรัมป์ ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องนี้ยังดูเหมือนเป็นอาการซึ่งส่อแสดงถึงความแตกแยกที่กำลังแผ่กว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างเส้นทางโคจรทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายอเมริกัน และผลประโยชน์ทางความมั่นคงปลอดภัย [6] ในความรับรู้ความเข้าใจของแคนาดาและพวกสมาชิกนาโต้ที่อยู่ในฟากฝั่งยุโรป
การที่แถลงการณ์คราวนี้ทั้งห้วนสั้นและทั้งมุ่งโฟกัสอยู่แค่พวกประเด็นซึ่งมีขอบเขตแคบๆ เช่นนี้ แน่นอนทีเดียวว่า ยังเป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างกันอย่างชนิดที่ต่างฝ่ายต่างมีการตั้งป้อมขึงแนวกั้นอย่างผิดปกติ จนกระทั่งไม่สามารถที่จะแก้ไขเจาะทะลวงผ่านเข้าหากันได้
ตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดการโจมตีเพื่อรุกรานยูเครนอย่างเต็มพิกัดในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 พวกชาติพันธมิตรนาโต้ต่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการวิพากษ์วิจารณ์รัสเซียและให้ความความสนับสนุนแก่ยูเครน จวบจนกระทั่งมาถึงตอนนี้
นับจากเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมปีนี้เป็นต้นมา คณะบริหารทรัมป์ 2.0 ยังไม่ได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือทางทหารใดๆ [7] แก่ยูเครนเป็นการเพิ่มเติมขึ้นเลย แถมยังลดทอนความสนับสนุนทางวัตถุที่ให้แก่ยูเครน และลดทอนการวิพากษ์วิจารณ์รัสเซียลงอย่างสำคัญด้วยซ้ำ
ทรัมป์ยังมุ่งหาหนทางยุติสงครามครั้งนี้อย่างรีบด่วนบนเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมตามความก้าวร้าวรุกรานของฝ่ายรัสเซียในทางเป็นจริง ดังเช่น ข้อเสนอของเขา [8] คือการเสนอแนะให้ยอมรับเรื่องที่รัสเซียเข้าควบคุมเหนือแหลมไครเมีย ตลอดจนเข้าควบคุมในทางพฤตินัยเหนือดินแดนอื่นๆ ซึ่งแดนหมีขาวยึดครองเอาไว้ (ได้แก่แคว้นลูฮันสก์, หลายส่วนของแคว้นซาโปริซเซีย, แคว้นโดเนตสก์, และแคว้นเคียร์ซอน) เขายังเสนอแนะด้วยไม่ให้รับยูเครนเข้าร่วมองค์การนาโต แต่อาจจะได้รับการค้ำประกันด้านความมั่นคง ตลอดจนได้รับสิทธิเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป
อย่างไรก็ดี เวลาเดียวกันนั้นเอง พวกพันธมิตรนาโต้ทางยุโรปกลับยังคงหาทางที่จะให้เงินทุน และสนับสนุนความพยายามในการป้องกันของยูเครน [9] โดยรวมไปถึงการเพิ่มความช่วยเหลือและความสนับสนุนทางทหาร ตลอดจนการหาทางเพิ่มมาตรการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มมากขึ้นอีก
สัญญาณอีกประการหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าเวลานี้ ยุโรปกับแคนาดา VS สหรัฐฯ มีการจัดลำดับความสำคัญด้านความมั่นคงที่แตกต่างกันเสียแล้ว ยังได้แก่การที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ พีต เฮกเซธ ตัดสินใจที่จะถอยออกมา [10] จากการเข้าร่วมอยู่ในคณะผู้นำของกลุ่มติดต่อเพื่อการป้องกันยูเครน (Ukraine Defense Contact Group) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรเฉพาะกิจของรัฐต่างๆ ทั่วโลกที่กำลังจัดหาจัดส่งความสนับสนุนทางทหารให้แก่ยูเครน ไม่เพียงเท่านั้น เฮกเซธ ยังแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการไม่เข้าร่วมการประชุมของกลุ่มนี้ในเดือนมิถุนายน ก่อนหน้าการประชุมซัมมิตนาโต้อีกด้วย
