มิตรภาพชั่วคราว เกมสภาสั้น ‘ภท.-ปชน.’ จับมือล้ม ‘พท.’ ได้หรือ
เนื่องด้วยสถานการณ์ความไม่ปกติของการเมืองไทย ภายหลังการเพลี่ยงพล้ำครั้งใหญ่ของผู้เคยนำรัฐบาลอย่าง พรรคเพื่อไทย(พท.) ที่จำต้องสะดุดลงด้วยอำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเสาหลักใหญ่สำคัญของประเทศ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ขณะนี้ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ขณะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ยืนเรียงแถวอยู่แผงข้างหลัง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ได้ทำหน้าที่ในอีกหนึ่งตำแหน่ง คือ รมว.วัฒนธรรม
ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตว่า พรรคประชาชน(ปชน.) และ พรรคภูมิใจไทย(ภท.) อาจยอม ‘ผูกมิตร’ หาทางบีบให้พรรคเพื่อไทยยอมลงจากอำนาจ เพื่อสกัดกั้นข้ออ้างก่อเกิดรัฐประหาร
ประจวบพอดีกับ ลือ "ดีลลับ" ว่ามีลูกพรรคภูมิใจไทย สบช่องโยนข้อเสนอชู นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค นั่ง ‘นายกฯ ชั่วคราว’ กระทั่งพรรคประชาชนออกมาประกาศจุดยืน หากจะเดินทางใดร่วมดัน ก็ต้องมี ‘เงื่อนไข’ มาแลก ถ้าอยาก ‘ตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ’ พร้อมขีดเส้นตายยุบสภาภายในสิ้นปี
ขณะที่ ‘พรรคร่วมฝ่ายค้าน’ ประกอบไปด้วย พรรคประชาชน พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเป็นธรรม ได้ร่วมประสานมือผนึกกำลัง ยืนยันจะเดินหน้า เพื่อหวัง ‘ล้มรัฐบาล’ แสวงหาจุดร่วม เรียกร้องขอคำมั่น ให้ถอน ‘ร่างกาสิโน’ ออกจากระเบียบวาระสภาเป็นอับดับแรก
วันเดียวกัน เกมการเมืองผ่านกลไกรัฐสภาก็ได้เริ่มขึ้น หลัง ‘สส.พรรคพลังประชารัฐ’ ได้เสนอนับองค์ประชุมตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าวาระรับทราบรายงาน คล้ายเป็นการร่วมกันทำหน้าที่ครั้งแรกแบบพร้อมเพรียง เพราะพรรคภูมิใจไทยก็เร่งขนออกจากห้องอย่างรวดเร็วเมื่อเห็นสัญญาณ พ้องกับพรรคประชาชน ที่ยืนรอดูสถานการณ์ จนฝ่ายรัฐบาลเร่งแก้เกี้ยวชิงปิดประชุมก่อน ป้องกันสภาล่มในวันแรกที่เปิดสมัยประชุม
แต่หากจับประเด็นจากการแถลงอย่างเป็นทางการ และท่าทีของ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ปชน. ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกุมจำนวน สส.ไว้มากที่สุดในฟากฝั่งนั้น
“วาระในการประชุมวันนี้ คือการใช้กลไกของฝ่ายค้านและสภา ในการหาทางออกให้กับประเทศเป็นหลัก โดยยึดหลักการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้าน แสวงหาจุดร่วมที่จะสามารถผลักดันร่วมกันได้ รวมถึงให้เกียรติ และเคารพซึ่งกันและกัน ในจุดยืนของแต่ละพรรค ซึ่งแต่ละพรรคอาจจะมีข้อคิดเห็น หรือจุดเด่นที่แตกต่างกันได้” นายณัฐพงษ์ กล่าวย้ำถึงการ ‘ไม่ล้ำเส้น’
กลับคล้ายจะแบ่งรับแบ่งสู้ ยิ่งเมื่อต้องกล่าวถึงเรื่อง ‘ทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ และ ‘กฎหมายนิรโทษกรรม’ ก่อนจะโยนเป็นหน้าที่คณะทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ให้หารือกันต่อในรายละเอียด แสดงให้เห็นว่า อาจเกิดการตกลงกันไม่ได้จริง หรือยังไม่สนิทใจ
