อ.เจษฎาชี้แจงแล้ว หลังมีข่าวเด็กเป็นมะเร็งเพราะกินไส้กรอก ขนม ทุกวัน
ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 กรณีที่มีการแชร์เรื่องราวสุดสะเทือนใจในโลกออนไลน์ อ้างว่าเด็กหญิงวัย 6 ขวบป่วยเป็นโรคมะเร็งจากการรับประทานไส้กรอก ขนม น้ำอัดลม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นประจำทุกวัน จนสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ปกครองจำนวนมาก ล่าสุด อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าว ไม่เป็นความจริง และขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณก่อนแชร์ข้อมูล
โดยทาง อาจารย์เจษฎาฯ ชี้แจงว่า ข้อความที่ถูกแชร์นั้นเป็นข่าวปลอมเก่าที่กลับมาวนซ้ำ โดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ แม้จะระบุว่า หมอยังตกใจ เด็ก 6 ขวบเป็นมะเร็ง เพราะพ่อแม่ให้กินไส้กรอก ขนม น้ำอัดลม บะหมี่ ทุกวัน อาหารเหล่านี้มีสารกันบูด ร่างกายเด็กรับไม่ไหว" แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคมะเร็งในเด็กนั้นพบได้ยาก โดยมีอัตราเพียง 40 คนต่อล้านคนต่อปี และมักเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารตามที่กล่าวอ้าง
ทางรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ ได้เคยสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านโรคมะเร็งและโภชนาการ ซึ่งให้ความเห็นตรงกันว่าข้อมูลดังกล่าว ไม่จริงและไม่ควรแชร์ต่อ ซึ่งทางด้านส ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ และ รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไว้ ดังนี้
มะเร็งในเด็ก: แม้จะเกิดขึ้นได้แต่ไม่บ่อยนัก สาเหตุหลักของมะเร็งในเด็กส่วนใหญ่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน ไม่ได้เกิดจากการรับประทานอาหาร สารพิษ หรือพันธุกรรมโดยตรง การเกิดมะเร็งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่เกิดจากการรับประทานอาหารเพียงชั่วข้ามคืน
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แฮม ไส้กรอก: ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าอาหารเหล่านี้ก่อให้เกิดมะเร็งในเด็กโดยตรง สามารถรับประทานได้เป็นครั้งคราว แต่ไม่ควรรับประทานทุกวัน ควรเสริมด้วยเนื้อสัตว์และผักเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน การต้มหรือนึ่งแฮมและไส้กรอกจะดีกว่า
คุกกี้ ไอศกรีม มันฝรั่งทอดแผ่น เยลลี่ วุ้นสำเร็จรูป: อาหารเหล่านี้สามารถรับประทานได้บ้าง แต่ควรกินเป็นครั้งคราว เนื่องจากเป็นอาหารว่างที่ไม่ได้ให้สารอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ควรระวังเรื่องปริมาณเกลือและน้ำตาล รวมถึงความเสี่ยงที่เด็กเล็กอาจสำลักได้
ผลไม้อบแห้ง: สามารถรับประทานได้ แต่แนะนำให้รับประทานผลไม้สดจะดีกว่า เนื่องจากได้รับใยอาหารและวิตามินครบถ้วนมากกว่า , หมากฝรั่ง: ปัญหาหลักคือความเสี่ยงที่เด็กจะติดคอ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมะเร็ง , ชานม: เด็กเล็กไม่ควรรับประทาน เนื่องจากมีน้ำตาลสูงและมีคาเฟอีน ควรเน้นการดื่มนมซึ่งมีประโยชน์มากกว่า
โดยผู้เชี่ยวชาญย้ำว่า การกินอาหารไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งในเด็กอายุ 6-7 ขวบในระยะเวลาอันสั้นขนาดนั้น ข่าวสารที่สร้างความตื่นตระหนกนี้จึงไม่ควรถูกเผยแพร่ต่อ อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของเด็กโดยรวม โดยเฉพาะการป้องกันโรคอ้วน การส่งเสริมให้เด็กรับประทานผักผลไม้ ออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงการติดเกม เพื่อสร้างพื้นฐานสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูก
ภาพจาก เฟซบุ๊ก : Jessada Denduangboripant
เรียบเรียงเนื้อหาโดย สยามนิวส์