ทรัมป์นั้นยืนกรานมานานแล้วว่าพวกสมาชิกนาโต้ควรปฏิบัติให้ได้ตามพันธกรณีที่พวกเขาได้ให้ไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2014 [11] ที่ว่าจะเพิ่มค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านกลาโหมของพวกเขาให้สูงขึ้นเท่ากับ 2% ของจีดีพีของพวกเขา โดยที่ รึตเตอร์ ก็ได้ยอมรับ [12] นำเอาเรื่องนี้มาไล่เรียงกับบรรดาชาติพันธมิตรด้วย เมื่อปี 2018 ทรัมป์ยังเสนอแนะว่าอันที่จริงชาติสมาชิกนาโต้ทั้งหลาย ควรเพิ่มกันให้ได้จนถึงระดับเท่ากับ 4% ถึง 5% ของจีดีพีด้วยซ้ำไป ทว่าเรื่องนี้ได้ถูกบอกปัดไปโดยระบุกันว่าไม่สมเหตุสมผล อย่างไรก็ดี ณ การประชุมซัมมิตกรุงเฮก มีการลงมติซึ่งบ่งชี้ถึงความวิตกกังวลทั้งเรื่องที่มองกันว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคาม ขณะที่ความสนับสนุนจากสหรัฐฯก็หาความแน่นอนไม่ได้ยิ่งขึ้นทุกที และพวกรัฐสมาชิกนาโต้ (ยกเว้นสเปน) [13] ก็ได้ตกลงกันที่จะกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มงบประมาณกลาโหมของพวกเขาขึ้นสู่ระดับ 5% ของจีดีพีภายในช่วงระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
วิดีโอบันทึกการแถลงข่าวของประธานาธิบดีโดนัลด์
ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ภายหลังการประชุมซัมมิตองค์การนาโต้ที่กรุงเฮก โดยมี มาร์ก รึตเตอร์ เลขาธิการนาโต้ มาเป็นคนคอยเชียร์
มาตรา 3 ในกฎบัตรของนาโต้ [14] กำหนดให้รัฐสมาชิกทั้งหลายต้องธำรงรักษาและพัฒนาศักยภาพของพวกเขาในการต้านทานการโจมตี อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา มันก็ดูจะมองเห็นกันได้มากยิ่งขึ้นทุกทีว่าพวกพันธมิตรนาโต้จำนวนมากทีเดียวไม่ได้มีการเตรียมพร้อมสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์ทางทหารขนาดใหญ่ๆ ใดๆ ทั้งนั้น
เวลาเดียวกันนั้นเอง มีชาติพันธมิตรจำนวนมากเช่นกันยังกำลังเกิดความรู้สึกกันเพิ่มขึ้นว่ารัสเซียคือภัยคุกคามที่กำลังจ่ออยู่ตรงหน้าประตูของพวกเขา พวกเขาโดยเฉพาะอย่างยื่งพวกรัฐริมทะเลบอลติก, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, และสหราชอาณาจักร กำลังมองเห็น [15] ว่าพวกเขาจำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมและการเตรียมพร้อมทางทหาร
สำหรับสหรัฐฯนั้น ตอนนี้พวกเขากำลังโฟกัสมากขึ้นไปที่จีน กองทัพสหรัฐฯอยู่ระหว่างโยกย้ายกำลังทางนาวีของตนไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก จนกระทั่งกำลังส่วนใหญ่จะอยู่กันในอาณาบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้สหรัฐฯยังจะจัดส่งเรือและเครื่องบินใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสูงที่สุดของตนลัวเองไปยังแปซิฟิก รวมทั้งเพิ่มการปฏิบัติการปรากฏตัวโดยทั่วไป, การอบรมและการฝึกเพื่อการพัฒนา, ตลอดจนการเข้ามีปฏิสัมพันธ์และการร่วมมือประสานงานกับพวกกองทัพเรือของชาติพันธมิตรและชาติอื่นๆ ในแปซิฟิกตะวันตก [16] การที่จะทำเช่นนี้ได้ กองทหารสหรัฐฯจำเป็นจะต้องลดพันธกรณีต่างๆ ในยุโรปลงมา และพวกพันธมิตรยุโรปจะต้องเข้าแทนที่สมรรถนะเหล่านี้เพื่อธำรงรักษาการป้องปรามรัสเซียเอาไว้ต่อไป
รากฐานสำคัญที่สุดของสนธิสัญญานาโต้ ก็คือมาตรา 5 [17] ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญที่สามารถย่นย่อและกลายเป็นที่จดจำกันได้อย่างกว้างขวางว่า “การโจมตีชาติพันธมิตรรายใดรายหนึ่ง หมายถึงการโจมตีใส่ชาติพันธมิตรทั้งหมด” อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมซัมมิตกรุงเฮกครั้งนี้ ทรัมป์กลับแสดงท่าทีไม่แน่ใจเกี่ยวกับพันธกรณีของสหรัฐฯที่มีกับนาโต้ [18] ครั้นเมื่อถูกเรียกร้องระหว่างการประชุมให้เขาพูดเรื่องนี้ให้กระจ่างชัดเจน ทรัมป์กลับย้ำว่า “ผมเห็นด้วยสนับสนุนมัน(มาตรา5) นี่แหละผมจึงมาอยู่ที่นี่ ถ้าผมไม่ได้เห็นด้วยสนับสนุนมันแล้ว ผมจะไม่มาอยู่ที่นี่หรอก”