เพราะต้องไม่ลืมว่า พรรคภูมิใจไทยเอง เคยทำตัวเป็น ‘ภูมิใจขวาง’ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น ที่เห็นได้จากการออกตัวสนับสนุนประชามติแบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น รวมถึงการเดินเกมผ่าน ‘สว.สีน้ำเงิน’ ในการโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จนเป็นเหตุให้ถูกดองมาเป็นเวลา 180 วัน แล้วอยู่ๆ เปลี่ยนมาพลิกลิ้น กล้าตอบรับได้หรือ
ยังไม่รวมประเด็นการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ที่มีการเสนอให้รวมคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ในฉบับของพรรคประชาชน และของภาคประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาพรรคภูมิใจไทย ยืนยันมาตลอดว่าจะไม่เห็นชอบด้วยเด็ดขาดเพื่อปกป้องสถาบัน
ฉะนั้นการจะหาข้อสิ้นสุดดีลก็คงทำได้ไม่ง่ายนัก ตราบใดที่เงื่อนไขนี้ยังถูกนำมาวางอยู่บนโต๊ะ เพราะไม่ว่าฝ่ายใดยอมอ่อนข้อให้อีกฝ่าย ก็เท่ากับ ‘เป็นการผิดสัญญา’ ที่เคยประกาศไว้ต่อสาธารณชน จนอาจส่งผลต่อฐานคะแนนเสียงตัวเอง
มองย้อนกลับไป พรรคภูมิใจไทยเองก็ไม่ได้มีแนวโน้มจะเบนมาทาง ‘ยุบสภา’ แม้แต่น้อย เพราะยืนยันจะให้ ‘ลาออก’ ก่อนตั้งท่าจ่อขอเปิด ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจ’ หลังถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลทันที
ขณะที่พรรคประชาชนยังดื้ออยากให้ได้มีการเลือกตั้งใหม่ พร้อมกดดัน ‘รักษาการนายกฯ’ ประกาศคืนอำนาจให้กับประชาชนผ่านคูหา
สุดท้าย “การยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา151 ซึ่งเราเห็นตรงกันว่า สถานการณ์ภายใต้นิติสงคราม ที่มีการดำเนินคดีต่างๆ ยังมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น สิ่งที่พวกเราต้องรอประเมินตอนนี้ คือประเมินสถานการณ์ทางการเมือง เรื่องความชัดเจนของคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณากรณีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อยู่ ก่อนจะมีการตัดสินใจว่าจะยื่นญัตติเมื่อไหร่” ที่ นายณัฐพงษ์ กล่าว ก็เหมือนเป็นแค่เรื่องเดียวที่ยังพอตกลงกันได้
เพราะเมื่อ นายณัฐพงษ์ ถูกถามว่า หากมีการเสนอชื่อนายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีการโหวตให้หรือไม่ ก็ทำได้แค่ตอบกลางๆ ว่า “ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะโหวตให้ใคร จะนายชัยเกษม หรือนายอนุทิน แต่เราดูที่จุดยืนร่วมกัน”
พร้อมย้ำว่า “ในส่วนของพรรคประชาชน เรายืนยันในหลักการว่า การโหวตให้ใครก็ตาม เราไม่ยึดติดกับตัวบุคคลหรือพรรค แต่ต้องเป็นการสร้างทางออกให้กับประเทศได้”
แต่เมื่อถูกถามถึงจุดยืนร่วมกันในเรื่องการยุบสภาของทั้งสองพรรค นายณัฐพงษ์ ก็กล่าวเพียง “เฉพาะในส่วนพรรคประชาชน เราเชื่ออย่างนั้นอยู่แล้ว” เหมือนไม่ได้มั่นใจว่าจะตอบแทนได้ ซึ่งแม้ นายอนุทิน จะกล่าวเสริมว่า “ผมพูดชัดเจนแล้ว” แต่ก็ดูจะมีการยืนยันหนักแน่นให้กันและกันขนาดนั้น
ฉายภาพออกมามองมุมกว้าง ‘ผ่าทางตัน หาทางออก’ จึงไม่ต่างจากวาทกรรม ที่ต่างฝ่ายต่างพยายามใช้สร้างความชอบธรรม ‘ในการทำตามแบบที่ตัวเองต้องการ’ โดยอ้างถึงการป้องกันให้ประเทศไม่ถูกบีบไปสู่การใช้อำนาจนอกครรลองประชาธิปไตย ด้วยการปิดช่องไม่ให้มีโอกาสให้คนหนึ่งคนใดฉวยโอกาสดึง ‘นายกฯ คนนอก’ มาทำให้เสียรูปขบวนเท่านั้น
ต้องรอดูต่อไปว่า เกมนี้จะไปสิ้นสุดลงตรงไหน ‘พันธมิตรชั่วคราว’ จะอยู่ยั่งยืนยาว จนได้เก็บเกี่ยวผลจากสนามเลือกตั้งใหม่เพื่อเปลี่ยนตัวเลขการเมืองได้หรือไม่ หรือจะกลายเป็น ‘ส้ม-น้ำเงิน’ หักกันเอง หากไม่สมประโยชน์ ก่อน ‘แดง’ พ่ายกันแน่!.