FETCO หนุนเอกชนส่งเสริมความยั่งยืนชุมชน
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 5 กรกฎาคม 2568 เวลา 1.33 น. • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทกรุงเทพฯ 4 ก.ค. – สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ผนึกกำลังตลาดหลักทรัพย์ฯ BOI และหน่วยงานพันธมิตร จัดเวที “สานพลังเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานรากสู่ความยั่งยืน ปีที่ 2” หวังผลักดันภาคเอกชนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงานว่า การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมชุมชน การลงทุนที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาอย่างครอบคลุม ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขับเคลื่อนภารกิจ “ชวนกันทำความดีเพื่อสังคม” เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาชุมชนทั่วประเทศ โดยใช้แนวคิด ESG และความยั่งยืนเป็นหลัก ผ่านการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อกิจกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) โครงการ SET Social Impact Platform ที่เชื่อมโยงนักลงทุนกับองค์กรที่สร้างผลกระทบเชิงบวก เป็นต้น
ศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ย้ำว่า ในฐานะหน่วยงานกำกับตลาดทุนไทย ได้ผลักดันเครื่องมือ ESG และเปิดพื้นที่ให้ธุรกิจสามารถระดมทุนเพื่อกิจการที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนได้มากขึ้น พร้อมเดินหน้าเชื่อมโยงตลาดทุนกับพันธกิจทางสังคมผ่านการเปิดเผยข้อมูลตามแนวทางความยั่งยืน
ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นำเสนอ “มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม” ซึ่งเปิดโอกาสให้ทั้งกิจการที่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI และกิจการทั่วไป (Non-BOI) สามารถยื่นขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) ได้ หากลงทุนในโครงการเพื่อชุมชนอย่างน้อย 5 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาทต่อรายภายใน 3 ปี และสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตร สิ่งแวดล้อม การศึกษา การท่องเที่ยว หรือสุขภาพ
ค่าใช้จ่ายที่เข้าข่าย เช่น ค่าก่อสร้างโรงงาน ค่าครุภัณฑ์ ค่าจ้างอบรม หรือค่าดำเนินงานที่จำเป็น โดยสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 120% สำหรับกิจกรรมด้านเกษตร สิ่งแวดล้อม และผลิตภัณฑ์ชุมชน และ 50% สำหรับการศึกษาและสาธารณสุข ทั้งนี้ การสนับสนุนสามารถดำเนินการโดยตรง หรือผ่านความร่วมมือกับภาคี เช่น สถาบันการศึกษาและวิจัย
มาตรการนี้ยังครอบคลุมกิจกรรมเชิงนวัตกรรม เช่น โครงการสนับสนุนการลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่ง BOI ได้ระบุไว้ชัดในประกาศปี 2568 เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมในการพัฒนาสังคมควบคู่กับเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวระหว่างการเสวนาว่า ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อภาคเอกชนนำ “เงินทุน เทคโนโลยี และการตลาด” เข้าไปสนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งต่างจากแนวทางการแจกที่ไม่ยั่งยืน
“การแจกไม่ใช่คำตอบ แต่การปลดปล่อยพลังของชุมชนต่างหากที่สำคัญ เอกชนมีความเข้าใจเรื่องระบบตลาด สามารถสนับสนุนให้ชุมชนผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการ และอยู่รอดได้ในระบบเศรษฐกิจจริง” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากภาคธุรกิจมองเห็นบทบาทของตนเองในฐานะ “ผู้สร้างคุณค่าร่วม” กับชุมชน จะทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอย่างยั่งยืน. -512 – สำนักข่าวไทย