ลอร์ด อิสเมย์ (Lord Ismay) [19] เลขาธิการคนแรกขององค์การนาโต้ ได้เสนอแนะ [20] ความเห็นที่มีชื่อเสียง (ถึงแม้ยังคงน่าเคลือบแคลงว่าเขาพูดเช่นนี้จริงหรือไม่ก็ตามที) ว่า วัตถุประสงค์ของกลุ่มพันธมิตรนาโต้คือ การกีดกันพวกรัสเซียให้ถอยออกไป, ให้พวกอเมริกันเข้ามา, และคอยกดพวกเยอรมันเอาไว้ เวลานี้เยอรมนีกลายเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งของนาโต้ไปเสียแล้ว กระนั้นฝ่ายอเมริกันยังคงเข้ามาร่วม ถึงแม้อยู่ในสภาพถูกหันเหความสนใจออกไปที่อื่นแล้วก็ตามที
ทว่า ปฏิเสธไม่ได้เลยเรื่องที่นาโต้อยู่ในสภาพซึ่งมีรอยแตกรอยร้าว และ รึตเตอร์
จะต้องทำงานอย่างมือเป็นระวิงทีเดียวในการบริหารจัดการกับความสนใจที่กำลังลดลงไปเรื่อยๆ ของ ทรัมป์ ในการพิทักษ์ปกป้องยุโรป ถ้าหากเขาต้องการที่จะควบคุมพวกรัสเซียเอาไว้ให้อยู่
แอนดรูว์ คอร์เบตต์ เป็นอาจารย์ผู้บรรยายอาวุโสในวิชากลาโหมศึกษา ที่วิทยาลัยคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน
ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/how-nato-summit-shows-europe-and-us-no-longer-have-a-common-enemy-259842
เชิงอรรถ
[1] https://thehill.com/policy/international/5369816-nato-rutte-daddy-comment/
[2] https://www.defense.gov/News/News-Stories/Article/article/4150802/chinas-military-buildup-threatens-indo-pacific-region-security/
[3]https://www.nato.int/cps/en/natohq/official_texts_227678.htm
[4]https://www.nato.int/cps/en/natohq/official_texts_236705.htm
[5] https://www.rusi.org/explore-our-research/publications/commentary/natos-high-stakes-summit-buying-time-fill-gaps
[6] https://www.pm.gc.ca/en/news/news-releases/2025/06/23/canada-announces-new-strengthened-partnership-europea
[7] https://www.state.gov/bureau-of-political-military-affairs/releases/2025/01/u-s-security-cooperation-with-ukraine
[8] https://apnews.com/article/trump-zelenskyy-russia-ukraine-a15a459c9a3a393d040478ebbe250a9e
[9] https://www.cfr.org/article/how-much-us-aid-going-ukraine
[10]https://www.lemonde.fr/en/international/article/2025/06/04/hegseth-will-skip-a-meeting-on-organizing-military-aid-to-ukraine-in-a-first-for-the-us_6741978_4.html
[11]https://www.nato.int/cps/en/natohq/official_texts_112964.htm
[12]https://www.nato.int/cps/en/natohq/opinions_236431.htm?selectedLocale=en
[13] https://www.bbc.co.uk/news/live/cm2ld0e0rzkt
[14] ttps://www.nato.int/cps/en/natohq/topics_132722.htm
[15] https://www.gov.uk/government/news/weimar-joint-statement-on-ukraine-and-euro-atlantic-security#:%7E:text=An%20enhanced%20security%20and%20defence,continent%20more%20safe%20and%20secure%2C
[16] https://www.congress.gov/crs-product/RL33153
[17]https://www.nato.int/cps/en/natohq/topics_110496.htm
[18] https://www.bbc.co.uk/news/live/cm2ld0e0rzkt
[19]https://en.wikipedia.org/wiki/Hastings_Ismay,_1st_Baron_Ismay
[20] https://www.counterfire.org/article/keep-the-russians-out-the-americans-in-and-the-germans-down-a-potted-and-bloody-history-of-nato/
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO