เซลส์ฟอร์ซ แนะองค์กรในประเทศไทยเร่งปรับตัว ลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ ทันยุคของ Agentic AI
BTimes
อัพเดต 14 กรกฎาคม 2568 เวลา 21.47 น. • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา • อัพเดตข่าวหุ้น ธุรกิจ การเงิน การลงทุน การตลาด การค้า สุขภาพ กับ บัญชา ชุมชัยเวทย์ - BTimes.Bizอัคคาชา สุลต่าน รองประธานบริษัทของ เซลส์ฟอร์ซ ประจำประเทศไทย อินโดนีเซีย และปากีสถาน เปิดเผยว่า การก้าวขึ้นมามีบทบาทของระบบ AI เอเจนต์อัจฉริยะ (Agentic AI) ซึ่งทำงานได้ด้วยตัวเองแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีการควบคุมจากมนุษย์นั้นไม่เพียงเป็นอีกหนึ่งก้าวของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระดับโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจของประเทศไทยในระดับพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลงนี้เปิดประตูสู่โอกาสใหม่ในการยกระดับประสิทธิภาพและการสร้างนวัตกรรม โดยองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกต่างกำลังใช้ AI Agent เพื่อปลดล็อกศักยภาพของตลาดแรงงานดิจิทัลที่มีมูลค่าสูงถึง 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
จากผลการวิจัยของ Salesforce ในปีที่ผ่านมา ซึ่งศึกษาทัศนคติของผู้บริหารระดับสูงในองค์กรขนาดใหญ่ของไทยเกี่ยวกับ Generative AI พบว่าผู้บริหารไทย 100% ได้แสดงความมั่นใจในการมอบหมายให้ AI ทำงานอย่างน้อยหนึ่งงานได้โดยไม่ต้องคอยควบคุมกำกับ ความท้าทายในขณะนี้จึงไม่ใช่เรื่องของความเชื่อมั่นอีกต่อไป หากแต่เป็นการลงมือปฏิบัติจริง เพราะหากองค์กรไทยไม่เร่งปรับตัวและนำ Agentic AI มาใช้อย่างจริงจัง ก็อาจตกเป็นเป้าถูกแทนที่โดยคู่แข่งหรือสตาร์ทอัพที่ปรับตัวได้เร็วกว่า
ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องตอบสนองแบบเชิงรุกต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างมีกลยุทธ์ ท่ามกลางยุคของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับ AI ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจขององค์กรไทยควรให้ความสำคัญกับ การส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskilling) ในวงกว้าง และการสร้างระบบนิเวศ AI ที่มีความน่าเชื่อถือ (Trustworthy AI)
การส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่ สำหรับยุค Agentic AI
แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ ของรัฐบาลไทยที่ตั้งเป้าให้ความรู้ด้านจริยธรรม AI แก่ประชาชน 600,000 คน และพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จำนวน 30,000 คน ภายในปี 2027 ถือเป็นทิศทางที่น่ายินดีและมีความสำคัญ อย่างไรก็ดี ความต้องการทักษะในการทำงานร่วมกับ AI Agent มีอยู่ในทุกบทบาทและทุกภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีพนักงานเพียง 15% เท่านั้นที่เชื่อว่าตนมีการศึกษาและทักษะที่เพียงพอในการใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่นั้นกลายเป็นวาระเร่งด่วนของผู้นำทุกองค์กรในประเทศไทย
รายงานผลสำรวจด้าน State of IT ฉบับล่าสุดของ Salesforce ซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้นำนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก พบว่า 87% ของนักพัฒนาชาวไทยมองว่า ความรู้ด้าน AI จะกลายเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในอนาคต อย่างไรก็ตาม เกือบครึ่งหนึ่งหรือ 48% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยทั้งหมดกลับระบุว่าทักษะที่ตนเองมีอยู่ในปัจจุบันนั้นยังไม่เพียงพอต่อการทำงานในยุคของ Agentic AI
นอกจากการยกระดับทักษะเชิงเทคนิคแล้ว การพัฒนาทักษะเชิงมนุษย์สัมพันธ์และทักษะทางธุรกิจ เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่พร้อมเปิดรับการทดลองใช้ AI อย่างมีความเชื่อมั่นก็มีความสำคัญมาก พนักงานควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานร่วมกับ AI ซึ่งรวมถึงพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับ Agentic AI และการเขียนคำสั่งพรอมต์ (Prompt Engineering) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการสื่อสารกับ AI อย่างมีประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่างเช่น หากเราพิจารณาถึงบทบาทของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่า AI Agent นั้นสามารถช่วยเขียนโค้ดที่ต้องทำซ้ำ ๆ เป็นประจำได้ นักพัฒนาจึงสามารถใช้เวลากับงานออกแบบระบบ และการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในภาพรวมได้มากขึ้น
ปัจจุบัน Salesforce ได้เปิดหลักสูตรใหม่บนแพลตฟอร์ม Trailhead เพื่อสนับสนุนองค์กรในการฝึกอบรมนักพัฒนาให้เรียนรู้ทักษะใหม่ ซึ่งได้รับผลตอบรับในช่วงแรกที่เปิดให้ใช้งานเป็นอย่างดี
การพิจารณาถึงทักษะที่จำเป็นถือเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น หากต้องการประสบความสำเร็จในยุค Agentic AI ผู้นำองค์กรไทยจำเป็นต้องกำหนดกลยุทธ์ระยะยาวที่ผสานการพัฒนาทักษะเหล่านี้ไว้ในแผนบริหารทรัพยากรบุคคล และมอบหมายให้ผู้จัดการแต่ละฝ่ายมีบทบาทในการสนับสนุนและให้คำปรึกษาแก่พนักงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บุคลากรสามารถปรับตัวและเติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
การนำ AI ที่มีความน่าเชื่อถือมาใช้ในทุกภาคส่วนขององค์กร
เมื่อความสามารถของ AI Agent พัฒนาขึ้น ความรับผิดชอบในการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน องค์กรต้องมั่นใจว่าระบบ AI มีความยุติธรรม และไม่ก่อให้เกิดอคติหรือการแบ่งแยกทางสังคม เพราะหากไม่มีการบริหารจัดการที่เหมาะสม คุณสมบัติที่ทำให้ AI มีความสามารถอันทรงพลังนั้นก็อาจกลายเป็นสิ่งที่ทำลายความเชื่อมั่นได้เช่นกัน
หากต้องการใช้ Agentic AI อย่างเต็มศักยภาพ องค์กรไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัย ตั้งแต่การเริ่มต้นพัฒนาไปจนถึงการนำไปใช้งานในระบบจริง ซึ่งหมายถึงการวางมาตรการด้านความปลอดภัยที่เข้มงวด ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามแนวทางด้านจริยธรรม AI เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่มีความสำคัญและใช้งานข้อมูลเหล่านั้นอย่างมีความรับผิดชอบ
องค์กรไทยจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจว่าการใช้งาน AI และ Agent เป็นไปตามกฎระเบียบของประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา นอกจากการทำตามแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) แล้ว สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ยังได้นำร่างพระราชบัญญัติปัญญาประดิษฐ์เข้ารับการพิจารณาและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน โดยร่างกฎหมายดังกล่าวมีการเสนอกรอบกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Framework) พร้อมข้อยกเว้นบางประการในการใช้ข้อมูลออนไลน์ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก การเลือกใช้แพลตฟอร์มและเครื่องมือที่รองรับกับกฎระเบียบต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างความเชื่อมั่นและรักษาความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร
Salesforce มุ่งมั่นในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยสำนักงานการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรมและคำนึงถึงมนุษยธรรม (Office of Ethical & Humane Use) นั้นเป็นผู้นำในการดำเนินงานและการใช้กลยุทธ์ที่ครอบคลุมรอบด้าน ซึ่งประกอบด้วยทีมที่พร้อมรับมือกับสถานการณ์ในระดับรุนแรง (Red Teaming) และการทดสอบการเผชิญหน้าในหลายรูปแบบ รวมถึงการทดสอบความน่าเชื่อถือ (Trust Testing) ซึ่งเป็นกระบวนการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพิ่มเติมเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ Agentic AI ของ Salesforce สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานทั่วโลกที่มีความหลากหลายได้ดียิ่งขึ้น
องค์กรยังสามารถกำหนดขอบเขตการทำงานของ AI Agent โดยใช้หัวข้อและคำสั่งในรูปแบบภาษาธรรมชาติ เพื่อระบุสถานการณ์ที่ควรให้ AI ยกระดับในการตอบสนอง หรือส่งต่องานให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นมนุษย์เข้ามาจัดการได้ นอกจากนี้องค์กรยังควรมีการจัดการเชิงรุกเพื่อขจัดความกังวลในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและอคติที่อาจเกิดขึ้นในการทำงานของ AI ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูลที่เข้มงวด และการสื่อสารที่มีความโปร่งใส
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญไม่แพ้กันคือ การใช้เครื่องมือที่ส่งเสริมการทำงานอย่างมีความโปร่งใสและสนับสนุนให้ผู้ใช้งานสามารถตัดสินใจในการมอบหมายงานให้ AI ทำได้อย่างรอบคอบ พนักงานควรมีความเข้าใจที่ชัดเจน ถึงขีดความสามารถและข้อจำกัดของ AI Agent ที่ตนเองกำลังทำงานร่วมด้วย และสามารถควบคุมการทำงานอัตโนมัติต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
หนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญของ Agentforce คือความสามารถในการดำเนินการแบบอัตโนมัติภายใต้ขอบเขตที่มนุษย์กำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งช่วยให้ AI Agent สามารถตัดสินใจและดำเนินการได้ด้วยตนเองภายในขอบเขตที่สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายขององค์กร นอกจากนี้ Einstein Trust Layer ยังช่วยให้ Agentforce สามารถใช้งานโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ได้อย่างปลอดภัย โดยองค์กรมั่นใจได้ว่าข้อมูลในระบบของ Salesforce จะไม่ถูกเปิดเผยหรือจัดเก็บโดยผู้ให้บริการโมเดลภายนอก
พลังแห่งการเรียนรู้ทักษะใหม่ และการสร้างความเชื่อมั่น ที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมให้องค์กรในไทย
การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ ๆ ให้องค์กรในประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องการเตรียมความพร้อมให้พนักงานสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ข้อมูลที่มีคุณภาพ และทักษะที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม หากมีการลงทุนอย่างจริงจังในด้านการเรียนรู้ทักษะใหม่และโปรแกรมการฝึกอบรมที่ครอบคลุม องค์กรจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถให้พนักงานทำงานร่วมกับ AI Agent ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลง และในที่สุดสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมในยุคของแรงงานดิจิทัลได้
องค์กรไทยสามารถใช้การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาในมิติใหม่ โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ให้ความสำคัญกับความเชื่อมั่น ความปลอดภัย และความโปร่งใส จะมีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโต
ท้ายที่สุดแล้ว การลงทุนทั้งใน AI Agent และพนักงานที่เป็นมนุษย์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจ จะช่วยให้องค์กรในไทยสามารถขยายขีดความสามารถในการดำเนินงาน และปลดล็อกศักยภาพขององค์กรได้อย่างเต็มที่ในยุคของ Agentic AI